เงินบาทปรับตัวในกรอบ ตัวเลขส่งออกไทยชี้เศรษฐกิจชะลอตัว

เงินบาท

เงินบาทปรับตัวในกรอบ ตัวเลขส่งออกไทยยังชี้เศรษฐกิจชะลอตัว หลังกระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขส่งออกเดือนมกราคม 2566 หดตัว 4.5% หดตัวมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และมูลค่าส่งออกลดลงในทุกกลุ่มสินค้า

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/3) ที่ระบ 34.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (1/3) ที่ระดับ 34.78/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในระหว่างวันค่าเงินบาทปรับตัวในกรอบ หลังมีการเปิดเผยตัวเลขด้านการค้าของไทยที่ยังคงบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังชะลอตัว โดยกระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำเดือนมกราคม 2566 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 20,249 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.5% หดตัวมากกว่าตลาดคาดว่าหดตัว 1% โดยมูลค่าการส่งออกลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ต่อจากเดือนธันวาค 2565 ที่ลดลง 14.6% ขณะที่มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 24,899 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.5%

ส่งผลให้ในเดือนมกราคมไทยขาดดุลการค้าเป็นมูลค่า 4,649 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมูลค่การส่งออกในเดือนมกราคม 2566 นั้นลดลงในทุกกลุ่มสินค้า โดยปัจจัยสำคัญที่กดดันการส่งออกของไทยคืออัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงและภาะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว

สำหรับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐระหว่างวันปรับตัวแข็งค่าขึ้นเทียบสกุลหลัก โดยเมื่อคืนวานนี้ (1/3) สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ได้เปิดเผยว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 47.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ จากระดับ 47.4 ในเดือนมกราคม แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 48.0 โดยดัชนีได้หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4

นอกจากนี้ นายนีล แคชแครี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขามินเนอาโพลิส กล่าวว่า เขาเห็นด้วยต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% หรือ 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 21-22 มีนาคม 2566 นี้ และอัตราดอกเบี้ยขั้นสุดท้ายของเฟดจำเป็นต้องสูงกว่าระดับ 5.4%

ซึ่งถ้อยแถลงของนายแคชแครี สอดคล้องกับความเห็นของนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์เช่นกัน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าอยู่ในกรอบระหว่าง 34.64-96 บาท/ดอลลาร์ และปิดตลาดที่ระดับ 34.79/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/3) ที่ระดับ 1.0657/61 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากปิดตลาดเมื่อวันพุธ (1/3) ที่ระดับ 1.0638/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ยูโรแข็งค่าหลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนีรายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 9.3% ในเดือนกุมภาพันธ์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 9% และสูงกว่าเดือนมกราคมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.2%

ซึ่งอัตราเงินเฟ้อในระดับสูงนั้นได้หนุนมุมมองเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ประธาน ECB นางคริสติน ลาการ์ด ได้กล่าวว่า ECB กำลังพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 16 มีนาคม 2566 นี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0624-1.0672 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0631/34 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/3) ที่ระดับ 136.26/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (1/3) ที่ระดับ 135.84/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าจากการแข็งค่าของดอลลาร์ ภายใต้ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อและการที่เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่าที่คาดไว้

นอกจากนี้ นายฮาจิเมะ ทาคะนะ กรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางญี่ปุ่น ได้ให้ความเห็นว่าญี่ปุ่นควรดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างปัจจุบันต่อไป เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่ญี่ปุ่นเผชิญ ณ ขณะนี้นั้นเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 136.00-136.87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 136.42/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหภาพยุโรป ประจำเดือนกุมภาพันธ์ (2/3), อัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปประจำเดือนมกราคม (2/3), จำนวนผู้รับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ครั้งแรกของสหรัฐ ผ2/3), ผลผลิตแรงงานของสหรัฐ ประจำไตรมาส 4 (2/3), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของสหรัฐ จากสถาบัน ISM ประจำเดือนกุมภาพันธ์ (3/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.9/-10.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8.5/-7.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ