บาทอ่อนค่า หลังนักลงทุนเทขายพันธบัตร

เงินบาท

เงินบาทอ่อนค่า หลังนักลงทุนเทขายพันธบัตรไทยสุทธิ 8,327 ล้านบาท ขณะที่ตลาดการเงินของสหรัฐปิดทำการในวันมาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์ ขณะที่จีนรายงานเศรษฐกิจปี 2022 ขยายตัวแค่ 3% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ทางการตั้งไว้ที่ 5.5%

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 17 มกราคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/1) ที่ระดับ 32.96/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (16/1) ที่ระดับ 32.97/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ปริมาณการซื้อขายค่อนข้างเบาบาง เนื่องจากตลาดการเงินของสหรัฐปิดทำการในวันมาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์

นอกจากนี้ในช่วงเช้าสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานว่าดัชนียอดค้าปลีกหดตัว 1.8% เมื่อเทียบรายปี น้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้าว่าจะหดตัวลง 8.6% ส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในไตรมาส 4 ขยายตัว 2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการชะลอตัวจาก 3.9% ในไตรมาส 3 แต่อัตราดังกล่าวยังคงสูงกว่าอัตราการขยายตัว 0.4% ในไตรมาส 2 และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 1.8%

อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของทั้งปี 2022 ขยายตัว 3.0% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของทางการที่ราว 5.5% และชะลอตัวรุนแรงจากที่ขยายตัว 8.1% ในปี 2021 ซึ่งหากไม่รวมอัตราการขยายตัวในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2020 โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจีนล่าสุด นับเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1976 เนื่องจากมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ที่เคร่งครัดฉุดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทอ่อนค่าหลังจากนักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรไทยสุทธิ 8,327 ล้านบาท แบ่งเป็นขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น 8,661 ล้านบาท และซื้อสุทธิในพันธบัตรระยะยาว 334 ล้านบาท หลังจากได้มีการซื้อสุทธิ 56,409 ล้านบาทตั้งแต่ต้นปี ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.95-33.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.08/09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (17/1) ที่ระดับ 1.0826/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (16/1) ที่ระดับ 1.0819/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยสำนักงานเศรษฐกิจของเยอรมนี รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนีชะลอตัวลง 0.8% เท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0805-1.0838 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.08/15/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/1) ที่ระดับ 128.40/41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (16/1) ที่ระดับ 128.36/37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยนายชุนอิชิ ซูซูกิ รมว.คลังญี่ปุ่นกล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะพยายามรักษาความเชื่อมั่นในตลาด โดยบริหารจัดการหนี้สินอย่างมีความรับผิดชอบ หลังจากนักลงทุนพยายามกดดันธนาคารกลางญี่ปุ่นให้ยุตินโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ และแรงกดดันดังกล่าวก็ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะ 0.51% ในวันจันทร์ มากกว่ากรอบ -0.5% ถึง +0.5% ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้มีการเปลี่ยนแปลงในวันที่ 20 ธ.ค. ซึ่ง รมว.คลังญี่ปุ่นได้ให้ความเห็นว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดโดยปัจจัยหลายประการในตลาด ซึ่งญี่ปุ่นจำเป็นจะต้องรักษาวินัยทางการคลังเพื่อรักษาความเชื่อมั่นรวมถึงความยั่งยืนทางการคลังในระยะกลางและระยะยาว

ดังนั้น การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอาจส่งผลลบต่อรายจ่ายทางนโยบาย และจะส่งผลให้การคลังของญี่ปุ่นขาดความยืดหยุ่น ทั้งนี้นักลงทุนจึงได้คาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจมีการปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรับมือกับการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 18 ม.ค. และนำไปสู่การดำเนินนโยบายตึงตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 128.28-129.13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 128.73/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีการผลิตรัฐนิวยอร์ก (17/1) ดัชนีราคาผู้ผลิต (18/1) ดัชนียอดค้าปลีก (18/1) จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (19/1) ดัชนีภาคกรผลิตจากธนาคารกลางรัฐฟิลาเดลเฟีย (19/1) และดัชนียอดขายบ้านมือสองในเดือนธันวาคม (20/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11.00/-10.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10.50/-8.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ