สินมั่นคง ตอบคำถาม ลูกค้าประกันจะได้เงินครบตามทุนประกันหรือไม่ ?

สิ่นมั่นคง ประกันภัย

สินมั่นคงประกันภัย ขนทีมที่ปรึกษากฎหมาย ‘เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่’ แจงทุกประเด็นฟื้นฟูกิจการ ในการประชุมเจ้าหนี้นัดแรก 2 มิ.ย. พร้อมย้ำวิธีนี้เป็นทางออกที่ดีที่สุดและเป็นทางออกเดียวให้บริษัทจัดสรรเงินชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้โควิด

วันที่ 3 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK ได้จัดประชุมนัดแรกเพื่อให้ข้อมูลแก่เจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้บริหารของบริษัทคือ นายสุริยนต์ เจริญเศรษฐกุล รองกรรมการผู้จัดการ สำนักกรรมการผู้จัดการ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยทีมกฎหมายจากบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด (Baker McKenzie) ได้ร่วมชี้แจงถึงความจำเป็นในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้บริษัทสามารถเดินหน้าเพิ่มทุนต่อไปได้

โดยในการประชุมครั้งนี้ มีประเด็นคำถามที่ค่อนข้างมาก จึงสรุปรายละเอียดมาได้ดังต่อไปนี้

ถาม : ต้องใส่เงินลงทุนเพิ่มทั้งหมดเท่าไหร่ เพื่อรักษาอัตราส่วนเงินกองทุนให้สูงกว่า 140% ตามคปภ.กำหนด

นายสุริยนต์ ตอบ : “ตัวเลขตรงนี้ยังไม่สามารถตอบได้เวลานี้ เพราะอยู่ระหว่างฝ่ายคณิตศาสตร์ประกันภัยประเมิน เนื่องด้วยต้องดูองค์ประกอบสินไหมประกันภัยโควิด และยังต้องกำหนดแนวทาง วิธีการ และมูลค่าที่ชำระให้เจ้าหนี้สินไหมโควิด เพราะฉะนั้นจำนวนเงินที่จะใส่เข้ามาคือ 1.ต้องทำให้ส่วนของทุนกลับมาเป็นบวก และ 2.จำนวนเงินที่ต้องจ่ายให้เจ้าหนี้สินไหมโควิดทั้งหมด”

ถาม : หากไม่มีผู้ร่วมทุน มีแนวทางอย่างไรต่อไป

นายสุริยนต์ ตอบ : ปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูคือ การหานักลงทุนเข้ามาร่วมทุน เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ และเพื่อปรับฐานะเงินกองทุนให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เพราะฉะนั้นเราคงพยายามอย่างเต็มที่ในเรื่องนี้ ทั้งนี้ทั้งนั้นปัจจัยที่มีผลต่อเนื่องว่านักลงทุนจะเข้ามาร่วมทุนหรือไม่คือ ตัวมูลค่ากิจการของบริษัทว่า บริษัทยังสามารถที่จะดูแลผู้เอาประกัน Non-Covid ตามปกติได้หรือไม่ ซึ่งเวลานี้ยืนยันว่ายังดูแลลูกค้าและคู่ค้าตามปกติ จึงคาดว่านักลงทุนจะเข้าร่วมทุนกับเรา

ถาม : ขณะนี้มีบริษัทหรือผู้ร่วมทุนสนใจเข้ามาเพิ่มทุนแล้วหรือไม่

นายสุริยนต์ ตอบ : กระบวนการเพิ่มทุนเราเริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และมีผู้ให้ความสนใจจริง ๆ หลายราย สุดท้ายเราคัดเลือกเข้ามาเหลืออยู่ 3 ราย ซึ่งแสดงความสนใจการเข้าร่วมทุน แต่ด้วยการระบาดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ผู้ร่วมทุนได้ชะลอการตัดสินใจเพื่อขอพิจารณาตัวเลขสินไหมโควิด

และล่าสุดที่บริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้ว และได้แจ้งผู้สนใจร่วมทุนทราบ ก็ยังมี 2 บริษัทที่ยังแสดงเจตนารมณ์ในความสนใจจะร่วมทุนกับบริษัท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขอพิจารณาเงื่อนไขของบริษัทในแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการก่อน

“นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนในประเทศที่แสดงเจตนารมณ์ให้ความสนใจในการร่วมทุนกับบริษัท เพราะธุรกิจหลักของเราทั้งประกันภัยรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ประกันภัยเบ็ดเตล็ด ส่วนนี้ยังเป็นธุรกิจที่ดี และมีผลประกอบการที่ดี”

ถาม : การปรับโครงสร้างหนี้ ผู้เอาประกันมีความเป็นไปได้ไหม ที่จะไม่ได้เงินครบตามทุนประกัน 100%

นายสุริยนต์ ตอบ : เราต้องยอมรับว่าสินไหมโควิดที่สูงกว่า 30,000 ล้านบาท ฉะนั้นการได้รับชำระหนี้เท่าไร ส่วนหนึ่งเกิดจากการประเมินมูลค่ากิจการ ซึ่งก็มาจากธุรกิจหลักของบริษัท ก็จะอยู่ในส่วนของนักลงทุนเองว่านักลงทุนจะให้มูลค่ากิจการเท่าไร จะใส่เงินเข้ามาร่วมทุนเท่าไร ตัวนี้จะเป็นตัวประกอบในการที่จะบอกว่าจะชำระหนี้เจ้าหนี้สินไหมโควิดได้จำนวนเท่าไร

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สมมติว่าจำนวนเงินที่นักลงทุนใส่เข้ามาไม่สามารถจ่ายเงินครบตามทุนประกันได้ ก็ยังมีทางออกอื่นประกอบกัน เช่น การแปลงหนี้เป็นทุนบางส่วน ซึ่งทางบริษัทต้องมีการเจรจากับนักลงทุน และต้องนำเสนอกับเจ้าหนี้สินไหมโควิด ซึ่งจะพิจารณาอีกครั้งในระหว่างการจัดทำแผนฯ

ถาม : ทางบริษัทมีแนวทางที่จะปรับโครงสร้างบริษัทหรือไม่ เช่น ลดหน่วยงานที่ซับซ้อน หน่วยงานที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายตรงนี้

นายสุริยนต์ ตอบ : จริง ๆ แล้วตั้งแต่ที่มีสินไหมโควิดค่อนข้างมาก มีพนักงานบางส่วนลาออกไป แต่บริษัทเองก็ไม่ได้รับคนเพิ่ม โดยบริหารคนที่มีอยู่ และเพิ่มประสิทธิภาพเข้าไปในการทำงาน ประกอบกับบริษัทมีการลดค่าใช้จ่ายหลายอย่าง เช่น หยุดการจัดซื้อรถยนต์ใหม่ทั้งหมดมาเกือบ 2 ปีแล้ว และไม่ได้จ่ายโบนัสพนักงานในปีที่ผ่านมา ฉะนั้นยืนยันได้ว่าในการปรับปรุงประสิทธิภาพก็ยังทำต่อเนื่อง แม้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู เราก็พยายามทำต่อไปเพื่อปรับปรุงและลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ

ถาม : มีโอกาสหรือไม่ที่เจ้าหนี้จะยื่นขอคัดค้านการทำแผนฟื้นฟูจนบริษัทสินมั่นคงไม่สามารถทำแผนฟื้นฟูกิจการได้

ที่ปรึกษากฎหมาย SMK ตอบ : ตามกฎหมายการยื่นคัดค้านเพื่อไม่ให้บริษัทเข้าสู่กระบวนการยื่นฟื้นฟูกิจการ เป็นสิทธิของเจ้าหนี้อยู่แล้ว แต่ทั้งนี้บริษัทมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถแสดงให้ศาลและเจ้าหนี้ทุกราย เห็นได้ว่าการฟื้นฟูกิจการครั้งนี้เป็นทางออกที่ดีที่สุด และเป็นทางออกเดียวเพื่อให้บริษัทยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งทำให้บริษัทสามารถที่จะจัดสรรเงินเพื่อชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้โควิดได้ ทั้งนี้หากบริษัทไม่ได้ทำแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว เจ้าหนี้ทั้งหมดมีแต่จะได้รับความเสียหายอย่างมาก

ถาม : จากที่ศาลประกาศรายชื่อเจ้าหนี้บนหน้าเว็บไซต์ คนที่ไม่มีรายชื่อจะมีผลอะไรกับการเป็นเจ้าหนี้หรือไม่

ที่ปรึกษากฎหมาย SMK ตอบ : การประกาศรายชื่อเจ้าหนี้ จริง ๆ โดยหลักการของกฎหมายเป็นเพียงแค่ส่งรายชื่อเจ้าหนี้เพื่อให้ศาลสามารถแจ้งและส่งลิงก์สำเนาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการให้กับเจ้าหนี้ได้ แต่ตัวนี้ไม่ได้มีผลกระทบกับสถานะความเป็นเจ้าหนี้ใด ๆ

ถาม : หุ้น SMK จะยังซื้อขายได้ตลอดในช่วงเวลาที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการหรือไม่

ที่ปรึกษากฎหมาย SMK ตอบ : ตอนนี้หุ้น SMK ตลาดหลักทรัพย์ฯขึ้นเครื่องหมาย C ซึ่งยังสามารถซื้อขายหุ้นได้ตามปกติ แต่เมื่อมีการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ตลาดหลักทรัพย์ฯจะขึ้นเครื่องหมาย SP ซึ่งจะส่งผลให้หุ้น SMK ต้องหยุดพักการซื้อขายระหว่างนั้นจนกว่าการฟื้นฟูกิจการจะสำเร็จ