ถอดบทเรียนวิกฤตโควิด เข้มงวดรับประกัน ‘ภัยอุบัติใหม่’

นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ถอดบทเรียนวิกฤตโควิด หวังทุกภาคส่วนในระบบนิเวศประกันภัย เข้าใจความเสี่ยงที่เผชิญอยู่ เข้มงวดรับประกันความเสี่ยงอุบัติใหม่ กำหนดมาตรการบริหารความเสี่ยงปรับตามสถานการณ์-Risk Profile ในแต่ละช่วงเวลา ตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักการประกันภัย

 

วันที่ 24 มกราคม 2566 นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวในงานสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 27 “Building a Future-Proof Insurance Industry” ว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย รวมถึงเสถียรภาพของธุรกิจประกันวินาศภัยไทย บริษัทประกันภัย และผู้เอาประกันภัย ในหลากหลายมิติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่ได้รับประกันโควิด-19 อย่างไรก็ตามด้วยความร่วมมือร่วมแรงจากทุกภาคส่วนของธุรกิจประกันวินาศภัย ได้ช่วยธุรกิจแสดงความเป็นมืออาชีพในการฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ

และสามารถก้าวต่อไปเพื่อทำหน้าที่ผู้บริหารความเสี่ยงให้กับภาครัฐและเอกชน และเป็นหลักประกันทางการเงินให้กับประชาชนคนไทย กลุ่มใหญ่ที่สุดที่รับประกันลูกค้าใหม่โควิดอยู่กว่า 10 ล้านคน

โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นบทเรียนสำคัญให้กับทุกภาคส่วนในระบบนิเวศประกันภัย ที่ต้องมีความเข้าใจความเสี่ยงที่เผชิญอยู่ โดยเฉพาะความเสี่ยงอุบัติใหม่ (Emerging Risk) ซึ่งยากต่อการคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ทำให้การกำหนดมาตรการในการบริหารความเสี่ยงจะต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และ Risk Profile ในแต่ละช่วงเวลา ที่สำคัญต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักการประกันภัย

“ทุกภาคส่วนในระบบนิเวศประกันภัยจะต้องร่วมมือกันบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัยทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบประกันภัย โดยตอนนี้กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) จะรับช่วงภาระอันหนักหน่วง เดินหน้าชำระหนี้ให้แก่ผู้เอาประกันเกือบ ๆ 1 ล้านราย ที่ยังไม่ได้รับเงิน” นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าว

ทั้งนี้เงื่อนไขการประกอบธุรกิจในโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ประกอบกับพฤติกรรมและความคาดหวังของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิด Risk Landscape ที่เปลี่ยนไปจากเดิม ฉะนั้นความเสี่ยงที่เราคุ้นเคยก็จะเปลี่ยนไปในอนาคต