ส่องรายได้-กำไร สื่อทีวีในตลาดหุ้น ปี 2565 กับเม็ดเงินโฆษณาที่ลดลง

Television โทรทัศน์ สถานีโทรทัศน์

ส่องผลประกอบการ รายได้ และกำไร กลุ่มธุรกิจสื่อโทรทัศน์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2565 กับปัจจัยเรื่องเม็ดเงินโฆษณาที่ยังลดลง

วันที่ 6 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สื่อโทรทัศน์ไทยที่อยู่กับพวกเรามาชั่วลูกชั่วหลาน มาวันนี้อาจกำลังจะล่มสลายได้เพราะไลฟ์สไตล์คนดู ในโลกของยุคอุปกรณ์พกพาและอินเทอร์เน็ต ที่ทำให้เราทุกคนไม่เปิดดูทีวี เพราะสามารถเสพสื่อได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านช่องทางออนไลน์หลากหลายแพลตฟอร์ม ซึ่งล้วนมีผลต่อทิศทางรายได้เม็ดเงินโฆษณา

รายได้เม็ดเงินโฆษณาสื่อทีวี ลดลง 1.4%

โดบพบว่าเม็ดเงินโฆษณาภาพรวมในประเทศไทยในปี 2565 ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 99,000 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.8% จากปีก่อน แต่เม็ดเงินโฆษณาสื่อโทรทัศน์มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 61,800 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 1.4%

สาเหตุที่เม็ดเงินโฆษณาสื่อโทรทัศน์ไม่เติบโตนั้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อตั้งแต่กลางไตรมาส 2/2565 และทวีความรุนแรงขึ้นในไตรมาส 3/2565 (อ้างอิงรายงาน โดย บมจ.เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ (ONEE) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ)

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” จะพาไปสำรวจผลประกอบการในปี 2565 ของช่องทีวีดิจิทัลที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทยว่ามีทิศทางรายได้และผลกำไรเป็นอย่างไรบ้าง

ช่อง 3 รายได้ขายเวลาโฆษณา ลดลง 8%

เริ่มกันที่ บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC) หรือช่อง 3 พบว่าปี 2565 มีรายได้จากการดำเนินงาน 5,115 ล้านบาท ลดลง 10% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (ไม่รวมรายได้อื่น) มาจากรายได้จากการขายเวลาโฆษณา 4,449 ล้านบาท ลดลง 8% และรายได้จากการให้ใช้ลิขสิทธิ์และบริการอื่น 666 ล้านบาท ลดลง 21.3%

โดย BEC ให้เหตุผลว่า มาจากผลกระทบความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ตั้งแต่ต้นปีได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีการขยับสูงขึ้นจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น จึงทําให้กําลังซื้อของผู้บริโภคลดลง และปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรมในหลายจังหวัดในช่วงเดือน ก.ย.ต่อเนื่องเดือน ต.ค. 2565

และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างชัดเจนจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย เพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลให้กําลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ทําให้ผู้ผลิตยังไม่สามารถปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นได้เท่ากับอัตราต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น หลายบริษัทจึงประหยัดค่าใช้จ่ายด้านโฆษณา และใช้งบโฆษณาทางโทรทัศน์ลดลง ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 607 ล้านบาท ลดลง 20.3% จากปีก่อนหน้า

สำหรับมุมมองผู้บริหารระบุว่า แผนกลยุทธ์ในการดําเนินธุรกิจระยะยาว กลุ่มบีอีซีวางแผนที่จะปรับโครงสร้างรายได้ โดยลดการพึ่งพิงรายได้โฆษณาทางโทรทัศน์ลง และเพิ่มรายได้ในส่วนของดิจิทัลแพลตฟอร์ม การจําหน่ายลิขสทธิ์คอนเทนต์ไปต่างประเทศ และธุรกิจใหม่ให้มากขึ้น

สําหรับการผลิตละคร บริษัทมีแผนให้ BEC Studio เป็นหนึ่งในกําลังหลักในการผลิตละคร ซีรีสี์ และภาพยนตร์ที่ปรับวิธีการทํางานและการผลิตคอนเทนต์ให้มีความเป็นสากลมากขึ้น เพื่อรองรับการทําตลาดทั้งในและต่างประเทศให้มากขึ้น

ช่อง ONE กำไรดิ่ง 10.9%

ต่อมาคือ บมจ.เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ (ONEE) หรือช่อง ONE 31 พบว่ามีรายได้จากการดำเนินงาน 6,128 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.6% จากปีก่อน โดยรายได้จากการบริการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ และบริการเวลาออกอากาศทางช่องโทรทัศน์ มีจำนวน 2,938 ล้านบาท ลดลง 1.9% เนื่องจากไตรมาส 4/2565 เป็นต้นมา กลุ่มบริษัทใช้กลยุทธ์รีรันการออกอากาศรายการเพื่อบริหารต้นทุน ส่งผลให้ราคาขายโฆษณาต่อนาทีลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน

ในขณะที่รายได้จากการบริการรับจัดคอนเสิร์ตและบริหารกิจกรรมมีจำนวน 301 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 705.9% ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 738 ล้านบาท ลดลง 10.9%

ช่องเวิร์คพอยท์ กำไรหด 47%

ถัดมาคือ บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (WORK) หรือช่องเวิร์คพอยท์ 23 มีรายได้จากการดำเนินงานรวม 2,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากปีก่อน (ไม่รวมรายได้อื่น) โดยรายได้หลักจากธุรกิจรายการโทรทัศน์ ประกอบด้วย รายได้จากการขายโฆษณาและโปรโมตช่วงเวลาต่าง ๆ ของสถานี และช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ของบริษัท

รวมถึงรายได้จากการให้เช่าช่วงเวลาให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อออกอากาศรายการโทรทัศน์ และรายได้รับจ้างผลิตรายการ และรายได้จำหน่ายลิขสิทธิ์รายการไปยังต่างประเทศมีจำนวน 2,087 ล้านบาท ใกล้เคียงจากปีก่อน

แม้สถานการณ์โควิดจะคลี่คลายลงแล้วแต่ธุรกิจรายการโทรทัศน์ยังคงได้รับผลกระทบจากการลดลงของเม็ดเงินโฆษณาผ่านช่องทางโทรทัศน์ เนื่องจากสภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้รายได้จากธุรกิจรายการโทรทัศน์ยังคงทรงตัว และส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 171 ล้านบาท ลดลง 47%

ช่อง 9 ขาดทุน 41 ล้าน รายได้โทรทัศน์ลดลง 13%

ต่อมาคือ บมจ. อสมท (MCOT) หรือช่อง 9 MCOT 30 ในปี 2565 มีผลขาดทุน 41 ล้านบาท ลดลง 125% จากปีก่อน โดยมีรายได้จากการดำเนินงานรวม 1,408 ล้านบาท ลดลง 11% เป็นผลจากรายได้ของธุรกิจหลักที่เป็นสื่อดั้งเดิม (โทรทัศน์และวิทยุ) ลดลง 12% โดยธุรกิจโทรทัศน์มีรายได้ 414 ล้านบาท ลดลง 13% โดยลดลงจากโครงการประชาสัมพันธ์หน่วยงานภาครัฐ ในรายการประเภทข่าวเป็นหลัก

ส่งผลให้รายได้จากรายการข่าวลดลง 22% แม้ว่า MCOT จะมีรายได้จากธุรกิจให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัลภาคพื้นดิน (BNO) เพิ่มขึ้น 6% และธุรกิจดิจิทัลและธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น 38% ก็ตาม

ช่อง AMARIN รายได้ธุรกิจทีวีดิจิทัลทรงตัว

ถัดมาคือ บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง (AMARIN) มีรายได้รวม 4,274 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.4% และมีกำไรสุทธิ 474 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51.5% โดยในส่วนรายได้จากธุรกิจสื่อทีวีดิจิทัล (AMARIN TV 34) ยังคงรักษาระดับรายได้ไว้ได้ โดยมีรายได้ 1,287 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อนที่มีรายได้ 1,282 ล้านบาท แม้ว่ายอดในการซื้อสื่อทีวีดิจิทัลในอุตสาหกรรมจะมีมูลค่ารวมที่ลดลง

ช่อง MONO รายได้โฆษณาลด 9.6%

และ บมจ.โมโน เน็กซ์ (MONO) มีรายได้รวม 2,091 ล้านบาท ลดลง 4.6% จากปีก่อน โดยมีกำไรสุทธิ 69.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53.3% แต่รายได้โฆษณาลดลง 9.6% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับกลุ่มอุตสาหกรรมโฆษณา สาเหตุหลักเกิดจากภาพรวมเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวช้าทำให้งบโฆษณายังคงทรงตัว

โดยมุมมองผู้บริหารปี 2566 สำหรับธุรกิจทีวีดิจิทัล MONO29 มุ่งเน้นการรักษาฐานลูกค้าเดิมและเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด โดยปรับเพิ่มรูปแบบรายการและผังรายการใหม่เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น

ช่อง JKN รายได้โฆษณาลดลง 34%

ในส่วน บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) มีรายได้รวม 2,669 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.91% และมีกำไรสุทธิ 583.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 236.04% จากปีก่อน แต่สำหรับรายได้ค่าโฆษณาซึ่งเป็นรายได้จากการให้บริการเวลาเพื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่

ทางสถานีโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ช่อง JKN18 (ดำเนินการบริหารสถานีเองตั้งแต่ เม.ย. 2564 เป็นต้นมา) ทางสถานีโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ในช่วงเวลาที่รายการข่าวที่ผลิตโดยสถานีข่าวของบริษัทย่อย ภายใต้ชื่อ JKN-CNBC มีรายได้จากการให้บริการ 17.88 ล้านบาท ลดลง 34.81% จากปีก่อน โดยลดลงจากการขายโฆษณาในช่อง JKN 18

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อหลายธุรกิจในประเทศ จึงทำให้หลายบริษัทในประเทศมีการลดงบประมาณในการใช้สื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ลง นอกจากนี้ ทางช่อง JKN18 อยู่ระหว่างการปรับผังรายการเพื่อเพิ่มความน่าสนใจและเพิ่มเรตติ้งของช่องให้ดีขึ้น