ออมสิน โฮลดิ้ง ผุดสารพัดบริษัทลูก ชิงธงกำหนดดอกเบี้ย

วิทัย รัตนากร

หลังจากประกาศตัวเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” แล้ว ที่ผ่านมาธนาคารออมสินก็เดินหน้าหลาย ๆ โครงการ เพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ล่าสุด “วิทัย รัตนากร” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถึงโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ เพิ่มเติมที่กำลังจะออกมา

ซึ่งเป็นการรุกเข้าสู่ตลาดของผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเป็นเครื่องมือ ทั้งในการดึงคนเข้าสู่ระบบ รวมไปถึงการควบคุมตลาด โดยกดดอกเบี้ยในตลาดให้ต่ำลง

เปิดตัวบริษัทขายฝากที่ดินปลายปีนี้

โดย “วิทัย” กล่าวว่า หลังจากที่ธนาคารเข้าไปถือหุ้นบริษัท เงินสดทันใจ ทำสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ล่าสุด เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารได้จัดตั้งบริษัท มีที่ มีเงิน โดยธนาคารถือหุ้น 49% กลุ่มทิพยประกัน 31% และ บมจ.บางจากฯอีก 20% มีทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท ซึ่งในเดือน พ.ย. 2565 จะเริ่มทดสอบระบบกับลูกค้าประมาณ 10-20 รายก่อน

เนื่องจากกระบวนการทำงานจะต่างกับการปล่อยสินเชื่อมีที่ มีเงิน ที่ธนาคารทำมาก่อนหน้านี้ โดยจะต้องอนุมัติและโอนเงินเข้าบัญชีลูกค้าได้ภายใน 3-5 วัน ดังนั้น กระบวนการอนุมัติ ระบบหลังบ้าน จะต้องรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมาก ซึ่งความรวดเร็วดังกล่าวจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ออมสินแข่งขันได้

“ตอนนี้เราตั้งสำนักงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีพนักงานแล้วประมาณ 20 คน ถือว่าเพียงพอที่จะเดินหน้าธุรกิจ อย่างไรก็ดี การอนุมัติสินเชื่อนี้ โดยระบบหลังบ้านจะเริ่มทยอยเสร็จในเดือน ต.ค.-พ.ย. และเสร็จสมบูรณ์ในเดือน ธ.ค. แต่เราจะเริ่มทดสอบระบบตั้งแต่เดือน พ.ย.นี้ กับลูกค้า 10-20 รายก่อน”

ส่วนการเปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการนั้น คาดว่าจะเริ่มได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2565 เป็นต้นไป โดยระยะแรกจะเริ่มเปิดให้บริการจาก 5 จังหวัด คือ กรุงเทพฯและปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี และสมุทรสาคร หลังจากนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 จะขยายไปยังหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ

“เราจะช่วยเอสเอ็มอีได้เยอะขึ้น แน่นอน เนื่องจากจะลดดอกเบี้ยลงมาให้เหลือประมาณ 6.99-8.99% ต่อปี จากดอกเบี้ยในตลาดที่ปัจจุบันอยู่ที่ 12-18% หรือถ้าขายฝากจะอยู่ที่ 15-30%”

“วิทัย” บอกว่า สำหรับบุคคลธรรมดา จะปล่อยกู้ให้ในวงเงิน 300,000 บาทจนถึง 10 ล้านบาท ขณะที่นิติบุคคลวงเงินตั้งแต่ 300,000 แสนบาทจนถึง 50 ล้านบาท โดยปลอดชำระเงินต้น 1 ปี ระยะเวลาผ่อนชำระคืนนาน 5 ปี ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อจะพิจารณาตามคุณภาพที่ดินและวงเงินที่ขอ โดยจะใช้ราคาประเมินที่ดิน 80% ของราคาประเมินราชการ ไม่ตรวจเครดิตบูโร ไม่ต้องสอบรายได้ ไม่ต้องมีบุคคลค้ำประกัน และสามารถรีไฟแนนซ์ได้

“จะทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น รวมถึงขายฝาก หากคนที่ติดขายฝากที่อื่นอยู่ ก็สามารถรีไฟแนนซ์มาได้ เพราะเราต้องการช่วยคนที่ถูกเอาเปรียบ โดยเราคาดว่าจะปล่อยสินเชื่อได้ปีละ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินงานเชิงสังคมไม่ได้มุ่งเน้นกำไรสูงสุด เชื่อว่าจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้จริง ๆ และลดความเหลื่อมล้ำได้”

ลุยปล่อยกู้ดิจิทัลผ่านแอป MyMo

“วิทัย” กล่าวอีกว่า ออมสินยังเตรียมเปิดบริการใหม่ที่จะเข้าไปดูแลคนฐานรากที่ยังขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยใช้ digital lending แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ บริการสินเชื่อ MyMo MyCredit ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าแอปพลิเคชั่น MyMo ที่มีอยู่ราว 13 ล้านคน

ซึ่งจะเริ่มภายในเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ ระยะแรกจะปล่อยกู้ในวงเงินกู้ 1-3 หมื่นบาทต่อราย คิดดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือน ผ่อนชำระไม่เกิน 2 ปี เริ่มทดสอบปล่อยกู้ลูกค้า 1 แสนรายก่อน

“สินเชื่อ MyMo MyCredit มีจุดเด่น คือ ลูกค้าธนาคารออมสินสามารถยื่นสมัครขอสินเชื่อผ่านแอป MyMo ได้โดยไม่ต้องใช้เอกสารใด ๆ และไม่ต้องใช้หลักประกัน เพียงกรอกเลขที่และข้อมูลบัตรประชาชน โดยเราจะใช้พฤติกรรมของการเดินบัญชีผ่านออมสินมาพิจารณาในการอนุมัติสินเชื่อ และไม่คิดค่าธรรมเนียมการให้บริการสินเชื่อ”

ตั้งบริษัทลูกปล่อยกู้พีโลน-ดอกเบี้ยถูก

ส่วนสเต็ปต่อไปในปี 2566 “วิทัย” กล่าวว่า ธนาคารออมสินจะเข้าไปประกอบธุรกิจน็อนแบงก์อย่างเต็มตัว เนื่องจากข้อจำกัดของออมสิน คือ ความเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้เคลื่อนที่ได้ช้า และไม่สามารถจ้างพนักงานเก่ง ๆ อายุน้อย ซึ่งใช้เงินเดือนสูงมากได้ และที่สำคัญ หากธนาคารคิดดอกเบี้ยเกิน 15% ก็จะถูกสังคมตำหนิว่าหาแต่กำไร

ดังนั้น ธนาคารจึงจะตั้งบริษัทลูกที่ปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) ขึ้นมา เช่นเดียวกับแบงก์ใหญ่อื่น ๆ เนื่องจากเป็นตลาดที่ทำกำไรได้สูง สามารถคิดอัตราดอกเบี้ยได้สูงสุดไม่เกิน 25% อย่างไรก็ดี ธนาคารออมสินจะเข้าสู่ตลาดนี้ โดยคิดดอกเบี้ยลดลงมา 5% หรือคิดดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 20%

“ตลาดนี้ทุกคนวิ่งเข้ามาเพื่อหากำไรสูง ซึ่งออมสินก็จะทำ แต่วัตถุประสงค์ที่เข้ามา คือ จะเข้ามาแข่งขัน ฉะนั้น ออมสินจะมีบริษัทลูกเพิ่มอีก 1 แห่ง โดยเป็นน็อนแบงก์ที่ทำสินเชื่อพีโลน เข้าไปแข่งขันเพื่อลดดอกเบี้ยในตลาด เราจะดึงคนที่กู้ไม่ได้ หรือต้องกู้นอกระบบให้มาอยู่ในระบบ”

ทั้งนี้ การตั้งบริษัทใหม่ จะต้องขอใบอนุญาตจัดตั้งน็อนแบงก์ การประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงการเปิดบริการแอปพลิเคชั่นจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย โดยคาดว่าจะยื่นขอใบอนุญาตในช่วงต้นปี 2566

เดินหน้าสู่ “โฮลดิ้งคอมปะนี”

สรุปแล้วในอนาคต ธุรกิจปกติ ก็จะอยู่ภายใต้ธนาคารออมสิน ขณะที่บริษัทลูกอย่างเงินสดทันใจ จะดูแลสินเชื่อจำนำทะเบียน ส่วนมีที่ มีเงิน ก็จะดูแลเรื่องสินเชื่อที่ดิน และสินเชื่อส่วนบุคคล และ digital lending แบบ 100% ก็จะอยู่กับบริษัทที่จะตั้งขึ้นใหม่

“บริษัทจะไม่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ และจะใช้เด็กรุ่นใหม่ จ้างเงินเดือนสูงและมีประสิทธิภาพสูง ออกแอปได้เร็ว ปรับตัวได้เร็ว ส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้น ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งสามารถทำได้หลายแบบ เช่น ให้บริษัท มีที่ มีเงิน ถือหุ้น 100% หรือให้บริษัท มีที่ มีเงิน

และออมสิน ถือหุ้นฝ่ายละ 50% ก็ได้ หรือให้ออมสิน ถือหุ้น 49% และหาพันธมิตรใหม่มาถืออีก 50% ก็ได้ ทั้งหมดนี้คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในการประกอบธุรกิจได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566” ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าว

ทั้งหมดนี้ คงจะเรียกได้ว่า ธนาคารออมสินกำลังเดินหน้าเป็น “โฮลดิ้งคอมปะนี” เช่นเดียวกับบรรดาแบงก์เอกชนขนาดใหญ่หลายแห่งนั่นเอง