สภาพัฒน์ หวั่นหนี้เสียพุ่ง-วอนแบงก์ตรึง “ดอกกู้” รอเศรษฐกิจฟื้น

ดอกกู้สศช.

สภาพัฒน์ขอความร่วมมือแบงก์ตรึงดอกกู้รอเศรษฐกิจฟื้นตัวแข็งแรงขึ้น ห่วงครัวเรือนเปราะบางเสี่ยงเป็นหนี้เสียพุ่ง เหตุเจอผลกระทบค่าครองชีพ-ดอกเบี้ยขาขึ้น

ขณะที่หนี้ครัวเรือนล่าสุดยังอยู่ระดับสูง สิ้นไตรมาสแรกปี’65 อยู่ที่ 89.2% เหตุครัวเรือนขาดสภาพคล่อง แห่ขอสินเชื่ออุปโภคบริโภคเพิ่ม ด้านอัตราการว่างงานลดต่ำที่สุดตั้งแต่เกิดโควิด-19

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า หนี้สินครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2565 มีมูลค่า 14.65 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6% ลดลงจากช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 ซึ่งจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 89.2% อย่างไรก็ดี ครัวเรือนยังมีปัญหาขาดสภาพคล่องจากการได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ สะท้อนจากแนวโน้มสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 22.6% เร่งขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 5 ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิต ขยายตัว 2.5%

ส่วนการก่อหนี้สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวในอัตราชะลอลง อยู่ที่ระดับ 4.6% จากที่ขยายตัว 5% ในไตรมาสก่อน ในขณะที่สินเชื่อยานยนต์ หดตัวถึง -0.6% จากไตรมาสก่อนขยายตัว 1.2% ด้านสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจก็ชะลอลงมาที่ 6% จาก 6.5% ในไตรมาสก่อนหน้า

สำหรับความสามารถในการชำระหนี้ทรงตัว โดยสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีมูลค่า 1.47 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.78% เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากไตรมาสก่อนที่มีสัดส่วน 2.73% เป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน และการปรับโครงสร้างหนี้ที่ช่วยชะลอไม่ให้เกิดหนี้เสียเพิ่ม

“ยังต้องเฝ้าระวังหนี้เสียของสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น และบัตรเครดิต เนื่องจากในไตรมาสแรก ของปี 2565 นี้ สินเชื่อทั้ง 2 ประเภท มีสัดส่วนสินเชื่อเป็นหนี้เสียปรับตัวสูงขึ้น โดยสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.49% จากไตรมาสก่อนขยายตัวที่ 2.33%

ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัว 2.78% เพิ่มขึ้นจาก 2.49% ในไตรมาสก่อน รวมถึงต้องเฝ้าระวังสินเชื่อเพื่อยานยนต์ เนื่องจากมีสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (สินเชื่อค้างชำระน้อยกว่า 3 เดือน) อยู่ที่ระดับ 12.1% เพิ่มจากไตรมาสก่อนที่อยู่ระดับ 11.1% มีความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้เสียในอนาคต โดยเฉพาะในครัวเรือนกลุ่มที่มีภาระหนี้สูง”

นายดนุชากล่าวว่า ในระยะถัดไป มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ 1) ผลกระทบของภาระค่าครองชีพที่อาจกดดันให้ครัวเรือนมีความต้องการสินเชื่อมากขึ้น

ซึ่งอาจทำให้ครัวเรือนที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวและได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงมีการก่อหนี้มากขึ้น 2) อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของครัวเรือนเพิ่มขึ้น และกระทบต่อครัวเรือนที่ขอสินเชื่อใหม่ เนื่องจากจะต้องรับภาระหนี้ในส่วนของดอกเบี้ยมากขึ้น

3) คุณภาพสินเชื่อในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลอื่น สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อยานยนต์ โดยสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นและสินเชื่อบัตรเครดิต มีสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่สินเชื่อรถยนต์มีสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษเพิ่มขึ้น สะท้อนความเสี่ยงการเกิด NPLs โดยเฉพาะในครัวเรือนกลุ่มที่มีภาระหนี้สูง หรือมีกันชนทางการเงินต่ำ

และ 4) การส่งเสริมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง และมีมาตรการแก้หนี้ที่เฉพาะเจาะจง สำหรับกลุ่มเปราะบาง และรายได้ยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ส่งเสริมให้มีการก่อหนี้ใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้หนี้ครัวเรือนมีมูลค่าสูงจนกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคต

“ภาวะเงินเฟ้อ และแนวโน้มการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% แล้ว ภาครัฐจะต้องเร่งเข้าไปดูแลช่วยเหลือผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ภาคครัวเรือนโดยมุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มเปราะบาง

เนื่องจากขณะนี้รายได้ยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งจะต้องขอความร่วมมือสถาบันการเงินเอกชน และภาครัฐ ในเรื่องการตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมาแข็งแรงมากกว่านี้ก่อน”

เลขาธิการ สศช.กล่าวด้วยว่า ส่วนอัตราการว่างงานในไตรมาส 2 ปี 2565 ลดลงต่ำที่สุดตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีผู้ว่างงานจำนวน 5.5 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.37% ซึ่งลดลง ทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน และไม่เคยทำงานมาก่อน


“สถานการณ์แรงงาน ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผู้มีงานทำกว่า 39 ล้านคน ขยายตัว 3.1% จากการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมที่มีการจ้างงาน 27.4 ล้านคน โดยเฉพาะสาขาการผลิต สาขาขายส่ง/ขายปลีก และสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า ซึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคและการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี” เลขาธิการ สศช.กล่าว