ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ชี้เศรษฐกิจภาคเหนือฟื้นตัวช้า เหตุอิงท่องเที่ยว-เกษตรมาก

ผู้ว่าการ ธปท.ชี้ปีหน้าเศรษฐกิจโลกชะลอ ตลาดการเงินโลกผันผวนหนัก ใช้นโยบายทยอยขึ้นดอกเบี้ย เร่งคุมเงินเฟ้อ เผยเศรษฐกิจภาคเหนือฟื้นตัวช้า นโยบายการเงิน ธปท.ได้ปรับเพื่อ smooth takeoff เป้าหมายคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องไม่สะดุด

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ได้จัดสัมมนาวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ประจำปี 2565 เรื่อง “Moving beyond the curve : ก้าวข้ามความท้าทาย สู่อนาคตเศรษฐกิจการเงินใหม่ภาคเหนือ”

ในโอกาสนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ก้าวข้ามความท้าทาย วางนโยบายสู่อนาคต” ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งภาคธุรกิจ การเงิน การศึกษา ภาคราชการ และประชาชนทั่วไปประมาณ 200 คน

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง คาดว่า

อัตราการขยายตัวปี 2565 อยู่ที่ 3.3% และปี 2566 ที่ 3.8% ตามรายได้ของแรงงานที่ปรับดีขึ้น และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับเศรษฐกิจภาคเหนือที่ทยอยฟื้นตัว แต่ช้ากว่าประเทศ ซึ่งโครงสร้างเศรษฐกิจของภาคเหนือฟื้นตัวได้ช้ากว่าเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยเพราะ ประการแรก ภาคเหนือมีขนาดอุตสาหกรรมที่เล็กกว่าของประเทศค่อนข้างมาก

ประการที่สอง เศรษฐกิจของภาคเหนือเน้นภาคบริการมากถึง 50% กล่าวคือ พึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ประการที่สาม การอิงกับภาคการเกษตรสูงถึง 40% โดยมีแรงงานก้อนใหญ่อยู่ในภาคนี้ และเป็นกลุ่มประชากรสูงวัยมากที่สุดของประเทศ เมื่อได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 นักท่องเที่ยว 40 ล้านคนหายไป เศรษฐกิจภาคเหนือจึงฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า ทั้ง 3 ประเด็นถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยังได้รับแรงกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อ และปัญหาหนี้ครัวเรือนกลุ่มเปราะบางคือเกษตรกรและคนวัยเกษียณ ซึ่งนโยบายทางการเงินของ ธปท.ในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อก็คือ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบข้างเคียงมาก เพราะหากปล่อยให้เงินเฟ้อพุ่งไปไม่หยุด ต้นทุนก็จะเพิ่มสูงขึ้น เศรษฐกิจจะเดินต่อไม่ได้ จึงต้องใช้แนวทางขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งถือว่ามีผลกระทบน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ

ขณะเดียวกันปัญหาหนี้ครัวเรือนภาคเหนือ พบว่าราว 60% เป็นหนี้คงที่ ทั้งนี้ ธปท.ได้เร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบครบวงจร ได้แก่ 1.การเร่งแก้หนี้เดิม 2.การแก้หนี้ให้ถูกหลักการ เช่น การพักหนี้ ความเป็นจริงดอกเบี้ยยังคงวิ่งไปทุกวัน และยิ่งกลุ่มคนเป็นหนี้คือเกษตรกรสูงวัย กว่าจะเคลียร์หนี้ได้หมดจึงต้องใช้เวลานาน การพักหนี้ไปเรื่อย ๆ จึงไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวต่อว่า หากมองเศรษฐกิจของประเทศอินโดนีเซีย หรือเกาหลีใต้ จะเห็นชัดว่าเศรษฐกิจเติบโตได้ค่อนข้างรวดเร็ว เพราะมีกลุ่มชนชั้นกลางในสัดส่วนที่ค่อนข้างมากของโครงสร้างเศรษฐกิจ ดังนั้น จะเห็นว่าสังคมเมืองมีส่วนผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งหากสร้างฐานชนชั้นกลางในภาคเหนือให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะการดึงให้คนรุ่นใหม่ที่เรียนจบในภาคเหนืออยู่ในพื้นที่ ได้ทำงานในพื้นที่ สร้างฐานภาคเหนือให้เป็นศูนย์กลาง “Digital Nomad” ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของอาชีพยุคดิจิทัล ที่ทุกคนสามารถทำงานที่ไหนเวลาใดก็ได้ Work Anywhere ก่อให้เกิดพนักงานรุ่นใหม่ที่ทำงานแบบไม่มีออฟฟิศ ซึ่งเชียงใหม่มีศักยภาพสูงที่จะรองรับกลุ่มเป้าหมายนี้

โดยเศรษฐกิจภาคเหนือมีความท้าทายที่ต้องก้าวข้าม ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างที่ภาคเหนือพึ่งพิงภาคเกษตรสูง มีประชากรสูงวัยมากที่สุดในประเทศ และยังไม่ได้ประโยชน์จากการค้ากับเพื่อนบ้านได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจต้องสร้างความเติบโตของสังคมเมือง (urbanization) ในภาคเหนือให้มากขึ้น เพื่อดึงดูดแรงงานรุ่นใหม่ให้อยู่ในพื้นที่เป็นพลังพัฒนาในระยะยาว สร้างชนชั้นกลางเพิ่ม เพื่อเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจเช่นตัวอย่างในประเทศอินโดนีเซียและเกาหลีใต้ เพราะความมั่งคั่งมาจากสังคมเมืองที่เติบโต

ด้านนโยบายการเงิน ธปท.ได้ปรับเพื่อ smooth takeoff เป้าหมายคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องไม่สะดุด โดยขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้เป็นภาระจนเกินไปต่อกลุ่มเปราะบาง แต่ก็จำเป็นต้องทำเพื่อดูแลไม่ให้เงินเฟ้อสร้างภาระเพิ่มเติมให้แก่ประชาชนและธุรกิจ

นอกจากนี้ ในโครงสร้างเศรษฐกิจของภาคเหนือ ภาคธุรกิจต้องมุ่งให้ความสำคัญเรื่อง ESG หรือสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่องค์กรภาคธุรกิจจะต้องบริหารจัดการความเสี่ยง เพิ่มการแข่งขัน สร้างโอกาส นับเป็นโจทย์ระยะข้างหน้าที่ท้าทายมากของภาคเหนือ

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวต่อว่า ในปี 2566 จะเห็นภาพที่ไม่ดีนักของเศรษฐกิจโลก กล่าวคือ เศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะชะลอตัวอย่างมาก และจะเกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลก แต่ผลกระทบที่จะเกิดกับภาคเหนือย่อมจะมีบ้าง แต่คงไม่มากนัก เพราะภาคเหนือยังมีแรงขับเคลื่อนของภาคท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นกลับมา ก็จะเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจเอาไว้ได้

แม้ปีหน้าเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังคงเดินทางมาประเทศไทยหลังโควิดเริ่มคลี่คลายลง คนยังอยากเดินทางท่องเที่ยว แต่อาจจะยังไม่กลับมาคึกคักเหมือนช่วงก่อนโควิด
นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

ธปท.ควรจะสนับสนุนช่วยภาคผู้ประกอบการ SMEs โดยนำอัตราดอกเบี้ยสำหรับผู้ประกอบการขนาดใหญ่มาสนับสนุน ผู้ประกอบการ SMEs ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำให้เกิดการพัฒนาและยกระดับการประกอบการ นอกจากนั้น ต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคเหนือให้เติบโตตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้โดยเฉพาะเกษตรอัจฉริยะที่จะเป็นการเพิ่มมูลค่าและผลิตผลให้เติบโตขึ้นอาจจะช่วยให้เศรษฐกิจภาคเหนือมีรายได้ที่สูงขึ้น

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ กล่าวว่า ภาคเหนือจะต้องขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจฐานที่อิงด้านดิจิทัลและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นคาร์บอน emission ที่จะเข้าไปมีส่วนในการเตรียมพร้อมรับมาตรการระหว่างประเทศที่จะมีสูงขึ้นในอนาคต นอกจากนั้นคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจด้าน wellness และ medical hub