ธปท.-คลัง แก้ล็อก “หนี้นอกระบบ” ขึ้นเพดานดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อย

คลัง ธปท.

ธปท.-คลัง ผนึกแก้ “หนี้นอกระบบ” ส่งสัญญาณเปิดเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ สินเชื่อรายย่อยจากปัจจุบันไม่เกิน 33-36% แบงก์ชาติเปิดรับฟังความเห็น “คิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงลูกหนี้” 14 ก.พ.นี้ ผู้ประกอบการเฮ “LINE BK-เงินเทอร์โบ-ฐิติกร” เตรียมทบทวนแผนปล่อยกู้กลุ่มลูกค้าเสี่ยงสูงขึ้น MTC ลั่นต้องกำหนดระดับความเสี่ยงให้ชัดเจน

เปิดเพดานดอกเบี้ยพีโลน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงแนวทางแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ที่เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ทำให้กลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก จนไม่มีโอกาสที่จะปลดหนี้ จึงมีการหารือเรื่องการผลักดันให้ผู้ประกอบการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และพิโกไฟแนนซ์

รวมถึงสินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (risk based pricing) เพื่อให้ลูกหนี้มีภาระดอกเบี้ยตามความเสี่ยง พร้อมกับการเปิดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยเพื่อให้มีความสามารถเปิดรับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงเข้ามาในระบบได้

“ที่ผ่านมาลูกหนี้จะจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เต็มเพดานเท่ากัน โดยผู้ประกอบการก็สะท้อนถึงการกำหนดเพดานดอกเบี้ยในปัจจุบันให้อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ผู้ใช้บริการเงินกู้รายย่อยกลุ่มนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ทำให้ต้องจัดเก็บดอกเบี้ยเต็มเพดาน รวมทั้งคัดกรองปฏิเสธลูกหนี้ที่เสี่ยงสูงออกไป เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่ได้ ซึ่งกลุ่มนี้เมื่อมีความจำเป็นหรือขาดรายได้ก็ต้องไม่ใช้บริการหนี้ระบบ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยก็สูงกว่าหลายเท่า เช่น กรณีอัตราดอกเบี้ย 10% ต่อปี ก็เท่ากับ 120% ต่อปีเลย”

โดยปัจจุบันผู้ประกอบการสินเชื่อรายย่อยจะคิดอัตราดอกเบี้ยเต็มเพดาน เช่น พิโกไฟแนนซ์ วงเงินกู้ไม่เกิน 50,000 บาท ดอกเบี้ยไม่เกิน 36%, นาโนไฟแนนซ์ วงเงินกู้ไม่เกิน 1 แสนบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 33% ส่วนสินเชื่อบุคคล (พีโลน) ดอกเบี้ยไม่เกิน 25%

14 ก.พ.เปิดแนวทางใหม่

แหล่งข่าวกล่าวว่า เท่าที่ทราบวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ ทาง ธปท.จะเผยแพร่แนวทางหลักเกณฑ์ เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ และประชาชน เรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (risk based pricing) ทั้งนี้ น่าจะเป็นแนวทาง แต่ยังไม่มีการระบุถึงตัวเลขเพดานอัตราดอกเบี้ยใหม่ หลังจากนั้นก็จะมีการรวบรวมสรุปข้อมูลก็คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 เดือนในการจัดทำหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ออกมาในการแบ่งกลุ่มความเสี่ยงลูกหนี้

อย่างไรก็ดี เรื่องการขยายเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ จะต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงนามออกประกาศกระทรวงการคลัง ซึ่งขณะนี้ก็เป็นช่วงที่รัฐบาลใกล้จะยุบสภา ดังนั้นเรื่องนี้ก็คงตกอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ ก็ต้องรอดูว่ารักษาการรัฐมนตรีคลังจะพิจารณาเซ็นออกประกาศหรือไม่

เปิดแนวคิดแก้หนี้นอกระบบ

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ส่วนหนึ่งการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ คือ การเอาคนนอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบให้มากที่สุด ที่ผ่านมา ธปท.อาจทำโครงสร้างดอกเบี้ยให้อยู่ในอัตราที่มีเพดานแคปไว้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ หรือสินเชื่อบุคคลต่าง ๆ ซึ่งการที่แคปเพดานดอกเบี้ยไว้ ทำให้ลูกหนี้กลุ่มหนึ่ง (เสี่ยงสูง) เข้าไม่ถึง และต้องไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ เพราะฉะนั้นในอนาคตถ้าเป็นไปได้ในเรื่องของจังหวะเวลาที่เหมาะสม คงจะต้องทำให้อัตราดอกเบี้ยสอดรับกับความเสี่ยงของลูกหนี้เหล่านั้น เพื่อให้ลูกหนี้เข้ามาอยู่ในระบบให้ได้

“แผนการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนยั่งยืน เรื่องเพดานดอกเบี้ยอาจป็นการแก้ไขทางอ้อมทางหนึ่งที่ทำให้หนี้นอกระบบลดลง แต่เนื่องจากปัจจุบันกลไกดอกเบี้ยที่ตรึงเกินไป ทำให้คนเข้าไม่ถึง ก็ต้องไปนอกระบบ เราก็หวังใจว่าการทำเรื่องของ risk based pricing ให้ผู้ประกอบการกำหนดดอกเบี้ยสินเชื่อ ตามความเสี่ยงของลูกหนี้ จะทำให้ลูกหนี้ที่อยู่นอกระบบ เข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น”

นางสาววิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตอนนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังอยู่ระหว่างการทำโปรเจ็กต์เรื่องเพดานดอกเบี้ย โดยจะผลักดันให้สถาบันการเงินพิจารณาการคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยง หรือ risk based pricing

LINE BK เตรียมแผนตั้งรับ

นายธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด หรือ LINE BK เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หาก ธปท.ปลดล็อกเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ เชื่อว่าผู้ประกอบการรวมถึง LINE BK คงจะต้องมาพิจารณาการปล่อยสินเชื่อใหม่ เนื่องจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เช่น จาก 30-33% เป็น 40% ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่กว้างขึ้น ซึ่งจากเดิมหากเป็นกลุ่มเสี่ยงมาก ๆ อาจจะต้องให้เป็นหน้าที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) เข้าไป อย่างไรก็ดี อาจจะต้องรักษาสมดุลระหว่างการชำระหนี้คืนด้วย นอกจากพิจารณาเรื่องดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว

สำหรับทิศทางการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ของ LINE BK จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้บริษัทเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากคนยังคงมีปัญหาในเรื่องของรายได้ รวมถึงความต้องการสินเชื่อไม่เยอะมาก คาดว่าสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปี 2566 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับคุณภาพหนี้ยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้น

“ผู้ประกอบการหลาย ๆ ที่ก็คงมาพิจารณาใหม่ และมานั่งศึกษากันอย่างจริงจังว่าจะทำอย่างไร เพราะตอนนี้การปล่อยสินเชื่อของนาโนไฟแนนซ์ไม่สูงราว 2-3 หมื่นล้านบาท เทียบกับสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีหลายแสนล้านบาท”

ปลดล็อก-กลไกแข่งขันคุม ดบ.

นายสุธัช เรืองสุทธิภาพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เงินเทอร์โบ จำกัด ผู้ให้บริการนาโนไฟแนนซ์ ที่ล่าสุดธนาคารกสิกรไทยได้เข้าถือหุ้น เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เข้าใจว่า ธปท.มีแนวคิดที่จะเปิดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ หรือพิโกไฟแนนซ์ ออกที่ปัจจุบันคิดในอัตรา 33% ต่อปี เนื่องจากโจทย์ของ ธปท.ต้องการให้คนที่อยู่นอกระบบ และจ่ายดอกเบี้ยแพง ๆ ให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบให้มากที่สุด ภายใต้ผู้ประกอบการที่สามารถดำเนินธุรกิจรับความเสี่ยงได้

โดยที่ผ่านมาสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์มีผู้ประกอบการ 20-30 ราย แต่การปล่อยสินเชื่อยังค่อนข้างน้อย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ย 33% ไม่เพียงพอกับความเสี่ยงและต้นทุนในการบริหารจัดการ ส่งผลให้ผู้ประกอบการป้องกันความเสี่ยง โดยการคัดกรองลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงออกไป ทำให้คนกลุ่มนี้หันไปใช้เงินกู้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง

อย่างไรก็ดี หาก ธปท.มีแนวคิดการยกเลิกเพดานดอกเบี้ย และให้สามารถคิดดอกเบี้ยได้ตามความเสี่ยง หรือ risk based pricing เชื่อว่ากลไกการแข่งขันที่มีจะช่วยให้ดอกเบี้ยไม่ได้เร่งตัวสูงขึ้น แม้ว่าจะไม่มีเพดานดอกเบี้ยแล้วก็ตาม โดยลูกค้ารายเดิมยังคงได้ดอกเบี้ยเท่าเดิม แต่การยกเลิกเพดานจะทำให้กลุ่มที่เคยถูกคัดออกสามารถเข้ามาในระบบได้มากขึ้น

“เราเคยได้ยินแนวคิดนี้มาบ้าง แต่ยังไม่เห็นความคืบหน้า เชื่อว่าโจทย์ของ ธปท.คงมองว่าการแข่งขันในตลาดที่สูง หากปล่อยให้ผู้ประกอบการคิดดอกเบี้ยสูงหน่อย เช่น 38-40% แต่สามารถดึงคนที่เคยกู้นอกระบบที่จ่ายดอกเบี้ยสูง 100-200% น่าจะดีกว่า เพราะจากเดิมแคปดอกเบี้ย 33% คนปล่อยสินเชื่อได้ 5 คน แต่เป็นหนี้เสียไปแล้ว 2-3 ราย เมื่อไม่คุ้ม ผู้ประกอบการก็ไม่ปล่อย”

“เสี่ยงสูง” ดอกเบี้ยไม่คุ้ม NPL

นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจาก ธปท. และกระทรวงการคลังปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์และพิโกไฟแนนซ์ จาก 36% เหลือ 33% เมื่อช่วงปี 2563 มองว่า ยิ่งทำให้การปล่อยสินเชื่อค่อนข้างยาก เนื่องจากต้นทุนขาขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายบริหารติดตามหนี้ที่สูงเมื่อเทียบวงเงินปล่อยกู้เฉลี่ย 2-3 หมื่นบาทต่อราย และความเสี่ยงจากหนี้เสีย ผู้ประกอบการจึงชะลอปล่อยสินเชื่อ ทำให้ตัวเลขการปล่อยน้อยอยู่ที่ 2.5-3 หมื่นล้านบาท เทียบหนี้นอกระบบที่อยู่ในหลักแสนล้านบาท

ดังนั้น หาก ธปท.มีการทบทวนเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์น่าจะเป็นผลดี ทั้งเสนอให้ ธปท.อาจพิจารณากำหนดสูตรเป็นดอกเบี้ยลอยตัวแทนดอกเบี้ยคงที่ หรืออ้างอิงดอกเบี้ยเงินกู้รายใหญ่ชั้นดี (MLR) และคูณเพิ่ม 5-6 เท่าของ MLR เพราะการกดดอกเบี้ยต่ำทำให้การปล่อยสินเชื่อยาก เช่น ประเทศเคนยาต้องการให้บริษัทไมโครไฟแนนซ์ ปล่อยสินเชื่อให้กับรายย่อยที่มีความเสี่ยงสูง และคิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยง แต่ช่วงหลังแคปเพดานดอกเบี้ย ส่งผลให้สินเชื่อปีนั้นหดตัวถึง 25% และบริษัทปิดสาขาในถิ่นทุรกันดาร และปล่อยสินเชื่อเฉพาะเมืองแทน สะท้อนถึงผลของการกำหนดเพดาน

“แม้ว่าเอ็นพีแอลของสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ จะต่ำกว่าพิโกไฟแนนซ์ที่อยู่กว่า 30% เป็นผลจากมาตรการแช่แข็งหนี้ไว้ หากใช้ risk based pricing ก็อาจดูยากหน่อย เพราะนาโนไฟแนนซ์ไม่มีข้อมูลในเครดิตบูโร จึงน่าจะปรับแบบลอยตัวหรือผูกเป็นสูตรไป เพราะท้ายที่สุดการแข่งขันในตลาดจะทำให้ดอกเบี้ยปรับลงมาเอง หรือปลดล็อกไลเซนส์ให้ทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น เพิ่มเรื่องหลักประกันเป็นทางเลือกลูกค้าW

MTC จัดเกณฑ์เสี่ยงลูกหนี้

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด มหาชน หรือ MTC เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หาก ธปท.จะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงลูกหนี้ อาจจะต้องมีการกำหนดเกณฑ์ให้ชัดว่า กลุ่มไหนเสี่ยงสูง กลาง หรือต่ำ เพื่อเป็นบรรทัดฐานนโยบายการปล่อยสินเชื่อไปในแนวทางเดียวกัน โดยปัจจุบัน MTC ปล่อยดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 24-25% เนื่องจากมีหลายผลิตภัณฑ์ และเน้นฐานลูกค้าเก่าที่ต้องการวงเงินเพิ่มเติม

โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ปกติจะสูงกว่าสินเชื่อจำนำทะเบียนประมาณ 0.50% ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตสินเชื่อนาโนประมาณ 5% หรือราว 5,000 ล้านบาท ของคงค้างสินเชื่อรวมทั้งหมด 1 แสนล้านบาท