PMI ภาคการผลิต-บริการจีนพุ่งแรง หนุนเงินบาทแข็งค่า

เงินบาท

PMI ภาคการผลิต-บริการจีนพุ่งแรง หนุนเงินบาทแข็งค่า นักลงทุนคาดเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือน มี.ค. ขณะที่ปัจจัยในประเทศภาคเอกชนโดยกกร. ชี้การท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหลักในการหนุนเศรษฐกิจไตรมาสแรกฟื้นตัว

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 1 มีนาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/3) ที่ระดับ 35.23/26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (28/2) ที่ระดับ 35.32/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นเวลานานขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

โดยสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟด (Fed Fund Futures) บ่งชี้ว่า  นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือน มี.ค. ซึ่งหมายความว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของเฟดจะอยู่ที่ 5.4% ภายในเดือน ก.ย. เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 4.75% ทางด้านแบงก์ ออฟ อเมริกา โกลบอล รีเสิร์ชยังคงคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนใกล้จะแตะระดับ 6%

อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทยังได้ปัจจัยหนุนจากการที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานในวันนี้ (1 มี.ค.) ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือน ก.พ.อยู่ที่ระดับ 52.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 50.1 ในเดือน ม.ค. และเป็นการขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2555 โดยได้แรงหนุนจากการที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้นหลังจากรัฐบาลจีนประกาศยกเลิกการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์

ข้อมูลจาก NBS ยังระบุด้วยว่า ดัชนี PMI ภาคบริการเดือน ก.พ.อยู่ที่ระดับ 56.3 พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากระดับ 54.4 ในเดือน ม.ค. ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐิจจีนเริ่มฟื้นตัว หลังจากรัฐบาลยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด-19

สำหรับปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน ก.พ. 66 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50 ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน โดยอยู่ที่ระดับ 50.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 49.8 ในเดือน ม.ค. 66 ตามความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการ คำสั่งซื้อ และการจ้างงานที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ และเป็นการปรับดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นทั้งในภาคที่มิใช่การผลิตและภาคการผลิต

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่าการส่งออกของไทยในปี 66 มีโอกาสหดตัวในกรอบ -1 ถึง 0% จากเดิมที่คาดว่าขยายตัวได้ 1-2% ซึ่งสอดคล้องกับการส่งออกประเทศคู่แข่งของไทยในภูมิภาค เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ที่มีทิทางหดตัวเช่นเดียวกัน โดยได้รับผลกระทบจากกิจกรรมภาคการผลิตของโลกที่ยังอยู่ในภาวะหดตัว รวมถึงการปรับสมดุลระดับสินค้าคงคลังหลังจากความต้องการสินค้าที่เคยได้อานิสงส์จากโควิด-19 อยู่ในช่วงขาลง

อย่างไรก็ตาม กกร.มองว่า เศรษฐกิจไทยจะไม่เกิด technical recession (ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเชิงเทคนิค) แม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ในไตรมาส 4/65 จะหดตัว 1.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/65 แต่คาดว่าในไตรมาส 1/65 จะไม่หดตัวต่อจนกลายเป็น technical recession โดยการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนเศรษฐกิจในไตรมาสแรกให้ฟื้นตัวได้ และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี จะเพิ่มสูงถึง 25-30 ล้านคน สูงกว่าประมาณการเดิมที่ราว 22 ล้านคน

กกร.จึงจะคาดการณ์ GDP ทั้งปี 66 ไว้ที่ขยายตัว 3.0-3.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 2.7-3.2% ตามกรอบเดิม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.75-35.28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.79/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/3) ที่ระดับ 1.0575/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนตัวจากปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (28/2) ที่ระดับ 1.0580/81 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0566-1.0650 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0658/49 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/3) ที่ระดับ 136.38/41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (28/2) ที่ระดับ 136.37/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยนยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า โดยได้รับแรงกดดันจากคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าคุมเข้มนโยบายการเงินเป็นเวลานาน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 135.70-136.46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 135.80/82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ US ISM Manuifachuring PMI (1/3), EU CPI (2/3), US Initial Jobless Claims (2/3), UK Services PMI (3/3), US ISM Non-manufacturing PMI (3/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11.25/-10.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.75/-6.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ