ทิศทางเงินบาท มีโอกาสแข็งค่าต่อ

ค่าเงินบาท
คอลัมน์ : นั่งคุยกับห้องค้า
ผูเขียน : กฤติกา บุญสร้าง, กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ธนาคารกสิกรไทย

หลังผ่านพ้นช่วงมรสุมจากนโยบายการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ย (front-loading) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปลี่ยนผ่านไปสู่ความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากภาวะนโยบายการเงินตึงตัวมากเกินไป (overtightening)

ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ทำให้ค่าเงินบาทผ่อนคลายความตึงเครียดและกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็ว จากระดับอ่อนค่าที่สุดของปีที่ 38.37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 35.43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา แข็งค่าขึ้นถึง 7.68%

และกลายเป็นค่าเงินที่แข็งค่าในเดือน พ.ย.นี้ มากที่สุดเป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชีย รองจากเงินวอนเกาหลี

ห้องค้ากสิกรไทยประเมินไว้ ณ วันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่าค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าที่ 35.25 และ 33.50-34.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2022 และ 2023 ตามลำดับ จากการที่ตลาดการเงินโลกถึงจุดกลับตัว หลังเงินเฟ้อสหรัฐต่ำกว่าคาดการณ์ และเฟดแสดงท่าทีเตรียมชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในระยะถัดไปมีจำกัด

ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดี จากแรงหนุนการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตได้อีกมาก ซึ่งจะสนับสนุนให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็นบวก ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า จะลดช่องว่างส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยและเฟดให้แคบลงในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ในปี 2023 ห้องค้ากสิกรไทยประเมินว่า ค่าเงินบาทอาจมีความผันผวนมาก โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องจากดอกเบี้ยนโยบายเฟดที่ยังอยู่ในระดับสูง สร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโลก และเพิ่มความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย

รวมถึงทำให้การปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนมีต้นทุนที่สูงขึ้น สะท้อนจากค่าธรรมเนียม swap ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และยังคงเป็นปัจจัยที่ ธปท.เคยกล่าวเตือนทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออกไว้

ในท้ายที่สุด การใกล้จะจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในอีกไม่ช้านี้ จะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อค่าเงินบาทต่อเนื่อง รวมถึงการที่รัฐบาลจีนให้คำมั่นต่อการทยอยผ่อนคลายนโยบายโควิดที่เข้มงวด เป็นอีกปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยว

โดยเฉพาะจากชาวจีนมาเที่ยวไทยสูงถึง 11 ล้านคน เป็นอันดับที่ 1 จากนักท่องเที่ยวก่อนโควิดทั้งหมดที่ 40 ล้านคน หรือราว 27%

อย่างไรก็ดี การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนอาจยังต้องใช้เวลาสักระยะ จากการแพร่ระบาดของโควิดที่ตัวเลขมีแนวโน้มจะพุ่งขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการ ท่ามกลางการฉีดวัคซีนเนื้อตายที่ยังคืบหน้าไม่มาก โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง

การยอมผ่อนของรัฐบาลจีนครั้งนี้ เป็นวิธีที่ “เจ็บแต่จบ” ดีกว่า “เจ็บยืดเยื้อไปอีกนาน” สำหรับเศรษฐกิจจีน