“สันติ” สั่งการยาสูบฯ ศึกษาผลกระทบเลิกผลิตบุหรี่แต่งกลิ่น หวั่นรัฐสูญรายได้

บุหรี่

รมช.คลัง สั่งการยาสูบฯ ศึกษาผลกระทบการเลิกผลิตบุหรี่แต่งกลิ่น หวั่นรัฐสูญรายได้ ชี้ภาษีบุหรี่เป็น 1 ใน 5 รายได้หลักของภาษีสรรพสามิต ชี้ 11 เดือนแรกของปีงบฯ ’65 รีดภาษีบุหรี่พุ่ง 5.4 หมื่นล้านบาท

วันที่ 13 ตุลาคม 2565 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอให้ลดและเลิกใช้สารปรุงแต่งรสชาติและกลิ่นบุหรี่ กระทรวงการคลังจึงได้มอบหมายให้การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ไปศึกษารายละเอียดในเรื่องดังกล่าว ว่าจะมีผลกระทบต่อ ยสท. และการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่มากน้อยเพียงใด และให้นำเสนอความเห็นมายังกระทรวงการคลังโดยเร็ว เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติในขั้นตอนต่อไป

“ขณะนี้ไม่สามารถให้ความเห็นได้ ว่าการลดและเลิกแต่งกลิ่นบุหรี่จะมีผลกระทบอย่างไร ต้องรอให้ ยสท.เสนอรายละเอียดมาให้พิจารณาก่อน จึงจะให้ความเห็นได้”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีการห้ามบุหรี่มีสารปรุงแต่งกลิ่นนั้น โดยเฉพาะกลิ่นเมนทอล เนื่องจากเป็นบุหรี่ที่ผู้สูบคนไทยนิยม ทำให้กระทรวงการคลังมีความกังวลว่าจะกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ เนื่องจากรายได้จากภาษีบุหรี่เป็น 1 ใน 5 ของรายได้หลักกรมสรรพสามิต โดยปี 2564 รายได้จากภาษีบุหรี่อยู่ที่ 64,200 ล้านบาท ส่วนปี 2565 ผลการจัดเก็บรายได้ 11 เดือน (ต.ค. 64-ก.ย. 65) อยู่ที่ 54,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลมีนโยบายที่จะให้เลิกผลิตและนำเข้าบุหรีที่แต่งกลิ่นหรือมีสารปรุงแต่งรสชาติ รัฐบาลก็ต้องเร่งปฏิรูปและปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ รวมถึงกำหนดอัตราพิกัดภาษีรายการใหม่ ๆ เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องเข้มงวดกวดขันการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อน บุหรี่ไฟฟ้าให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีการลักลอบนำเข้าบุหรี่มาจำหน่ายในประเทศจำนวนมาก

ขณะที่บุหรี่ไฟฟ้า ประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้นำเข้า แต่ก็มีการนำมาสูบกันอย่างแพร่หลาย ส่วนประเด็นเรื่องสุขภาพ ก็ต้องศึกษาด้วยความรอบคอบ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน ก่อนเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติต่อไป