เงินบาทอ่อนค่า จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า เงินเฟ้อ ก.ย.-ถ้อยแถลงเฟด

เงินบาท-ตลาดหุ้น-02

เงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 16 ปี ตามกระแสการอ่อนค่าของสกุลเงินเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ เผชิญแรงขายเพื่อปรับโพซิชั่นและทำกำไรในช่วงก่อนสิ้นไตรมาส ท่ามกลางความกังวลการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่าง ๆ รวมถึงไทย จะกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า เงินเฟ้อของไทยเดือนกันยายน ถ้อยแถลงเฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทอ่อนค่าไปที่ระดับ 38.45 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นสถิติอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 16 ปีหลังการประชุม กนง. แต่ฟื้นตัวกลับมาบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทเผชิญแรงขายตามแรงกดดันของค่าเงินหยวน (อ่อนค่าสุดในรอบ 14 ปี) และสกุลเงินในภูมิภาคท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก สวนทางเงินดอลลาร์ ที่แข็งค่าขึ้นตามบอนด์ยีลด์สหรัฐ รับสัญญาณแนวโน้มการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

อย่างไรก็ดี กรอบการอ่อนค่าของเงินบาทชะลอลงบางส่วนหลังการเข้าซื้อพันธบัตรของธนาคารกลางอังกฤษ และการเข้าดูแลค่าเงินหยวนของธนาคารกลางจีน ที่กระตุ้นให้เกิดแรงขายเงินดอลลาร์ เพื่อปรับโพซิชั่นและทำกำไรก่อนช่วงปิดสิ้นไตรมาส

ทั้งนี้ คงต้องติดตามสถานการณ์การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอยู่ในฝั่งขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ สำหรับท่าทีต่อค่าเงินบาทนั้น สัญญาณจาก ธปท. สะท้อนว่า จะดูแลในช่วงที่การเคลื่อนไหวของเงินบาทผันผวนผิดปกติ แต่ก็จะต้องไม่ฝืนทิศทางตลาด

เงินบาท-2 ตุลา

ในวันศุกร์ที่ 30 ก.ย. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 37.80 บาทต่อดอลลาร์ หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 16 ปีที่ 38.45 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงหลังการประชุม กนง. เทียบกับระดับ 37.47 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (23 ก.ย.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 26-30 ก.ย. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 7,148 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflow ออกจากตลาดพันธบัตรประมาณ 22,629 ล้านบาท (แบ่งเป็น ขายสุทธิพันธบัตร 22,379 ล้านบาท และตราสารหนี้ที่หมดอายุ 250 ล้านบาท)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-7 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 37.50-38.20 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ก.ย. ของไทย กระแสเงินทุนต่างชาติและสถานการณ์ค่าเงินในภูมิภาค

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือน ก.ย. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน ส.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลียและธนาคารกลางนิวซีแลนด์ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน ส.ค. ของยูโรโซน รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือน ก.ย. ของญี่ปุ่น อังกฤษและยูโรโซน

กราฟตลาดหุ้นไทย

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นไทยร่วงลงแรงจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ SET Index ปรับตัวลงตั้งแต่ต้นสัปดาห์ตามแรงเทขายหลักจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค ท่ามกลางความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจโลก จากการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะเฟด ขณะที่ กนง.ก็มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมช่วงกลางสัปดาห์ พร้อมปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีหน้าด้วยเช่นกัน ซึ่งประเด็นดังกล่าวกระตุ้นแรงขายหุ้นบิ๊กแคปในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ไฟแนนซ์ และแบงก์

ในวันศุกร์ (30 ก.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,589.51 จุด ลดลง 2.59% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 71,505.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.49% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 3.81% มาปิดที่ 653.29 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-7 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,575 และ 1,550 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,610 และ 1,625 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ย. ของไทย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูง รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ


ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ISM/PMI ภาคการผลิต ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือน ก.ย. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือน ก.ย. ของยูโรโซน อังกฤษและญี่ปุ่น รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน ส.ค. ของยูโรโซน