ธปท.ลั่นเกาะติดค่าเงินบาทใกล้ชิด ไม่ให้ผันผวน หลังเดือน ก.พ. พลิกอ่อนค่า

ค่าเงินบาท31ตุลา65

ธปท.ลั่นติดตามค่าเงินบาทใกล้ชิด ไม่ให้ผันผวนเกินไป ชี้เหตุการเคลื่อนไหวจากปัจจัยภายนอกหลังตลาดคาดการณ์นโยบายการเงินเฟด และการท่องเที่ยวส่งสัญญาณฟื้น เผยเตรียมทบทวนประมาณการตัวเลขจีดีพีเดือน มี.ค. หลังตัวเลขสภาพัฒน์ไตรมาส 4/65 ออกมา 1.4% ต่ำกว่าคาด

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า

ทิศทางค่าเงินบาทในเดือนมกราคม 2566 มาจากทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก โดยภาพรวมเฉลี่ยปรับแข็งค่าจากมุมมองของตลาดที่มีต่อนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีทิศทางดีขึ้นจากตัวเลขเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะไม่ได้เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ประกอบกับมุมมองต่อภาคการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทย ทำให้ดัชนีค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์

อย่างไรก็ดี ภาพรวมค่าเงินบาทในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ได้กลับข้างมาเคลื่อนไหวอ่อนค่า โดยมาจากตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐ ที่ปรับตัวดีขึ้น และอัตราเงินเฟ้อไม่ได้ปรับลดลงตามคาด ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ต่อนโยบายการเงินของเฟดว่าจะยังคงเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ดอลลาร์กลับมาแข็งค่า และเงินบาทปรับอ่อนค่า ซึ่งปัจจัยการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมาทั้งจากภายในและภายนอก

“ภายใต้การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่มีความผันผวน ธปท.ได้เข้าไปดูแลและติดตามอย่างใกล้ชิดไม่ให้เงินบาทผันผวนเกินไป แต่ปัจจัยของความผันผวนมาจากทั้งปัจจัยภายนอกที่เกิดจากการคาดการณ์ของตลาด ซึ่งหากดูค่าเงินบาทที่มีความผันผวนตอนนี้ยังไม่ได้มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันหรือกระทบต่อเศรษฐกิจ โดย ธปท.ยังคงดูแลอย่างใกล้ชิด”

สำหรับตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในไตรมาสที่ 4/2565 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ที่ออกมา 1.4% ถือว่าต่ำกว่าคาดการณ์นั้น ธปท.จะมีการนำปัจจัยต่าง ๆ มาพิจารณาเพื่อทบทวนตัวเลขประมาณการในเดือนมีนาคมนี้ อย่างไรก็ดี จะเห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในเดือนมกราคมมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น และต่อเนื่องไปยังเดือนกุมภาพันธ์ โดย ธปท.จะมีการทบทวนตัวเลขอีกครั้ง

โดยหากดูภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2566 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการของภาครัฐ ขณะที่มูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 0.8% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ 0.5% สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน สำหรับกิจกรรมในภาคบริการปรับเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทย

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอลงบ้างอยู่ที่ 2.4 ล้านคน เป็นผลมาจากการชะลอตัวลงของจำนวนนักท่องเที่ยวอินเดีย ซึ่งได้ออกมาตรการตรวจ RT PCR ของนักท่องเที่ยวอินเดียก่อนกลับเข้าประเทศในเดือนมกราคม อย่างไรก็ดี ล่าสุดมาตรการดังกล่าวได้ยกเลิกแล้ว ประกอบกับนักท่องเที่ยวจีนและยุโรปยังคงปรับเพิ่มขึ้น

และด้านการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางขยายตัวอยู่ที่ 4.8% จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษา พยาบาลข้าราชการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อใช้ในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านสาธารณูปโภค

ทางด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงมาอยู่ที่ 5.02% จากเดือนก่อน 5.89% ทั้งในหมวดพลังงานและหมวดอาหารสด ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานสูงในปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงอยู่ที่ 3.04% จากเดือนก่อน 3.23% แม้ว่าจะลดลง แต่ยังอยู่ในระดับสูง ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากดุลการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวดจาก 1) หมวดบริการ ตามการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทย 2) หมวดสินค้าคงทน จากการทยอยส่งมอบรถยนต์ตามคำสั่งซื้อในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และ 3) หมวดสินค้าไม่คงทน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ ส่วนการใช้จ่ายหมวดสินค้ากึ่งคงทนปรับลดลงบ้าง

ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อยังคงปรับดีขึ้นจากทั้งการจ้างงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภค เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับดีขึ้นตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ จากการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนหมวดก่อสร้างลดลงจากทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง และยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ

ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อใช้ในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านสาธารณูปโภค

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2.0 พันล้านดอลลาร์ จากดุลการค้าที่ขาดดุลตามการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลเพิ่มขึ้นตามดุลภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น

“เศรษฐกิจไทยเดือนมกราคมปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยกิจกรรมในภาคบริการเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวและภาคการค้า และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและพื้นฐานลดลง แต่อยู่ในระดับสูง หากดูแนวโน้มในระยะข้างหน้าเดือนกุมภาพันธ์ยังคงมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง

โดย ธปท.ยังคงต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ผลของการเปิดประเทศและมาตรการสนับสนุนของจีน รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจเพิ่มขึ้น”