รวมมาตรการแบงก์รัฐ-เอกชน อุ้มลูกหนี้เปราะบางสู้เทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น

หนี้ครัวเรือน

หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็น 0.75% แล้ว หลายฝ่ายกังวลว่าจะกระทบกับลูกหนี้กลุ่มครัวเรือน และผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี ที่เปราะบาง โดยทางสมาคมธนาคารไทย ได้ส่งสัญญาณว่า แบงก์พาณิชย์จะพยายามตรึงดอกเบี้ยไว้ในรอบนี้ และจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา มีธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่นำร่องมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กันแล้ว ดังนี้

2 แบงก์ใหญ่ นำร่องมาตรการอุ้มลูกหนี้เปราะบาง

1.ธนาคารกรุงเทพ ที่จะมีแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกค้ามีหลายรูปแบบ โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับลูกค้า เช่น การพิจารณาปรับลดยอดผ่อน ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ให้ระยะเวลาปลอดหนี้ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย โอนทรัพย์ชำระหนี้ ให้สินเชื่อใหม่ การขยายวงเงินบัตรเครดิตจาก 1.5 เท่าเป็น 2 เท่าของรายได้ต่อเดือน นอกจากนี้ ยังมีการรวมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นที่ไม่มีหลักประกัน (Debt Consolidation)

ทั้งนี้ ลูกค้าของธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ปัจจุบันสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ธุรกิจสัมพันธ์ สำนักธุรกิจที่ดูแลสินเชื่อของท่าน หรือสาขาธนาคารทั่วประเทศ และบริการบัวหลวงโฟน โทร. 1333 หรือ 0-2645-5555 หรือ www.bangkokbank.com

2.ธนาคารกสิกรไทย ที่ต่อยอดโครงการรวมใจไม่ทิ้งกัน โดยออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจ ที่มีวงเงินสินเชื่อแต่ละผลิตภัณฑ์ไม่เกิน 2 ล้านบาท และไม่มีสถานะเป็น NPL โดยมีรายละเอียดมาตรการความช่วยเหลือ ดังนี้

-มาตรการ “ลดยอดผ่อนชำระต่อเดือน 10%” ระยะเวลา 12 เดือน ลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการนี้ ได้แก่ ลูกค้าธุรกิจที่ใช้บริการสินเชื่อเพื่อธุรกิจ และสินเชื่อเงินด่วนเพื่อธุรกิจ ลูกค้าบุคคลที่ใช้บริการ สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเงินด่วน โดยลูกค้าบุคคลและธุรกิจที่สนใจเข้าร่วมมาตรการนี้ สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ธนาคารกสิกรไทยได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน-30 ธันวาคม 2565

-มาตรการ “ผ่อนชำระขั้นต่ำ 5%” ระยะเวลา 12 เดือน ลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการนี้ ได้แก่ ลูกค้าบุคคลที่ใช้บริการบัตรเครดิต และบัตรเงินด่วน โดยมาตรการนี้จะเป็นการปรับยอดขั้นต่ำให้ลูกค้าโดยอัตโนมัติ ลูกค้าไม่ต้องลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ

6 แบงก์รัฐประกาศตรึงดอกเบี้ย-ออกมาตรการพยุงลูกหนี้

นอกจากนี้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ก็ประกาศมาตรการช่วยเหลือลูกค้าเช่นเดียวกัน ดังนี้

1.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ทั้งอัตราดอกเบี้ยลูกค้าสถาบันชั้นดี (MLR) อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MOR) และอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ไว้ให้นานที่สุด

พร้อมกันนี้ ธ.ก.ส.ได้กำหนดแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าในทุกกลุ่ม เริ่มตั้งแต่การดูแลภาระหนี้สิน เพื่อลดความกังวลใจในเรื่องหนี้ เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการขยายระยะเวลาชำระหนี้ ให้ลูกค้าสามารถชำระหนี้ได้ตามศักยภาพ การจัดทำคลินิกหมอหนี้ เพื่อลดหนี้ครัวเรือน การไกล่เกลี่ยหนี้ และให้คำปรึกษาด้านการจัดการหนี้ ทั้งหนี้ในและนอกระบบ รวมถึงแนวทางการประกอบอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการเติมสินเชื่อใหม่ ภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและการลงทุน เช่น สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ สินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 4 สินเชื่อแฟรนไชส์ สินเชื่อ Green Credit สินเชื่อ Contract Farming อัตราดอกเบี้ย MRR สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0.01 เป็นต้น

และการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ เช่น การปรับเปลี่ยนการผลิตไปปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง การลดต้นทุนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต รวมถึงสนับสนุนแนวทางการประกอบอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชน

2.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ให้นานที่สุด อย่างน้อยถึงสิ้นปี 2565 เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการช่วยให้ลูกค้าเงินกู้ของธนาคารที่มีจำนวนเงินสินเชื่อคงค้างในปัจจุบันมากกว่า 1.52 ล้านล้านบาท ได้มีเวลาปรับตัวรับกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นในอนาคต

3.ธนาคารออมสิน จะยังตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ (MLR, MOR และ MRR) ไว้ให้นานที่สุด เพื่อชะลอผลกระทบต่อลูกค้ารายย่อย ผู้ประกอบการ SMEs และกลุ่มเปราะบาง

4.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) จะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ให้นานที่สุด ในอัตรา Prime Rate 5.75% ต่อปี ทั้งนี้ เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ เพื่อแบ่งเบาภาระลูกค้าและผู้ประกอบการไทย รวมทั้งพัฒนาโปรโมชั่นพิเศษสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า Prime Rate อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ให้อยู่รอดและขยายธุรกิจในตลาดการค้าโลกได้ท่ามกลางปัจจัยท้าทายที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางธุรกิจของผู้ประกอบการในปีนี้

5.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank จะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสามารถบริหารต้นทุนการเงินได้

โดยก่อนหน้านี้ ธพว. ได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้ามาแล้วอย่างต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ลูกค้าได้รับผลกระทบไม่มาก ขณะเดียวกัน ยังมีผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำและคงที่ ช่วยเสริมสภาพคล่องและบริหารจัดต้นทุนทางการเงิน เช่น “สินเชื่อ 3D” อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4.5% ต่อปี ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ และ “สินเชื่อธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” (BCG Loan) อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3.99% ต่อปี เป็นต้น ประกอบกับสนับสนุนด้าน “การพัฒนา” ควบคู่ไปด้วย ภายใต้โครงการ “SME D Coach” ที่ปรึกษาธุรกิจครบวงจร ช่วยประคับประคองให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปรับตัวและเดินหน้าธุรกิจได้ต่อเนื่อง

6.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ประกาศยืนมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” ที่เน้นความยืดหยุ่นการชำระหนี้ 3 ระดับ ตามความสามารถในการชำระคือ 1.ยืดหยุ่น โดยตัดเงินต้น 20% และตัดดอกเบี้ย 80% ระยะผ่อนชำระ 5 ปี 2.ผ่อนน้อย เบาแรง หนี้ลดหมดแน่นอน โดยเริ่มต้นชำระครั้งแรกเพียง 1% ของยอดหนี้ โดยนำไปตัดเงินต้นทั้งหมด

ส่วนวงเงินที่เหลือ ระยะผ่อนชำระ 5 ปี 3.ดอกเบี้ย 0% โดยชำระครั้งแรก 10% ซึ่งจะนำไปตัดเงินต้นทั้งหมด ระยะผ่อนชำระ 7 ปี โดยที่ผ่านมามีลูกหนี้เข้าโครงการจำนวน 1,546 ราย คิดเป็นวงเงินกว่า 1,110 ล้านบาท (ข้อมูล ณ 31 ก.ค. 65)