ดอลลาร์อ่อนค่า จากความกังวลการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า จากความกังวลเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค ส่วนปัจจัยในประเทศ สรท.ประเมินส่งออกของไทยในปี 2565 ขยายตัวได้ราว 2-3% จับตาปีหน้าจีนผ่อนคลายมาตรการโควิดได้มากน้อยเพียงใด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 6-9 ธันวาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในเช้าวันอังคาร (6/12) ที่ระดับ 34.98/35.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/12) 34.76/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุน หลังจากข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐออกมาอย่างแข็งแกร่ง

โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐได้เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 263,000 ตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน สูงกว่าระดับคาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง สำหรับอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.7% สอดคล้องกับตัวเลขที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน สูงกว่าระดับคาดการณ์ที่ระดับ 0.3% และเพิ่มขึ้น 5.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี สูงกว่าระดับคาดการณ์ที่ระดับ 4.6% ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ในวันอังคาร (6/12) สหรัฐมีการรายงานตัวเลขดุลการค้าขาดดุลมากขึ้น 5.4% เนื่องจากการส่งออกปรับตัวลงหลังราคาสกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสัปดาห์ค่าเงินบาทก็กลับมาแข็งค่าอีกครั้ง จากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการเกิดเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐว่าจะส่งผลกระทบให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวอย่างที่ผ่านมา

สรท.คาดส่งออกไทยปี’65 ขยายตัว 2-3%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ประเมินว่า การส่งออกของไทยในปี 2565 จะขยายตัวได้ราว 2-3% ซึ่งเป็นการเติบโตแบบอัตราหน่วง โดยปีหน้ามีปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตา คือ ประเทศจีนจะผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ได้มากน้อยเพียงใด

ขณะเดียวกัน สรท.ยังกังวลปัจจัยที่จะมีผลต่อการส่งออกของไทย เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง และการแข็งค่าของเงินบาท สำหรับการส่งออกในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวได้ราว 7-8%

ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีถ้อยแถลง โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ระดับ 3.2% ในปี 2565 และเติบโตที่ระดับ 3.8% ในปี 2566 แม้ว่าอาจต้องเผชิญความท้าทายจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ทั้งนี้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมมือดำเนินนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและภาคธุรกิจ

ในขณะที่ในพุธ (7/12) มีการรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค ประจำเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 5.55% ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 5.98% และในวันพฤหัสบดี (9/12) มีการรายงานตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายนที่ระดับ 47.9 สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 46.1 ส่งสัญญาณว่าการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ในช่วงสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.65-35.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (9/12) ที่ระดับ 34.76/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินยูโรอ่อนค่า

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในเช้าวันอังคาร (6/12) ที่ระดับ 1.0494/98 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/12) ที่ระดับ 1.0516/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรยังได้รับแรงกดดันหลังตัวเลขดัชนีราคาผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการและตัวเลขค้าปลีกของสหภาพยุโรปนั้นยังสะท้อนถึงสัญญาณชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการของสหภาพยุโรปประจำเดือนพฤศจิกายนออกมาที่ระดับ 48.5 ต่ำกว่าระดับคาดการณ์ที่ระดับ 48.6 ขณะที่ตัวเลขค้าปลีกของสหภาพยุโรปประจำเดือนพฤศจิกายนปรับตัวลดลง 1.8% ต่ำกว่าระดับคาดการณ์ว่าจะลดลง 1.7% และต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 0.8%

โดยในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลง จากการที่นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะซบเซาในปีหน้า เนื่องจากธนาคารทั่วโลกปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นเลยทำให้มีการเคลื่อนย้ายการลงทุนไปในสินทรัพย์ปลอดภัย ก่อนกลับมาแข็งค่าในช่วงกลางสัปดาห์หลังจากเยอรมนีมีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจโดยตัวเลขการสั่งสินค้าจากโรงงานที่สูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน

และรายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของยุโรปไตรมาส 3 เมื่อเทียบรายไตรมาสอยู่ที่ระดับ 0.3% สูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 0.2% และเมื่อเทียบรายปีอยู่ที่ระดับ 2.3% สูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 2.1% ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มที่ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ในช่วงสัปดาห์ ค่าเงินยูโรมีกรอบระหว่าง 1.0443-1.0588 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (9/12) ที่ระดับ 1.0568/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันอังคาร (6/12) ที่ระดับ 136.83/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/12) ที่ระดับ 134.27/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่เปิดเผยออกมาในช่วงสุดสัปดาห์และช่วงต้นสัปดาห์นั้นสนับสนุนทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ

ญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2%

ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 จากประเทศจีนนั้น ทำให้นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยลง ทั้งนี้ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าต่อเนื่องจากแรงกดดันเรื่องความแตกต่างของผลตอบแทนพันธบัตรระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่น โดยที่ประธานธนาคารญี่ปุ่นนายคุโรดะกล่าวว่าการพิจารณานโยบายใหม่นั้นยังเร็วเกินไปและมองว่าเงินเฟ้อที่สูงกว่าเป้าหมายของญี่ปุ่นส่วนมากนั้นมาจากราคาพลังงานและสินค้านำเข้าที่แพงขึ้น เนื่องจากปัญหาการผลิตที่มาจากการล็อกดาวน์ในจีนช่วงที่ผ่านมา

นายคุโรดะยังย้ำถึงเป้าหมายของนโยบายญี่ปุ่น ซึ่งต้องการให้เงินเฟ้ออยู่ที่ 2% พร้อมกับการปรับขึ้นรายได้ของพนักงาน ส่งผลให้นักลงทุนนั้นคาดว่าสกุลเงินเยนจะไม่มีการปรับดอกเบี้ยขึ้นและคงนโยบายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนประธานของธนาคารญี่ปุ่นในเดือนเมษายน 2023 อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเยนกลับบมาแข็งค่าอีกครั้งในปลายสัปดาห์จากการอ่อนค่าของสกุลดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนหลังรายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของญี่ปุ่นไตรมาส 3 เมื่อเทียบรายไตรมาสอยู่ที่ระดับ -0.2% หดตัวลงน้อยกว่าคาดการณ์ที่ระดับ -0.3% และเมื่อเทียบรายปีอยู่ที่ระดับ -0.8% หดตัวลงน้อยกว่าคาดการณ์ที่ระดับ -1.1% ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานในวันนี้ (9/12) ว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวขึ้น 1.6% ในเดือน พ.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอลงจากเดือน ต.ค. ที่มีการขยายตัว 2.1% และสอดคล้องกับการคาดการณ์ ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ปรับตัวลง 1.3% ในเดือน พ.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากที่ลดลง 1.3% ในเดือน ต.ค.


อย่างไรก็ดี ดัชนี PPI เดือน พ.ย.ของจีนปรับตัวลงน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 1.4% การชะลอตัวของดัชนี CPI และดัชนี PPI ของจีนสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงส์ภายในประเทศ อันเนื่องมาจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างหนักในจีน รวมทั้งการที่รัฐบาลใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการเดินทางของประชาชน ทั้งนี้ ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 135.77-137.87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (9/12) ที่ระดับ 136.58/62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ