รัฐอุ้มเคลียร์หนี้ เจอจ่ายจบ สินมั่นคงฯ ระทึกเจ้าหนี้แห่ค้านฟื้นฟูกิจการ

เจอจ่ายจบ

ยังคงต้องลุ้นกันต่อไปสำหรับการเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการของ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย (SMK) เมื่อศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้เลื่อนกำหนดไต่สวนพยานลูกหนี้ผู้ร้องขอและเจ้าหนี้ผู้คัดค้านนัดแรกออกไปเป็นในวันที่ 6, 9, 16 และ 20 ก.ย. 2565 หลังจากในวันนัดไต่สวนนัดแรกเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา มีเจ้าหนี้จำนวนมากเดินทางไปที่ศาล และมีจำนวนเจ้าหนี้ยื่นคำคัดค้านถึง 3,068 ราย

ซึ่งศาลเห็นว่าคดีนี้มีคู่ความที่เกี่ยวข้องและเอกสารหลักฐานจำนวนมาก ควรเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้ผู้คัดค้านในการสืบพยานหลักฐาน จึงได้เลื่อนกำหนดไต่สวนนัดแรกออกไป

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของธุรกิจประกันภัยนั้น กรณีสินมั่นคงฯเป็นเคสแรก โดยก่อนหน้านี้มี 4 บริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการไป อันเป็นผลกระทบมาจากการขายประกันภัยโควิด-19 “เจอจ่ายจบ”

จนกระทั่งภาระต้องตกไปอยู่กับกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ซึ่งปัจจุบันก็มีความสามารถในการจ่ายหนี้ “ไม่มาก” ดังนั้น หากสินมั่นคงฯไม่สามารถฟื้นฟูกิจการได้ ภาระหนี้อีกหลายหมื่นล้านบาทก็จะทะลักมาที่กองทุน

สินมั่นคงฯรอศาลชี้ขาด

โดย “ชนะพล มหาวงษ์” ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย กล่าวว่า มูลหนี้จากกรมธรรม์ประกันภัยโควิด “เจอจ่ายจบ” ของสินมั่นคงฯ มีวงเงินถึงเกือบ 40,000 ล้านบาท จำนวนเจ้าหนี้ราว 4 แสนราย และยังมีเจ้าหนี้ตามกรมธรรม์ประเภทอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ที่จะตกเป็นภาระกองทุน ในฐานะผู้ชำระบัญชี ในกรณีไม่ผ่านแผนฟื้นฟู แล้วต้องถูกเพิกถอนกิจการ เช่นเดียวกับ 4 บริษัทที่ปิดตัวลงก่อนหน้านี้

“ขณะนี้กองทุนกำลังวางแผนเตรียมหารือสำนักงาน คปภ.เพื่อรองรับกรณีดังกล่าวไว้ด้วย ซึ่งคงต้องพึ่งกำลังคนของ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ในการดูแลประชาชนจำนวนมาก เพราะขนาดแค่ 4 บริษัทก่อนนี้ แม้จะทยอยยื่นขอคำทวงหนี้ แต่ก็เกิดความวุ่นวายอย่างมาก ดังนั้นหากสินมั่นคงฯเข้ามาอีก ก็ต้องดำเนินการอย่างรัดกุม อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ต้องรอความชัดเจนจากคำสั่งศาล”

ชำระหนี้โควิดหมดใน 3-5 ปี

โดยปัจจุบันกองทุนมีเจ้าหนี้ยื่นคำขอทวงหนี้จาก 4 บริษัท คือ เอเชียประกันภัย, เดอะวันประกันภัย, อาคเนย์ประกันภัย และไทยประกันภัย รวมทั้งสิ้น 6.75 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 65,000 ล้านบาท โดยในปี 2565 กองทุนจะจ่ายได้ราว 3,000 ล้านบาท คิดเป็นเจ้าหนี้จำนวน 20,000-30,000 ราย

ตาราง เจอจ่ายจบ

ซึ่งกองทุนได้เพิ่มขีดความสามารถในการตรวจสอบหลักฐานการขอชำระหนี้ให้เร็วขึ้น จากเดิมจ่ายได้ 400-500 รายต่อเดือน จะเพิ่มเป็น 5,000-6,000 รายต่อเดือน ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2565 เป็นต้นไป

ขอเงินกู้คลัง 2 หมื่นล้านบาท

“แผนการดำเนินการ อ้างอิงจากที่ รมว.คลัง ตอบกระทู้สดในสภา จากที่ฝ่ายค้านยื่นกระทู้ถาม โดยระบุว่ารัฐบาลจะต้องเป็นหลักประกันให้กับประชาชน ต้องหาเงินมาจ่ายประชาชนโดยเร็ว เพราะมีผู้เสียหายกว่า 6-7 แสนราย”

โดยแนวทางดำเนินการ มีดังนี้ 1.ในการประชุมคณะกรรมการกองทุนประกันวินาศภัยช่วงปลายเดือน ส.ค.นี้ จะเสนอเพิ่มอัตราเงินสมทบของบริษัทประกันวินาศภัย จากเดิมที่เก็บอยู่ 0.25% ของเบี้ยรับรวมแต่ละบริษัท ปรับเพิ่มเป็น 0.5% ซึ่งจะทำให้กองทุนมีรายได้ปีละ 1,200-1,300 ล้านบาท โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566

2.กองทุนจะประสานกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อหาแหล่งเงินกู้วงเงินประมาณ 10,000-20,000 ล้านบาท เพื่อนำมาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ภายในปี 2566

นอกจากนี้ แนวทางถัดไปในปี 2567 รมว.คลังจะพิจารณางบประมาณปี 2567 หรือวงเงินกู้ของรัฐเพิ่มเติม เพื่อนำมาช่วยเหลือกองทุน สำหรับดำเนินการชำระหนี้ให้ได้เร็วยิ่งขึ้น

“ถ้ามีเงินเข้ามาตามแผน หรือชำระหนี้ได้ปีละ 10,000 ล้านบาท ผมเชื่อว่าน่าจะชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ได้เกือบหมด คาดใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี โดยต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานให้ได้เดือนละหมื่นเคส ซึ่งพยายามวางแผนปีต่อปี ทำให้ดีที่สุด อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวยังไม่รวมสินมั่นคงฯ ที่หากไม่ได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ” นายชนะพลกล่าว

ขุนคลังพร้อมสนับสนุนเงินกู้

ล่าสุด “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง ยอมรับว่า กระทรวงการคลังคงต้องดูแลเรื่องเงินกู้ให้แก่กองทุนประกันวินาศภัย เพื่อดูแลผลกระทบให้แก่ประชาชน

เจอโกงเคลมโควิดอีก 4 พันราย

นายชัยยุทธ มังศรี รองเลขาธิการด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคปภ. กล่าวว่า ตอนนี้ คปภ.อยู่ระหว่างตรวจสอบผู้ต้องสงสัยกว่า 4,000 ราย ที่อาจเข้าข่ายพฤติกรรมฉ้อฉลประกันภัยจากกรมธรรม์ประกันภัยโควิด

จากฐานข้อมูล 5-6 บริษัทประกันวินาศภัย วงเงินเอาประกัน ราว 50,000-100,000 บาทต่อราย โดยก่อนหน้านี้ ได้แจ้งความดำเนินคดีไปแล้ว 18 ราย จับกุมได้แล้ว 11 ราย ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คปภ.จะเชื่อมโยงข้อมูลกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อให้เป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินคดี

ยังคงต้องติดตามกันต่อไป ทั้งกรณีที่ว่าสินมั่นคงฯจะได้เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการหรือไม่ และกรณีการกู้เงินเพื่อนำมาจ่ายหนี้ของกองทุนประกันวินาศภัย