
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
ในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยเจอประเด็นร้อน ทั้งจากกรณี บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) สร้างปรากฏการณ์ “ปล้น” โบรกเกอร์ ซึ่งในที่สุดสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สั่งอายัดบัญชีหุ้นและทรัพย์สินรวม 36 รายการ ที่เชื่อมโยงกับ 15 บริษัทหลักทรัพย์ มูลค่ากว่า 5.3 พันล้านบาท
กลายเป็นแผลใหญ่ที่สะเทือนตลาดหุ้นไทย รวมถึงปัญหาความพร้อม และความเท่าทันด้านต่าง ๆ ในการไล่ล่าจัดการกับเครือข่ายขบวนการอาชญากรรมในตลาดทุนไทย
- ประกาศแล้ว! การออกสลากกินแบ่งรัฐบาลหกหลัก มีผลงวด 1 ต.ค.นี้
- อว.ปลื้ม 19 มหา’ลัยไทยติดอันดับโลก 2024 ตั้งเป้าปีต่อไปขึ้น TOP 400
- รู้จักหวย L6 หวย N3 สลากรูปแบบใหม่ คืออะไร ซื้อได้ผ่านช่องทางไหน ?
“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ อดีตประธาน บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ มือกฎหมายธุรกิจวัย 67 ปี ที่ปัจจุบันนั่งเป็นประธานกรรมการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และนั่งเป็น “กรรมการ” ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
นายกิติพงศ์กล่าวว่า การเข้ามาทำหน้าที่บอร์ด ตลท. ครั้งนี้รอบที่ 4 งานหลักก็คือมาช่วยดูข้อกฎหมาย โดยมีทีมคณะอนุกรรมการกฎหมายที่เก่งมาก ๆ ทำงานร่วมกันประกอบด้วย 1.ศ.ดร.สมเกียรติ คุววัฒนานนท์ รองอัยการสูงสุด 2.อาจารย์สุรศักดิ์ วาจาสิทธิ์ และ 3.รศ.พิเศษ เสตเสถียร 4. ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิติยารักษ์ และ ศาสตราจารย์ ดร.กำชัย จงจักรพันธ์
อาชญากรรมตลาดทุนใหญ่ขึ้น
“วันนี้พบว่าความผิดด้านตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปั่นหุ้น การใช้ข้อมูลวงใน (อินไซเดอร์) มีเพิ่มมากขึ้น ความผิดเริ่มซับซ้อนขึ้น และทำกันเป็นขบวนการ ไม่ใช่ทำกันแค่ 2-3คน คือมีการร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งตัวนักลงทุนเอง ที่ปรึกษาการลงทุน และสารพัดตัวละคร ซึ่งทำให้การจับหรือดำเนินการตรวจสอบยากขึ้นเรื่อย ๆ” นายกิติพงศ์กล่าวและว่า
ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯมีเครื่องไม้เครื่องมือแค่การเฝ้าระวังหรือติดตามการซื้อขายหลักทรัพย์ คือถ้าหุ้นตัวไหนเข้าข่ายผิดปกติ ก็จะตรวจสอบข้อมูลเช่นการเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้องระหว่างบุคคลต่าง ๆ มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร ใช้หมายเลข IP Address เดียวกันหรือไม่ เปิดบัญชีร่วมกันหรือไม่ โดย ตลท.ก็จะรวบรวมข้อมูลหลักฐานส่งให้ ก.ล.ต. โดยระบุว่า “มีเหตุอันน่าเชื่อว่าการซื้อขายหุ้นน่าจะผิดปกติ”
นายกิติพงศ์กล่าวว่า โดยปกติการดำเนินการของ ก.ล.ต.ก็จะใช้เวลาประมาณ 8-12 เดือน ซึ่งก็ถือว่าเร็ว แต่ปัญหาคือระหว่างที่ดำเนินการเพื่อเอาผิดก็พบว่า คนกลุ่มนี้ก็ทำผิดซ้ำ ๆ ซึ่งคณะกรรมการ ตลท.ก็มีความกังวลว่าทำอย่างไรให้การดำเนินการตรวจสอบการกระทำผิดต่าง ๆ มีความรวดเร็วขึ้น
สิ่งที่ ก.ล.ต.ดำเนินการเพิ่มเติมเรื่องนี้คือ ออกจดหมายเรียกเข้ามาสอบถาม เหมือนเป็น “คำเตือน” ว่าอยู่ระหว่างตรวจสอบ อาจทำให้คนกลุ่มนี้ “กลัว” หยุดกระทำ แต่ก็มี “พวกมืออาชีพ” ก็ยังไม่กลัว เพราะแก๊งพวกนี้จะมีที่ปรึกษาหนุนหลัง คิดว่าเอาผิดเขาไม่ได้แน่ ๆ นี่คือการจัดการที่ยากมาก ซึ่งก็ทำให้ ก.ล.ต.ต้องใช้เวลามากขึ้นเพื่อหาหลักฐานมามัดให้แน่นเพื่อให้มั่นใจว่า “เอาผิดได้” ไม่ไปหลุดในขั้นตอนพนักงานสอบสวนหรืออัยการ
“อาชญากรรมในตลาดทุนใหญ่ขึ้น เพราะผลประโยชน์เยอะ คุ้มกับการเสี่ยงในการทำความผิด และปัญหาของเรา คือเวลาฉ้อโกงหรือปั่นหุ้น คนที่เดือดร้อนคือ แมงเม่า นักลงทุนรายย่อย ซึ่งไม่ค่อยช่ำชองในการกลั่นกรองข้อมูลที่เพียงพอ คือเชื่ออะไรง่ายเกินไป ดังนั้นนอกจากเรื่องการจัดการกับอาชญากรรมตลาดทุน อีกด้านก็ต้องทำเรื่องการสร้างองค์ความรู้ในตลาดเงินตลาดทุน”
สร้างองค์ความรู้ “กระบวนการยุติธรรม”
นายกิติพงศ์กล่าวว่า การจัดการกับอาชญากรรมตลาดทุน ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน สิ่งสำคัญคือต้องสร้างองค์ความรู้ ทั้งกระบวนการต้นน้ำ-กลางน้ำและปลายน้ำ
ต้นน้ำก็คือตัวนักลงทุน รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ให้กับ “กระบวนการยุติธรรม” ทั้ง ก.ล.ต.-ตำรวจและอัยการ และปลายน้ำคือศาล เรียกว่าต้องมีการอบรม ทั้งผู้พิพากษา ตำรวจ อัยการ และทนายความ ต้องมีความรู้เรื่องตลาดทุนอย่างดี อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรผิด อะไรไม่ผิด
“ขณะที่ตอนนี้ตำรากฎหมายเรื่องตลาดทุนแทบไม่มี ฉะนั้น ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯต้องเริ่มด้วยการทำคู่มืออ้างอิง เช่น คู่มือตัวอย่างการปั่นหุ้นว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร และการจัดอบรมให้กับตุลาการ ผู้พิพากษา ตำรวจ อัยการ ทนายความ ให้เข้าใจ เพราะเรื่องนี้รู้เฉพาะคนไม่ได้”
นอกจากนี้ก็คุยกันว่า ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯควรจับมือกับอาจารย์มหาวิทยาลัยเก่ง ๆ สร้างแหล่งข้อมูลเรื่องนี้ขึ้นมา เขียน textbook ตำรากฎหมายมาตรฐาน ให้เป็น reference ที่ใครจะเปิดอ่านก็ได้ เพื่อให้ทุกคน รวมถึงผู้พิพากษาอ่านตำราเล่มเดียวกัน
“การกลับมาของผมในการเป็นครั้งที่ 4 ของบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯที่มีเวลา 3 ปี ก็อยากทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ คือสร้างองค์ความรู้ตลาดเงินตลาดทุน โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส”
เพิ่มอำนาจ ก.ล.ต.เป็นพนักงานสอบสวน
สำหรับแผนระยะกลางคือการให้อำนาจ ก.ล.ต.เป็นพนักงานสอบสวน ในการดำเนินคดี และมีอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในความผิดฐานใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น ความผิดฐานสร้างราคาหรือปริมาณหลักทรัพย์ และความผิดฐานบอกกล่าวเผยแพร่หรือรับรองข้อความเท็จ เพื่อส่งให้อัยการ โดยข้ามขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เพราะเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต.มีความเชี่ยวชาญและมีความพร้อมในการตรวจสอบการกระทำความผิดเกี่ยวกับหลักทรัพย์ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในชั้นก่อนฟ้องคดีต่อศาล และช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
ประเด็นนี้พยายามผลักดันกันมาหลายปีแล้ว โดย ก.ล.ต.ได้เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ) และหนึ่งในประเด็นสำคัญคือ การปรับปรุงกระบวนการบังคับใช้กฎหมายในชั้นก่อนฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งเท่าที่ทราบขณะนี้ร่างกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯกำลังจะเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็ว ๆ นี้ ในอนาคตก็จะช่วยลดขั้นตอนการดำเนินคดีให้รวดเร็วขึ้น
ยกบทเรียน MORE ขีดเส้น 2 เดือน
นายกิติพงศ์กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นกับคดีหุ้น MORE เป็นกรณีพิเศษที่ต้องจัดการทันที ทำให้ทุกอย่างเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว ขณะนี้ทางฝ่ายจัดการของตลาดหลักทรัพย์ฯกำลังพิจารณาว่ามีช่องว่างผิดพลาดตรงไหน โดยทำงานร่วมกับหลายฝ่าย ซึ่งต้องดูว่าต้องแก้ระเบียบ ประกาศกฎหมายอะไรบ้าง ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งคาดว่าภายใน 1-2 เดือนข้างหน้านี้จะมีความชัดเจนออกมา
โดยข้อเสนอหนึ่งที่คุยกันคือการพัฒนาศูนย์ข้อมูล (investor information bureau) เพื่อประโยชน์กับการบริหารความเสี่ยงเช่นเดียวกับเครดิตบูโร เช่น ข้อมูลวงเงินการใช้บัญชีมาร์จิ้น
รวมทั้งอาจมีแนวทางการเพิ่มบทลงโทษคดีปั่นหุ้น เพราะแม้ว่ากฎหมายเราจะมีมาตรการลงโทษทางแพ่ง ซึ่งก็มีนักลงทุนส่วนหนึ่ง ที่ยอมรับผิดให้ปรับ 2 เท่าของผลประโยชน์ ทั้งห้ามเป็นกรรมการบริษัทจดทะเบียน ซึ่งถือว่าดี เพราะไม่ต้องไปเสียเวลาฟ้องดำเนินคดี แต่หลัง ๆ พบว่ามีกลุ่มคนที่ไม่กลัวยังทำผิดซ้ำ ๆ ก็ทำให้มีแนวคิดว่าบทลงโทษทางแพ่งในปัจจุบันอาจจะเบาเกินไป ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ยังพร้อมที่จะเสียค่าปรับ
“คดีส่วนใหญ่จะจบกันที่จ่ายค่าปรับ แต่บางเคสพวกมืออาชีพไม่ยอมจ่ายค่าปรับก็มี เพราะรู้ว่าการต่อสู้ในชั้นศาลใช้เวลานานและหวังว่าถ้าไปศาลอาจจะรอด”
เล็งยกระดับหุ้นเล็กตลาด mai
นายกิติพงศ์กล่าวว่า ปัจจุบันแต่ละปีตลาดหลักทรัพย์ฯมีการส่งข้อมูลเข้าข่ายทำผิด 20-30 บริษัท ซึ่งถ้าเป็นคดีปั่นหุ้นส่วนใหญ่เป็นบริษัท mai แต่ถ้าคดีใช้ข้อมูลอินไซเดอร์จะเป็นบริษัทใน SET
“บริษัทใน mai เกิดกรณีการปั่นหุ้นง่าย เพราะเล็กใช้วงเงินไม่มาก แต่ บจ.ในตลาด mai ที่ดีก็มีมาก ซึ่งเราก็กำลังคุยและดูกันว่า อาจจะปรับเกณฑ์เพิ่มฐานรายได้ ทุนจดทะเบียน มาร์เก็ตแคป เพื่อยกระดับบริษัทใน mai แต่เรื่องนี้ก็ต้องพิจารณาให้ดี มีข้อดีข้อเสีย เพราะอาจเป็นอุปสรรคให้บริษัทดี ๆ ที่ต้องการเข้าระดมทุนในตลาด mai ทำได้ยากขึ้น”
อย่างไรก็ดี นายกิติพงศ์ทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญในการจัดการปัญหาอาชญากรรมตลาดทุน ก็คือการสร้างความตระหนักรู้ให้นักลงทุน เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ