สินมั่นคงฯ แจงทุกข้อสงสัยชาวเน็ต ประเด็นยื่นฟื้นฟูกิจการ

สินมั่นคง

สินมั่นคงประกันภัย แจงทุกข้อสงสัยข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ ต่อประเด็นยื่นฟื้นฟูกิจการเพิ่มเติมฉบับ 2

วันที่ 30 พฤษภาคม 2565 บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK ขอชี้แจงข้อสงสัยในประเด็นคำถามต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการยื่นฟื้นฟูกิจการของบริษัทเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยของบริษัทได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังนี้

ถาม : จากกรณีที่มีข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ว่า บริษัทจะตั้งโต๊ะจ่ายเช็คเงินสด เพื่อยุติปัญหาการทวงสิทธิเคลมสินไหม โควิด เจอ จ่าย จบ จริงหรือไม่
ตอบ : ไม่จริง เพราะหากบริษัท จ่ายสินไหมโควิด เจอ จ่าย จบ จะเป็นการกระทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง

ถาม : ภายหลังจากที่ศาล รับคำร้องฟื้นฟูแล้ว บริษัทได้มีการจ่ายให้บุคคลที่ไปกดดันเจ้าหน้าที่บริษัทจริงหรือไม่
ตอบ : ไม่จริง บริษัทไม่สามารถทำอย่างที่มีบุคคลบางคนกล่าวอ้างได้ เนื่องจากเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายอย่างร้ายแรง

ถาม : ตามที่มีผู้โพสต์ลงในสังคมออนไลน์ว่า ภายหลังจากบริษัทได้ยื่นฟื้นฟูกิจการแล้ว บริษัทจะไม่รับผิดชอบจ่ายค่าสินไหมโควิด เจอ จ่าย จบ จริงหรือไม่
ตอบ : ไม่จริง โดยมีข้อเท็จจริงขอชี้แจงดังนี้

1. บริษัท ไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมโควิด เจอ จ่าย จบ ตามสัญญาได้เมื่อศาล รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้วเนื่องจากจะทำให้บริษัทเข้าข่ายกระทำการผิดตามกฎหมายฟื้นฟู

2. บริษัท จะเริ่มจ่ายค่าสินไหมโควิด เจอ จ่าย จบ หลังจากศาล เห็นชอบตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งคาดว่า จะมีกำหนดการประมาณเดือนมิถุนายน 2566

3. แนวทางการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ จำเป็นจะต้องมีการเจรจาร่วมกันระหว่างเจ้าหนี้และบริษัทอีกครั้ง

4. บริษัท พยายามอย่างเต็มที่ที่จะหาแนวทางเพื่อการชำระหนี้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และเจ้าหนี้จะได้รับการชำระหนี้จากดำเนินการตามแผนฟื้นฟูได้มากกว่าการปิดกิจการ

5. หากศาลไม่ให้ฟื้นฟูกิจการ จะทำให้บริษัทไม่สามารถกลับมาจ่ายสินไหมโควิดเจอ จ่าย จบ ได้อีกครั้ง

ถาม : ตามที่มีผู้โพสต์ตั้งคำถามในสังคมออนไลน์ว่า บริษัท พยายามถ่วงเวลาเพื่อรอดำเนินการโอนย้ายกรมธรรม์ไปยังบริษัทอื่นให้เสร็จเรียบร้อย และจะประกาศล้มละลายอย่างเป็นทางการ เป็นความจริงหรือไม่

ตอบ : ไม่จริง ด้วยเหตุผลดังนี้

1. การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย การโอนย้ายกรมธรรม์ไม่ถือเป็นการค้าปกติแต่อย่างใด

2. บริษัท ไม่สามารถโอนย้ายกรมธรรม์ได้ถ้าลูกค้าหรือผู้เอาประกันไม่ยินยอม

3. บริษัท ไม่ได้รับประโยชน์จากการโอนกรมธรรม์ให้กับบริษัทอื่น เนื่องจากบริษัท ประสงค์ที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป

ถาม : ตามที่มีผู้โพสต์ตั้งคำถามในสังคมออนไลน์ว่า ได้ตรวจสอบในเว็บไซต์ของ คปภ. แล้ว ปรากฏว่ากรมธรรม์ของตนเองถูกโอนย้ายไปยังบริษัทประกันภัยอื่น เป็นความจริงหรือไม่
ตอบ : จากการตรวจสอบข้อมูลในฐานข้อมูลพบว่า ผู้ที่กล่าวอ้างไม่ได้เป็นผู้เอาประกันภัยของบริษัท แต่อย่างใดและบริษัทไม่มีนโยบายในการโอนย้ายกรมธรรม์ของลูกค้าไปยังบริษัทอื่น โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัย

ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยทุกท่านสามารถตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องของบริษัท ได้จากคำแถลงข้อชี้แจงในกรณีต่าง ๆ ทั้งจากช่องทางเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ของบริษัท อย่างเป็นทางการเท่านั้น เพื่อความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่ได้รับ