สินมั่นคงประกันภัย ศาลเลื่อนนัดไต่สวนนัดแรกเป็น 6 ก.ย. เจ้าหนี้คัดค้านพุ่ง 3 พันราย

สินมั่นคงประกันภัย ศาลเลื่อนนัดไต่สวนนัดแรกเป็น 6 ก.ย.

เจ้าหนี้สินมั่นคงประกันภัยรวมตัวหน้าศาลล้มละลายกลางฟังพิจารณาไต่สวนคดี ล่าสุดศาลมีคำสั่งเลื่อนนัดไต่สวนนัดแรกเป็น 6 ก.ย. ฟาก “เจ้าหนี้ยื่นคัดค้าน” พุ่งกว่า 3,068 ราย

วันที่ 15 สิงหาคม 2565 ศาลล้มละลายกลาง เปิดเผยว่า กระบวนการพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ ฟฟ9/2565 ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในวันนี้ที่ศาลได้นัดพิจารณาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ประเด็นนี้ศาลได้ประกาศคำสั่งรับคำร้องขอ และวันเวลานัดไต่สวนในหนังสือพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และจัดส่งสำเนาคำร้องขอให้แก่เจ้าหนี้ และส่งให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ตามมาตรา 90/9 พ.ร.บ.ล้มละลาย ตามข้อกำหนดคดีล้มละลาย

โดยคดีนี้มีเจ้าหนี้ยื่นคำคัดค้านรวม 3,068 ราย ทั้งนี้ศาลได้แจ้งให้คู่ความผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายทราบว่า ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ผู้คัดค้านและลูกหนี้ที่ร้องขอ ที่ไม่มีหน้าที่นำสืบในนัดใดไม่ต้องมาศาลในนัดนั้นก็ได้

ในการส่งสำเนาบันทึกถ้อยคำแทนการสืบพยานบุคคลและเอกสารที่อ้างอิงเป็นพยานหลักฐานให้แก่คู่ความอีกฝ่าย เนื่องจากคดีนี้มีคู่ความที่เกี่ยวข้องและเอกสารหลักฐานจำนวนมาก เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการ จึงอนุญาตให้ส่งสำเนาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามข้อกำหนดคดีล้มละลาย และถือเป็นการส่งสำเนาให้แก่คู่ความอีกฝ่ายตามกระบวนกฎหมายวิธีพิจารณาทางแพ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลาย และวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย มาตรา 14

ในวันนี้ลูกหนี้ผู้ร้องขอได้ส่งสำเนาถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง หรือความเห็นและเอกสารที่อ้างอิงสำหรับพยานปากนายประหยัด ฐิตะธรรมกุล ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ผู้คัดค้าน ด้วยการส่งสำเนาเอกสารและส่งผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่บันทึกไว้

ลูกหนี้ผู้ร้องขอแถลงว่าประสงค์สืบพยานบุคคลรวม 2 ปาก ประกอบด้วย ผู้บริหารของลูกหนี้ผู้ร้องขอโดยพยานแต่ละปากมีรายละเอียดที่ต้องเบิกความเป็นเวลานาน คาดว่าใช้เวลาสืบพยานรวม 2 นัด ในวันนี้มีพยานบุคคลพร้อมนำเข้าสืบ 1 ปากคือนายประหยัด ฐิตะธรรมกุล เกี่ยวพันกับลูกหนี้ เป็นอดีตผู้บริหารและกรรมการของลูกหนี้ และเป้นที่ปรึกษาของลูกหนี้

ทนายเจ้าหนี้ ผู้คัดค้านของเจ้าหนี้ผู้คัดค้านที่ 1,828 รายนามพันธิรา ผ่าสุริยวงศ์ รวม 3 คนแถลงว่า ทนายความดังกล่าวจะได้รับการแต่งตั้งจากกลุ่มเจ้าหนี้อีกประมาณ 100 ราย แต่เนื่องจากเพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นทนายความ ทำให้ไม่อาจถามค้านพยานลูกหนี้ผู้ร้องขอได้ทันในวันนี้ ซึ่งมีเอกสารหลักฐานและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องในคดีเป็นจำนวนมาก

ในวันนี้จึงขอเลื่อนไปสืบพยานลูกหนี้ผู้ร้องขอและเจ้าหนี้ผู้คัดค้านในนัดหน้า โดยทนายลูกหนี้ผู้ร้องขอแถลงว่า ในวันนี้มีพยานบุคคลพร้อมนำเข้าสืบ ส่วนการเลื่อนคดีให้อยู่ในดุลพินิจของศาล โดยวิเคราะห์แล้วเห็นว่า

“คดีนี้มีคู่ความที่เกี่ยวข้องและเอกสารหลักฐานจำนวนมาก เพื่อให้โอกาสเจ้าหนี้ผู้คัดค้านในการสืบพยานหลักฐาน จึงเห็นควรอนุญาตให้เลื่อนไปนัดไต่สวนพยานลูกหนี้ผู้ร้องขอและเจ้าหนี้ผู้คัดค้าน และจากสอบบรรดาทนายความเจ้าหนี้ผู้คัดค้านแถลงว่า ประสงค์สืบพยานบุคคลรวม 7 ปาก โดยศาลกำหนดวันนัดรวมคาดว่าใช้เวลาสืบพยานรวม 2 นัด ให้กำหนดนัดไต่สวนพยานลูกหนี้ผู้ร้องขอและเจ้าหนี้ผู้คัดค้านในวันที่ 6, 9, 16 และ 20 ก.ย. 2565 เวลา 09.00 น.”

โดยศาลจะพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จภายในวันไต่สวนที่กำหนด หากมีพยานบุคคลหรือพยานเอกสารให้ขอหมายเรียกต่อศาลเพื่อให้สามารถนำพยานมาสืบได้ทันในวันนัด หากคู่ความและพยานมีเหตุขัดข้องในการนำพยานเข้าไปสืบสวนในวันนัด ให้ดำเนินการแก้ไขและแถลงแนวทางแก้ไขต่อศาลล่วงหน้า เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในวันนัดเป็นไปโดยเรียบร้อย และให้คู่ความทุกฝ่ายดำเนินตามแนวปฏิบัติในการสืบพยานอย่างเคร่งครัด

การไต่สวนพยานบุคคลในคดี ศาลอนุญาตให้คู่ความเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง หรือความเห็นของผู้ที่ตนประสงค์อ้างอิงเป็นพยานแทนการซักถามต่อหน้าศาล โดยต้องเสนอบันทึกถ้อยคำต่อศาลล่วงหน้า ก่อนถึงวันนัดไต่สวนพยานนัดแรก (6 ก.ย. 65) ไม่น้อยกว่า 7 วัน

ทั้งนี้ เนื่องจากศาลกำหนดสืบพยานลูกหนี้ผู้ร้องขอและเจ้าหนี้ผู้คัดค้านนัดแรกในวันที่ 6 ก.ย. 65 ถ้าสืบพยานลูกหนี้ผู้ร้องขอเสร็จ จะสืบพยานเจ้าหนี้ผู้คัดค้านทันที เพราะฉะนั้นบันทึกถ้อยคำต้องเตรียมให้เรียบร้อยก่อนถึงวันนัด

“ศาลเข้าใจว่าในช่วงเวลานี้ ฝ่ายเจ้าหนี้ทุกท่านได้รับความเดือดร้อน ในกระบวนการของศาลจะต้องพิจารณาโดยเร็ว และในส่วนของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ที่เป็นองค์กรธุรกิจยื่นคำร้องเข้ามาว่าได้รับความเสียหายจากการประกอบกิจการ มีปัญหาทางการเงิน ในชั้นนี้ตัวบริษัทขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งดีกว่าที่จะปิดกิจการไป และทำให้เจ้าหนี้ทุกท่านได้รับประโยชน์มากกว่าที่จะล้มละลาย

โดยในส่วนของศาลมีหน้าที่จะต้องพิจารณาในชั้นนี้ว่าเป็นไปอย่างนั้นจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตามสิทธิของเจ้าหนี้ทุกท่านในการได้รับชำระหนี้ก็ไม่ได้เสียไป ที่ไต่สวนโดยวัตถุประสงค์ว่ากิจการนั้นยังมีทางที่จะฟื้นฟูหรือทำธุรกิจต่อไปได้จริงหรือไม่ และดีกว่าการที่จะปิดกิจการลงหรือไม่”

เพราะฉะนั้นในกระบวนการจึงต้องนำพยานของฝ่ายลูกหนี้และฝ่ายเจ้าหนี้เพื่อมาให้สิทธิทุกท่าน แต่ที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วเพราะมีเจ้าหนี้จำนวนมากที่รออยู่ และบริษัทที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งลูกจ้างของบริษัท ดังนั้นศาลมีหน้าที่ต้องพิจารณาโดยเร็ว และไต่สวนให้ได้ความจริง

ทั้งนี้ หากศาลยกคำร้องไปจากบริษัทสินมั่นคงประกันภัยไม่เข้าเงื่อนไขฟื้นฟูตามกฎหมาย สิทธิเจ้าหนี้ก็ยังอยู่ แต่ต้องไปเรียกร้องตามขั้นตอนอื่น ๆ ในทางแพ่ง หรือต่อหน่วยงานที่กำกับดูแลในขั้นตอนต่อไป แต่ถ้าศาลให้ฟื้นฟูจการก็จะมีกระบวนการหลังจากนั้นเช่นกัน เพราะฉะนั้นในชั้นนี้ไม่ว่าเจ้าหนี้จะคัดค้านหรือไม่คัดค้าน สิทธิในการได้รับชำระหนี้ยังคงอยู่