เด็กจบใหม่ตกงานเกือบ 2 แสนคน ค่าแรง 600 บาท กระทบธุรกิจ

นายดนุชา พิชยนันท์
แฟ้มภาพ

สภาพัฒน์ จับตาเด็กเรียนจบระดับอุดมศึกษาว่างงานสูงสุดเกือบ 2 แสนคน ชี้จบสาขา “สังคมศาสตร์-บริหารธุรกิจ” ว่างงานมากสุด ระบุไอเดียขึ้นค่าแรง 600 บาท กระทบผู้ประกอบการ-ภาคอุตสาหกรรมอาจหันใช้หุ่นยนต์แทนคน แนะลงทุนเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานตอบโจทย์กว่า

วันที่ 14 ธันวาคม 2565 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สถานการณ์การจ้างงาน ณ ไตรมาส 3 ปี 2565 มีการขยายตัวได้ดีขึ้น โดยมีการจ้างงาน 39.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.1% จากการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมที่ขยายตัว 4.3%

โดยสาขาที่ขยายตัวได้ดี คือ การผลิต การค้าส่งค้าปลีก และสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ซึ่งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดีขึ้น แต่ในแง่แรงงานภาคการท่องเที่ยวยังมีปัญหา

ขณะที่ชั่วโมงการทำงานหลัก ปรับตัวดีขึ้น ภาพรวมอยู่ที่ 42.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งในส่วนภาคเอกชนอยู่ที่ 46.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2562 หรือก่อนโควิด ก็อยู่ระดับเดียวกัน แสดงว่าขณะนี้ภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ มีการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นแล้ว

ส่วนผู้เสมือนว่างว่างงานลดลงเหลือ 1.9 ล้านคน จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 2.2 ล้านคน และผู้ทำงานล่วงเวลาก็มีมากขึ้นที่ 6.8 ล้านคน จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 6.3 ล้านคน ด้านค่าจ้างแรงงาน แม้ปรับตัวดีขึ้น แต่ค่าจ้างที่แท้จริงหดตัวลงเล็กน้อย

นายดนุชากล่าวว่า สำหรับอัตราการว่างงานในไตรมาส 3 ปีนี้อยู่ที่ 1.23% ลดลงต่อเนื่อง ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2564 เช่นเดียวกับการว่างงานในระบบ ก็ลดลงมาตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2565 มาอยู่ที่ 2%

“การว่างงานลดลง ทั้งกรณีผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน และผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน ก็ปรับลดลง ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2564” นายดนุชากล่าว

การว่างงานตามระดับการศึกษา
การว่างงานตามระดับการศึกษาลดลงทุกระดับการศึกษา

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาการว่างงานจากระดับการศึกษา พบว่า แม้การว่างงานลดลงทุกระดับการศึกษา แต่ก็ต้องจับตาที่ระดับอุดมที่มีอัตราสูงที่สุดที่ 2.49 % หรือกว่า 185,410 คน แม้ลดลงแต่ยังอยู่ระดับที่อาจต้องมีการเข้าไปดูแลเพิ่มเติม

“ผู้ว่างงานอุดมศึกษา ประมาณ 66% เป็นกลุ่มที่ไม่เคยทำงานมาก่อน นั่นหมายถึงว่าเป็นเด็กจบใหม่ ส่วนอีก 33.4% เป็นกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อน โดยผู้ที่ว่างงานระดับอุดมศึกษา ส่วนใหญ่จบสังคมศาสตร์และบริหารธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ประมาณกว่า 60% ที่เหลือเป็นสาขาวิทยาศาสตร์ และสาขาอื่น ๆ ที่เป็นความต้องการ ประมาณ 10%”

เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า โดยรวมคือสภาพเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่เรื่องแรงงาน ก็ต้องดูแลเรื่องภาระค่าครองชีพของแรงงาน แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะการปรับค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2565 สำหรับแรงงานที่อยู่ในระบบ แต่ว่าแรงงานนอกระบบซึ่งมีอยู่ราว 50% โดยเฉพาะกลุ่มภาคเกษตร ยังคงเป็นกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องค่าครองชีพอยู่

“ในขณะที่กลุ่มแรงงานนอกระบบ ประมาณ 84% จบการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษา หรือว่าเทียบเท่า มัธยมศึกษา ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ต้องมีการปรับ นำเขาเข้ามาในระบบ แล้วก็เพิ่มทักษะต่าง ๆ เข้าไป”

อีกส่วนแรงงานท่องเที่ยวยังมีปัญหาขาดแคลน ถ้าสามารถนำแรงงานที่อยู่นอกระบบเข้าไปได้ ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาในภาคท่องเที่ยวได้ ซึ่งก็คงต้องปรับทักษะฝีมือแรงงานก่อน

ส่วนกรณีที่มีบางพรรคการเมืองมีนโยบายหาเสียง โดยประกาศจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวันนั้น เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ค่าแรงขั้นต่ำ เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งสิ่งที่รัฐทำมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา คือ พยายามทำปรับค่าจ้างให้สอดคล้องกับทักษะฝีมือของแรงงาน

ดังนั้น หากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก็ต้องปรับค่าแรงสำหรับแรงงานฝีมือขึ้นไปด้วย เพื่อให้เกิดส่วนต่าง ระหว่างคนที่มีทักษะกับคนที่ไม่มีทักษะ แต่ภาระก็จะตกไปอยู่กับผู้ประกอบการ

“ผู้ประกอบการก็ต้องดูให้ดีว่า รับไหวหรือเปล่า ถ้ามีการปรับขึ้นจริง ภาคอุตสาหกรรม ก็คงปรับไปใช้หุ่นยนต์ แล้วก็จะพันมาเรื่องการปลดคนงาน ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำ คือ คิดว่าเราน่าจะไปเน้นเพิ่มทักษะของแรงงานให้สูงขึ้น หากเป็นค่าใช้จ่ายตรงนั้น คิดว่าเอกชนรับได้” นายดนุชากล่าว

สำหรับการปรับเงินเดือนเด็กจบใหม่ ถ้าขึ้นเงินเดือนก็จะกระทบทั้งเอกชนและภาครัฐ อย่างคราวที่แล้วที่ขึ้นมาเป็น 15,000 บาท รัฐบาลก็ต้องปรับฐานขึ้นมา ก็เป็นภาระงบประมาณ ตอนนี้แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว แต่ผลพวงที่เกิดจากวิกฤตโควิด ยังมีข้อจำกัดในแง่ฐานะการคลัง ก็ต้องดูในแง่วินัยการเงินการคลังที่จะต้องเคร่งครัดในช่วงถัดไป

“เราต้องทำให้แรงงานของเรามีคุณภาพ มีทักษะมากขึ้น ตรงนั้นถ้าจะปรับค่าแรงขึ้นมาให้เหมาะกับสกิลเซ็ตของเขา จะสอดคล้องกว่า” เลขาธิการ สศช.กล่าว