คปภ.ลุ้นศาลตัดสิน “สินมั่นคง” วาง 2 ทาง “เพิกถอน/คุ้มครองผู้เอาประกัน”

สินมั่นคง

สำนักงาน คปภ. วาง 2 แนวทางรับมือ กรณีศาลล้มละลายกลางนัดฟังคำสั่ง “สินมั่นคงประกันภัย” ขอฟื้นฟูกิจการ 20 ต.ค.นี้ ลั่นหากศาลยกคำร้องจะสั่ง “หยุดรับประกันภัยชั่วคราว” ทันที พร้อมเดินหน้า “เพิกถอนใบอนุญาต” ส่วนกรณีศาลสั่งฟื้นฟูกิจการจะออกแนวปฏิบัติคุ้มครองผู้เอาประกัน

นอกจากนี้ ล่าสุดบริษัทถูกปรับกว่า 5 ล้านบาท พร้อมปรับรายวันอีก 2 หมื่นบาท ประวิงเวลาจ่ายเคลม เบี้ยรับหายกว่า 2 พันล้าน แม้จะยังรับประกันภัยอยู่

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่ยังอยู่ระหว่างยื่นขอเข้าฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางนั้น

ศาลได้นัดฟังคำสั่งศาลในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ ในเวลา 10.00 น. ซึ่งทางสำนักงาน คปภ.อยู่ระหว่างรอฟังคำสั่งศาลว่าจะออกมาในแนวทางใด พร้อมกับเตรียมการรับมือไว้ 2 แนวทาง

คือ กรณีที่ 1 หากศาลล้มละลายกลางยกคำร้องขอยื่นฟื้นฟูกิจการของ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย และไม่ว่าทางสินมั่นคงประกันภัยจะยื่นอุทธรณ์ต่อหรือไม่ อย่างไร แต่ทางสำนักงาน คปภ.ก็คงต้องดำเนินการโดยใช้มาตรการทางกฎหมายตามมาตรา 52 ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2550

โดยออกคำสั่งให้สินมั่นคงประกันภัยหยุดรับประกันภัยเป็นการชั่วคราว

ตาราง แนวทางรับมือคำตัดสิน สินมั่นคงประกันภัย

และหลังจากนั้นก็จะใช้มาตรการสูงสุดตามมาตรา 59 คือ ใช้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการประกันวินาศภัยต่อไป

ส่วนกรณีที่ 2 หากศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอยื่นฟื้นฟูกิจการของ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย ทางสำนักงาน คปภ.ก็จะมีการยกร่างประกาศ คปภ.ขึ้นมา เป็นแผนปฏิบัติเพื่อคุ้มครองประชาชนผู้เอาประกันภัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาสินมั่นคงประกันภัย ประสบภาวะขาดทุนจากการรับประกันภัยโควิด-19 แบบ “เจอ จ่าย จบ” โดยมีหนี้ค้างจ่ายเคลมสินไหมทดแทนสูงกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งหลังจากยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไปแล้ว โดยต่อมาศาลล้มละลายกลางได้กำหนดนัดไต่สวน 4 นัดคือ ในวันที่ 6, 9, 16 และ 20 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ทางฝ่ายผู้คัดค้าน (เจ้าหนี้) ได้ดำเนินการสอบพยานเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้วในนัดที่ 3 หรือเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2565 จึงให้ยกเลิกการสืบพยานในวันที่ 20 ก.ย. 2565 ที่นัดไว้เดิม และกำหนดนัดฟังคำสั่งศาลในวันที่ 20 ต.ค. 2565 เวลา 10.00 น.

ขณะที่ล่าสุด คณะกรรมการเปรียบเทียบตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย ได้มีมติเปรียบเทียบปรับ บมจ. สินมั่นคงประกันภัย เป็นจำนวน 3 คดี คิดเป็นวงเงินรวม 5,465,000 บาท อันเนื่องจากกระทำการประวิงการจ่ายสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด

ซึ่งถือเป็นความผิดตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2549 ข้อ 3 (5) มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 88 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน

และไม่กระทำการแจ้งผลการพิจารณาค่าสินไหมทดแทนภายในระยะเวลาที่บริษัทกำหนด เป็นความผิดตามมาตรา 37 (11) แห่ง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการชดใช้เงิน หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยของบริษัทประกันภัยวินาศภัย พ.ศ. 2559 ข้อ 8 (3) มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 88 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน

โดยคดีแรกเปรียบเทียบปรับเป็นเงินรวม 1,655,000 บาท คดีที่สองเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 2,135,000 บาท และคดีที่สามปรับเป็นเงินอีก 1,675,000 บาท ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทยังไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้อง จึงให้เปรียบเทียบปรับรายวัน วันละ 20,000 บาท โดยให้ชำระค่าปรับทุก 30 วัน จนกว่าจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แล้วเสร็จ ซึ่งความคืบหน้าคดีนั้นอยู่ระหว่างการบังคับชำระค่าปรับ

แหล่งข่าววงการประกันวินาศภัยกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข้อมูลสิ้นเดือน ก.ค. 2565 พบว่าเบี้ยประกันภัยรับรวมของสินมั่นคงประกันภัยหายไปแล้วกว่า 2,400 ล้านบาท เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นพอร์ตประกันรถยนต์ ซึ่งเป็นพอร์ตหลักของบริษัท ทำให้ประเมินว่า จนถึงสิ้นปีนี้ แม้ว่าจะยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่เบี้ยรับรวมของสินมั่นคงประกันภัยน่าจะหายไป 4,000 ล้านบาท

“ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชาชนผู้เอาประกันภัยขาดความเชื่อมั่น จึงไม่ต่ออายุสัญญา ทำให้เบี้ยจำนวนดังกล่าวจะกระจายไปในระบบ โดยวิ่งไปหาบริษัทประกันภัยที่มีชื่อเสียงและมีฐานะการเงินมั่นคงและแข็งแกร่งแทน” แหล่งข่าวกล่าว