ธปท.จับตาบาทอ่อนใกล้ชิด ชี้เครื่องมือมีจำกัด หากดูแลต้องใช้ยาแรง

ปิติ ดิษยทัต
ปิติ ดิษยทัต

ธปท.เผยค่าเงินบาทอ่อนเพราะดอลลาร์แข็งค่า ทั่วโลกก็โดนผลกระทบ ชี้ตั้งแต่ต้นปีไทยอ่อนค่าลงมาเพียง 12% น้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย พร้อมจับตาใกล้ชิด รับเครื่องมือมีจำกัด หากดูแลต้องใช้ยาแรง

วันที่ 28 กันยายน 2565 นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คาดว่าการอ่อนค่าของค่าเงินในช่วงที่ผ่านมานี้ ยังไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในภาพรวม เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินบาท เป็นการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วและแรงมาก ซึ่งตั้งแต่ต้นปีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นถึง 18%

“การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้เกือบทุกประเทศในโลกนี้มีค่าเงินที่อ่อนลง เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ฉะนั้น การที่เงินบาทอ่อนลงไม่ใช่ปัจจัยเฉพาะเศรษฐกิจไทย และหากมองการอ่อนค่าของเงินบาทแค่ในภูมิภาคเอเชีย เรายังอยู่ระดับกลาง ๆ อ่อนลงมา 12% ตั้งแต่ต้นปี อ่อนค่าลงน้อยกว่า ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และเกาหลี”

สำหรับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการประเมินว่าเรื่องค่าเงินเป็นสิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะในช่วงที่มีความผันผวนสูง เช่น ขณะนี้ และในช่วงที่ผ่านมา แต่คณะกรรมการก็ตระหนักว่าความสามารถของนโยบายการเงิน และเครื่องมือที่มีอยู่ ในการที่จะดูแลการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐมีจำกัด ซึ่งเป็นเรื่องของเศรษฐกิจโลก หากถามว่าดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ประเทศไทยจะทำอะไรเกี่ยวกับดอลลาร์แข็งขึ้นได้ ก็คงทำได้ไม่เยอะ และหากต้องทำก็ต้องใช้อะไรที่แรง

“การปรับของค่าเงิน เรื่องของอัตราดอกเบี้ยเป็นแค่ปัจจัยหนึ่งของหลาย ๆ ปัจจัยที่กระทบต่อค่าเงิน โดยตั้งแต่ต้นปี ประเทศไทยเงินบาทอ่อนค่าลง 12% และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบที่ผ่านมา จะเห็นว่า แม้ประเทศไทยจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% ค่าเงินเราก็อ่อนไป 12% แต่มีหลาย ๆ ประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ เกาหลี ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าเราเยอะ ตั้งแต่ 1-2% ค่าเงินเขาเทียบกับดอลลาร์ก็ยังอ่อนไปมากกว่าเรา ซึ่งเป็นตัวอย่างว่าดอกเบี้ยก็เป็นข้อจำกัดว่าจะสามารถดูแลเรื่องค่าเงินเปรียบเทียบกับดอลลาร์ได้มากน้อยขนาดไหน เพราะการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินเป็นเรื่องของดอลลาร์ที่แข็ง”

ทั้งนี้ การที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มีข้อกังวลเรื่องเงินทุนไหลออกจากประเทศ อย่างไรก็ดี ในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี จนถึงปัจจุบันเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิเข้าประเทศไทยยังเป็นบวกอยู่ โดยเข้าในระบบการลงทุนหุ้นจำนวนมาก ฉะนั้น ไทยไม่มีปัญหาเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกไปจากประเทศ เนื่องจากนักลงทุนยังเห็นศักยภาพของประเทศไทย เพราะเสถียรภาพไทยยังแข็งแกร่ง

โดยเงินทุนสำรองต่างประเทศที่มีอยู่ หากเทียบกับสัดส่วนจีดีพีแล้ว ไทยอยู่อันดับที่ 6 ของโลก และหนี้สินของไทยในต่างประเทศก็ค่อนข้างน้อย หากเทียบกับปริมาณทุนสำรอง โดยมีทุนสำรองปริมาณ 3 เท่าของหนี้สินระยะสั้น

ส่วนในภาคธุรกิจนั้น การที่ค่าเงินบาทอ่อนลงก็ช่วยผู้ส่งออกระดับหนึ่ง แต่ที่เป็นห่วงคือต้นทุนขานำเข้า ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการนำเข้าต้องจ่ายเงินสูงขึ้นในรูปของสกุลเงินบาท อย่างไรก็ดี ในอดีตการส่งผ่านของผู้ประกอบการไปสู่เงินเฟ้อค่อนข้างน้อย โดยผู้ประกอบการสามารถแบกรับต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นได้ เพราะค่าเงินมีการปรับตัวขึ้นและลง รวมทั้งมีระยะเวลา และมีเครื่องมือในการบริหาร จนถึงวันนี้ก็ยังไม่เห็นสัญญาณชัดเจนว่าการส่งผ่านมากขึ้นจนน่าเป็นห่วง