กรุงไทย คาด ศก.ไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังการบริโภคสูงสุดรอบ 39 ไตรมาส

krungthai compass เศรษฐกิจไทย

ธนาคารกรุงไทย ประเมินเศรษฐกิจไทยปี’66 ขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับตัวเลขสภาพัฒน์คาดโต 3.5% หลังจีดีพีไตรมาส 3/65 ขยายตัว 4.5% อานิสงส์การบริโภคภาคเอกชนพุ่ง 9% สูงสุดในรอบ 39 ไตรมาส การลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกบริการที่ขยายตัวเร่งขึ้น

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ธนาคารกรุงไทยรายงานว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3/2565 ขยายตัว 4.5% YOY หรือขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.2% QOQSA โดยการรายงานเศรษฐกิจด้านรายจ่ายในไตรมาสที่ 3 ของปีมีประเด็นหลัก ๆ ได้แก่ การอุปโภคบริโภคเอกชนขยายตัว 9.0% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 7.1% โดยขยายตัวสูงสุดในรอบ 39 ไตรมาส และขยายตัวเร่งขึ้นในทุกหมวดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยปรับเข้าสู่ภาวะปกติ

โดยการใช้จ่ายหมวดบริการขยายตัวถึง 15.8% ตามการใช้จ่ายในกลุ่มโรงแรมและภัตตาคารที่เร่งขึ้น การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนขยายตัว 18.2% ตามการใช้จ่ายเพื่อซื้อยานพาหนะ การใช้จ่ายหมวดไม่คงทนขยายตัว 3.2% จากหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และการใช้จ่ายหมวดสินค้ากึ่งคงทนขยายตัว 3.6% จากกลุ่มเครื่องเรือนและเครื่องตกแต่ง

การลงทุนรวมกลับมาขยายตัว 5.2% เทียบจากไตรมาสก่อนที่หดตัว 1.0% จากการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัว 11% เร่งขึ้นจาก 2.3% ในไตรมาสก่อน ตามการลงทุนเครื่องจักรเครื่องมือ และการลงทุนด้านการก่อสร้างกลับมาขยายตัวได้ที่ 2% ส่วนการลงทุนภาครัฐหดตัวที่ 7.3% เทียบจากไตรมาสก่อนที่หดตัว 9% โดยการลงทุนรัฐบาลหดตัวน้อยลงขณะที่การลงทุนรัฐวิสาหกิจขยายตัวชะลอลง

การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลกลับมาหดตัวเล็กน้อย 0.6% เทียบกับไตรมาสก่อนที่การขยายตัว 2.8% เป็นผลมาจากการลดลงของค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโรคโควิด-19 มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 6.7% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 9.7% โดยปริมาณและราคาส่งออกขยายตัว 2.1% และ 4.4% ชะลอลงเมื่อเทียบจากในไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 4.4% และ 5.1% ตามลำดับ สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น อาทิ เครื่องจักรและอุกรณ์ รถกระบะและรถบรรทุก แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน เป็นต้น ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง เช่น รถยนต์นั่ง เคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น

การส่งออกบริการขยายตัว 87% เร่งขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 54.5% จากรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากการดำเนินมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยการยกเลิกมาตรการ Thailand Pass ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 และการเดินทางระหว่างประเทศที่เข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น

สำหรับเศรษฐกิจปี 2565 สภาพัฒน์คาดว่าจะขยายตัว 3.2% แตะระดับขอบบนของประมาณการเดิมที่ 2.7-3.2% จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวชัดเจนตามการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติมากขึ้น สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ประกอบกับการดำเนินมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายของภาครัฐ

อีกทั้งการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น สอดคล้องกับการลงทุนในช่วง 3 ไตรมาสแรกที่ขยายตัวถึง 5.3% การนำเข้าสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัว อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์คาดว่าการส่งออกสินค้าในปีนี้จะเริ่มได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 3.0-4.0% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก

  1. การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
  2. การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ
  3. การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภายในประเทศ
  4. แนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคการเกษตร

ขณะที่เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เงื่อนไขทางการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจจากภาระหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง และความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่

สอดคล้องกับมุมมองของ Krungthai COMPASS ซึ่งคาดว่าจีดีพีปีหน้ามีแนวโน้มเติบโตดีกว่าปีนี้ ทั้งนี้ สภาพัฒน์คาดว่า ในปี 2566 เศรษฐกิจไทยอาจเติบโตในช่วงประมาณการ 3.0-4.0% โดยมีค่ากลางของกรอบประมาณการที่ 3.5% ซึ่งอยู่ในทิศทางเดียวกับสถาบันทางเศรษฐกิจหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะ IMF (คาดว่าเติบโต 3.7% ณ เดือน ต.ค.) และ ธปท. (คาดว่าเติบโต 3.8% ณ เดือน ก.ย.)

รวมทั้งสอดคล้องกับมุมมองของ Krungthai COMPASS ซึ่งประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวเร่งขึ้นเมื่อเทียบจากปี 2565 จากแรงหนุนของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งยังจะได้รับปัจจัยหนุนจากการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว

ซึ่ง Krungthai COMPASS คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 จะขยายตัวขึ้นเป็น 21.4 ล้านคน จากปีนี้ที่อาจจะแตะ 10.2 ล้านคน แนวโน้มเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องในปีหน้าจะหนุนการเติบโตของภาคธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การบริโภค และการลงทุน เช่น ธุรกิจโรงแรมและบริการด้านอาหาร ธุรกิจการค้าปลีก และธุรกิจขนส่ง เป็นต้น โดยไทยถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศของโลก (เช่น จีน) ที่คาดว่าการเติบโตของจีดีพีในปีหน้าจะสูงกว่าปีนี้