จับตาสารพัดปัจจัยปี’66 สภาพัฒน์-EIC ห่วงเศรษฐกิจไทยโตต่ำ

เศรษฐกิจ

เหลืออีกเพียงเดือนเดียวก็จะสิ้นปี 2565 ท่ามกลางความกังวลของภาคธุรกิจหลาย ๆ ส่วน ถึงสถานการณ์ปี 2566 ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยรออยู่และจะกลายเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

เศรษฐกิจทยอยฟื้นปีนี้โต 3.2%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564 โดยล่าสุดในไตรมาส 3 ปี 2565 ขยายตัวที่ 4.5% ต่อปี จากเครื่องชี้วัดด้านต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นเกือบทั้งหมด ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวอยู่ที่ 3.1%

โดยการใช้จ่ายการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2565 จนมาถึงไตรมาส 3 และส่วนที่ขยายตัวเร่งขึ้น คือสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร โดยไตรมาส 3 อยู่ที่ระดับ 53.6% จากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 44.9% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องหลังจากที่เปิดการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

“ในไตรมาส 3 มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามา 3.6 ล้านคน โดย 9 เดือนแรกมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาแล้ว 5.68 ล้านคน ทั้งปีคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 10.2 ล้านคน น่าจะมีรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประมาณ 570,000 ล้านบาท ดังนั้น ทาง สศช.จึงคาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวได้ 3.2% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 5.4% การลงทุนภาคเอกชนอยู่ที่ 3.9%”

ปี’66 ขยายตัว 3-4%

สภาพัฒน์ประเมินว่า ช่วงปลายปีนี้รัฐบาลยังไม่จำเป็นที่จะออกมาตรการขนาดใหญ่มากระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากสถานการณ์การบริโภคภายในประเทศยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2566 หน่วยงานของรัฐก็จะมีมาตรการ “ของขวัญปีใหม่” ออกมาให้แก่ประชาชน ซึ่งไม่ได้เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่เป็นการสนับสนุนประชาชนให้ออกมาใช้จ่ายเพิ่มเติม เพื่อนำไปลดหย่อนภาษี เป็นต้น

“กรณีที่จะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ซึ่งช่วงปลายปีนี้คงไม่ถึงขั้นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ออกมา”

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2566 นายดนุชากล่าวว่า สภาพัฒน์ได้ประมาณการ โดยคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 3.0-4.0% ต่อปี โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 3.5% ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว หากจีนผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และเปิดให้เดินทางได้ ก็คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามากว่า 23.5 ล้านคน และมีรายรับจากนักท่องเที่ยวกว่า 1.2 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐและเอกชน คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.6% การขยายตัวต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.0% และการขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคเกษตร คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.4% ส่วนการส่งออก คาดขยายตัว 1% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 2.5-3.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.1% ของ GDP

“ระยะถัดไปการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 และปี 2566 โดยเฉพาะเมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้มีการเปิดประเทศอย่างเต็มที่ การเดินทางระหว่างประเทศก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี หากจะให้เศรษฐกิจปี 2566 ขยายตัวได้ถึง 4% การส่งออกเป็นปัจจัยสำคัญ รวมถึงการลงทุนภาครัฐและเอกชน และการท่องเที่ยว” นายดนุชากล่าว

3 ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจปีหน้า

แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2566 ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง 3 ปัจจัยหลักที่จะเข้ามากระทบ ได้แก่ 1) ความเสี่ยงจากการชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนในตลาดการเงินโลก ซึ่งต้องติดตามและประเมินอย่างใกล้ชิด ทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสำคัญ ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาวะตลาดการเงินตึงตัว ประกอบกับความยืดเยื้อของปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดของเศรษฐกิจจีน

“แม้ว่าภายใต้กรณีฐานคาดว่า รัฐบาลจีนมีแนวโน้มที่จะทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นลำดับ นับตั้งแต่ปลายปี 2565 อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดภายในประเทศที่กลับมารุนแรงมากขึ้น อาจนำไปสู่การกลับมาบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดอีกครั้ง”

2) หนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ย โดยในภาคธุรกิจ สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) และสัดส่วนสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงพิเศษ (SM) ต่อสินเชื่อรวมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในไตรมาส 2 ปี 2565 ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 7.6% เช่นเดียวกับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ซึ่งเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวทั้งอุปสงค์ภายในประเทศ และความสามารถในการชำระหนี้ และ 3) ความเสี่ยงจากการกลับมาแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

“จริง ๆ แล้วเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพมากกว่านี้ หากมีการขับเคลื่อนการลงทุนของภาครัฐ และการท่องเที่ยว จะทำให้เศรษฐกิจขยับไปได้มากกว่านี้ อย่างไรก็ดี ระดับการขยายตัวเศรษฐกิจที่ 3.2-3.5% ยังถือเป็นระดับพื้นฐาน หากเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของไทย แต่หากต้องการให้ขยายตัวระดับ 7-8% นั้น ต้องอาศัยการลงทุน และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ”

5 ปัจจัยเสี่ยงในมุมมอง EIC

ด้าน ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปี 2566 เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงด้านต่ำ จากปัจจัยภายนอกประเทศเพิ่มขึ้น ได้แก่ 1) เศรษฐกิจโลกที่เผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้น โดยเฉพาะด้านนโยบายเศรษฐกิจและความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าและบริการของไทย

2) การใช้นโยบาย Zero COVID ของจีนที่อาจยาวนานกว่าคาด ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยได้น้อยลงและช้าลง รวมถึงอาจทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกคลี่คลายได้ช้าลง

3) ภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่อาจยาวนานกว่าคาดจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง 4) ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่ถูกซ้ำเติมจากผลกระทบค่าครองชีพที่สูงขึ้น และการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย จนอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

และ 5) ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ในช่วงต้นปี 2566 รวมถึงภาระทางการคลังที่อาจเพิ่มขึ้นจากนโยบายอุดหนุนต่าง ๆ ภายหลังการหาเสียงเลือกตั้ง รวมถึงการใช้มาตรการการพยุงค่าครองชีพเป็นวงกว้าง

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากปัจจัยข้างต้นแล้ว ปี 2566 เศรษฐกิจไทยยังต้องเจอมรสุมอีกหลายลูกเลยทีเดียว