แบงก์ล้มจุดชนวนวิกฤตรอบใหม่ ตลาดหุ้นผันผวนหนัก-หนีซบทองคำ

SVB

สัญญาณเตือนภัย หวั่น 3 แบงก์สหรัฐล้มไฟลามทุ่ง เศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยง hard landing นายกฯสมาคมนักวิเคราะห์ประเมิน สหรัฐเสี่ยงสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย สารพัดปัญหารุมเร้า กสิกรฯเผยกระทบตลาดเงินตลาดทุนอยู่ในภาวะผันผวนยาว 5-6 เดือน นักลงทุนวิ่งหาสินทรัพย์ปลอดภัยดันราคาทองพุ่ง 1,900 เหรียญต่อออนซ์ แนะชะลอลงทุนกองทุนหุ้นสหรัฐ ประเมินเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ยรอบมี.ค. ธปท.-คลังเกาะติดใกล้ชิด

ไม่ซ้ำรอยวิกฤตซัพไพรม

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีธนาคารซิลเวอร์เกต, Silicon Valley Bank (เอสวีบี) และ Signature Bank ซึ่งเป็นธนาคารเฉพาะกลุ่มที่เน้นปล่อยกู้ venture capital และ startup ในสหรัฐล้มละลายนั้น จะไม่เหมือนกับแบงก์ล้มในอดีตที่เกิดจากความผิดพลาดจากการปล่อยสินเชื่อ หนี้เสียพุ่ง หรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับตราสารอนุพันธ์ (DW) เหมือนในช่วงวิกฤตซับไพรม

แต่เหตุการณ์รอบนี้แบงก์ล้ม จากที่อัตราดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นเร็ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริหารจัดการการลงทุนที่ผิดพลาดของธนาคาร ที่รู้ทั้งรู้ว่าเงินฝากเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น แต่นำเงินไปลงทุนตราสารหนี้ระยะยาวมากเกินไป จนเมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดขึ้นเร็ว มูลค่าของพันธบัตรที่ธนาคารซื้อเอาไว้ปรับตัวลดลง ซึ่งถ้าจะขายต้องมีส่วนลด (discount) เพื่อชดเชยดอกเบี้ยของผู้ซื้อตราสาร จนเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องเพราะเผชิญการถูกแห่ถอนเงิน (bank run)

ขณะที่ข้อดีคือ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เข้าใจเหตุการณ์รอบนี้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับการที่แบงก์ปล่อยกู้ผิดพลาด จึงยอมเข้าไปอุ้ม ทำให้มองว่าโอกาสที่จะลุกลามเริ่มน้อยลง แต่เชื่อว่าอาจจะยังคงเกิดปัญหาคนแห่ถอนเงินอยู่ เพราะบางคนอาจรู้สึกกังวล แต่ดีกรีความแรงลดลงมา ประกอบกับแบงก์ขนาดใหญ่ของสหรัฐที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไม่ได้เกิดปัญหา การบริหารจัดการระหว่างทรัพย์สินและหนี้สิน (ALM) ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพราะเฟดค่อนข้างเข้มงวด ระดับเงินกองทุนแบงก์ใหญ่ก็ยังคงแข็งแรงดี ดังนั้นโอกาสแบงก์ล้มลุกลามทั้งระบบเศรษฐกิจคงไม่มาก

หุ้นโลกแกว่งขาลง 2-3 เดือน

นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้นักลงทุนกลับไปสู่โหมดกลัวความเสี่ยง (risk-off) โดยเงินลงทุนไหลออกจากตลาดหุ้นกลับไปสินทรัพย์ปลอดภัย โดยเฉพาะเงินดอลลาร์ที่เชื่อว่าระยะนี้จะยังคงแข็งค่าอยู่ เพราะเฟดน่าจะยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เนื่องด้วยยังไม่แน่ใจเรื่องภาวะเงินเฟ้อ

หากมีความชัดเจนเรื่องเงินเฟ้อสหรัฐเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ซึ่งคงยังไม่ได้เห็นในเร็ว ๆ นี้ รวมไปถึงการคาดการณ์ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยขนาดไหนยังตอบไม่ได้วันนี้ ฉะนั้นในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า ตลาดหุ้นโลกยังอยู่ในโหมดไซด์เวย์ดาวน์ จะขึ้นไปแรง ๆ คงยาก

สหรัฐปิดประตู Soft Landing

นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า ในส่วนตลาดหุ้นไทยคงเกาะกระแสร่วงไปด้วย แต่อาจจะดูดีกว่าตลาดหุ้นโลก เพราะปัญหาแบงก์ล้มที่สหรัฐเผชิญอยู่ แต่ของไทยไม่ได้มีปัญหาอะไร เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ค่อนข้างเข้มงวดมาก เงินกองทุนของแบงก์ไทยแข็งแรงมาก

“เชื่อว่าระบบธนาคารของไทยวันนี้ไม่มีปัญหาเลย และสภาพคล่องในระบบมีสูง ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อไทยเริ่มลดลงแล้วตามราคาน้ำมัน ดอกเบี้ยไม่ได้ปรับขึ้นมาก แต่แน่นอนคงต้องรอให้สภาพตลาดภายนอกดูดีขึ้น เพื่อให้นักลงทุนกลับสู่โหมด risk-on เพื่อให้เงินไหลกลับสู่สินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งตลาดหุ้นไทยมีโอกาสกลับไปเป็นแหล่งพักเงินทุน (safe haven) ในช่วงที่ตลาดหุ้นโลกผันผวนเหมือนปีที่แล้วได้ ที่เราเป็นหลุมหลบภัย เพราะเชื่อว่าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยแน่นอน”

ทั้งนี้ ต้องติดตามว่าหากเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยจะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจและตลาดเงินตลาดทุนแบบ super hard landing หรือ hard landing เพราะวันนี้ผลกระทบแบบ soft landing คงหมดหวังไปแล้ว ทำให้เมื่อเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจริงจะมีปัญหาที่มองไม่เห็นตามมาอีก จึงเป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนยังคงกังวล ดังนั้นภาพตลาดหุ้นสหรัฐช่วงครึ่งปีหลังยัง outperform ได้ยาก

ตลาดหุ้นไทยมีลุ้น Safe Haven

“ประเทศไทยถ้าโชคดี เงินเฟ้อกลับเข้าที่เข้าทาง ดอกเบี้ยขึ้นจนสุดที่ 2% และท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวอย่างดี เลือกตั้งประกาศผลเรียบร้อยไม่ได้มีปัญหาอะไร มีรัฐบาลใหม่และทีมเศรษฐกิจที่ดี จะทำให้ครึ่งปีหลังเรามีโอกาสจะเป็น safe haven ที่ทำให้เงินทุนน่าจะไหลกลับเข้ามาได้” นายไพบูลย์กล่าว

ส่วนการประชุมเฟดรอบวันที่ 21-22 มี.ค. 2566 นี้ นายไพบูลย์คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยแค่ 0.25% จากเดิมที่มองว่าจะขึ้น 0.50% เพราะเฟดน่าจะลังเลเพราะเริ่มมีแบงก์เกิดปัญหา จึงไม่อยากจะเสี่ยงกับความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน รวมทั้งมีเหตุผลให้ขึ้นดอกเบี้ยได้แค่ 0.25% อาทิ อัตราจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ เดือน ก.พ. 2566 ยังสูงกว่า 3 แสนราย และอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ 3.6%

ตลาดผันผวนยาว 5-6 เดือน

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (ห้องค้ากสิกรไทย) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากกรณีธนาคาร SVB และธนาคารอื่น ๆ ของสหรัฐประสบปัญหาจนล้มละลาย จะส่งผลกระทบให้ตลาดเงินและตลาดทุนตกอยู่ในภาวะความผันผวนไปอีก 5-6 เดือนข้างหน้า กว่าที่ความเชื่อมั่นจะทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคสถาบันการเงิน จะมีลักษณะคล้ายกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับธนาคารเลห์แมน บราเธอร์ส เมื่อปี 2551 ซึ่งหุ้นธนาคารร่วงจาก 0.9 เท่าของมูลค่าทางบัญชีลงมาอยู่ที่ 0.3 เท่าของมูลค่าทางบัญชี และทยอยฟื้นตัวหลังนักลงทุนได้เห็นงบการเงินของธนาคาร

“ผมมองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ SVB ไม่แตกต่างจากเดือน ก.ย. 2551 ที่ธนาคารเลห์แมน บราเธอร์สล้ม และมีโอกาสซ้ำรอยเดิม โดยถือเป็นช่วงแรกของเศรษฐกิจขาลง และเป็นช่วงเริ่มต้นจะเห็นว่ามีการประกาศปิดตัวของธนาคารเป็นแห่งที่ 2-3 แห่ง”

อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามว่าความเสียหายจากธนาคาร SVB จะกระจายวงกว้างมากน้อยขนาดไหน และระดับใด เพราะหากย้อนดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เลห์แมน บราเธอร์ส จะพบว่าความเสียหายกระจายและลงลึกมาก โดยมีบริษัท เอไอจี (AIG) ที่เข้าไปรับประกันสินเชื่อให้กับทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในสถานการณ์ดังกล่าว

กระทบ ศก.สหรัฐเข้าสู่ถดถอย

นายกอบสิทธิ์กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสหรัฐ จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกคน ซึ่งหลีกเลี่ยงผลกระทบไม่ได้ เนื่องจากเงินสกุลดอลลาร์ มีสถานะเป็นเงินทุนสำรองของโลก และเฟดก็ถือว่าเป็นธนาคารกลางของโลก หากสหรัฐดำเนินการอะไรทั่วโลกจะได้รับผลกระทบหมด ส่วนไทยหากดูการค้าขายระหว่างประเทศประมาณ 90% ยังคงใช้เงินสกุลดอลลาร์เป็นหลักในการซื้อขายระหว่างกัน ย่อมมีผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแน่นอน

หากดูวัฏจักรการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในอดีต จะพบว่าในการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 14 ครั้ง จะมีประมาณ 12 ครั้งที่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยส่วนตัวมองว่าประมาณ 90% ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้นจริง เพราะปริมาณสินเชื่อเพื่อเข้าสู่ระบบจะหายไป ภายหลังจากสถาบันการเงินล้ม ทำให้กระบวนการปล่อยสินเชื่อหายไป และกระทบเป็นลูกโซ่ต่อภาคเศรษฐกิจ ทั้งการบริโภคและกำลังซื้อ ซึ่งกดดันภาวะเศรษฐกิจสหรัฐไม่ให้เติบโต

คาดเฟดคงดอกเบี้ยรอบ มี.ค.นี้

ทั้งนี้ในการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 21-22 มี.ค.นี้ เชื่อว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 4.50-4.75% เพื่อดูข้อมูลสิ่งที่เกิดขึ้นกับธนาคาร SVB ว่าสาเหตุและความเสียหายที่แท้จริง ก่อนจะมีการพิจารณาทางเลือกและทางออกที่ดีที่สุด และตัดสินใจในรอบการประชุมอีกครั้งในวันที่ 2-3 พ.ค. 2566 เพราะการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อของเฟด ถือเป็นการเพิ่มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้กับสถาบันการเงิน

“ปฏิกิริยาแรกของตลาด คือ หนีตายก่อน เพราะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำให้ตลาดจะอยู่ในช่วงผันผวนไปอีก 5-6 เดือน ก่อนความเชื่อมั่นจะกลับมาเหมือนเดิม ช่วงที่เกิดขึ้นกับเลห์แมน บราเธอร์ส เช่นเดียวกับวิกฤตศรัทธาของเฟดที่หายไป เพราะเหมือนหลับในและปล่อยให้สถาบันการเงินล้ม เพราะเป็นแห่งที่ 2-3 แล้ว ซึ่งในช่วงภาวะระแวงไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจโต และก็ไม่รู้ว่าสถานการณ์จะกระจายวงกว้างหรือไม่ ความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยมีสูงถึง 90% ถ้าเฟดยังสนใจแค่เรื่องเงินเฟ้อ แต่ไม่ได้ดูเสถียรภาพการเงินว่าก็มีต้นทุนเหมือนกัน”

หุ้นไทยร่วงระนาว 2 วันติด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี silicon valley bank ตลาดกังวลว่าจะลุกลามไปยังสถาบันการเงินอื่น ๆ ทำให้เกิดแรงขายหุ้นออกมาอย่างมาก ทั้งสหรัฐและยุโรป ขณะที่หุ้นไทยก็ตกแรงต่อเนื่อง 2 วัน โดยวันที่ 13 มี.ค. ปิดตลาด -26.58 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,573.07 จุด ส่วนวันที่ 14 มี.ค. ปิดตลาดภาคเช้า -20.37 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,552.70 จุด และ ในช่วงบ่ายดัชนี SET ยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ณ เวลา 16.46 น. อยู่ที่ 1,523.89 จุด หรือ -49.18 จุด

หนีซบทองคำดันราคาพุ่ง

นางสาวกฤติกา บุญสร้าง ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า จากที่ห้องค้ากสิกรไทยคาดว่าตลาดจะใช้เวลาต่อการรับรู้ผลกระทบราว 5-6 เดือนก่อนที่วิกฤตจะผ่านพ้น และความเชื่อมั่นกลับคืนมา เมื่อเห็นสัญญาณวิกฤต น้อยคนที่จะอยู่รอดูว่าเป็นวิกฤตจริงหรือไม่ คนส่วนใหญ่มักตื่นตระหนกและหนีไปอยู่ในที่ปลอดภัยก่อนเป็นอันดับแรก
ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับลดลงตลอดทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้นที่ปรับตัวลดลงมากกว่าพันธบัตรระยะยาว ท่ามกลางความกังวลต่อวิกฤตเศรษฐกิจระลอกใหม่

“เราประเมินว่า soft landing ของเฟดอาจไม่เกิดขึ้นจริง และผลกระทบจากการล้มของ SVB ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด” นางสาวกฤติกากล่าว

นางศิริลักษณ์ ปโกฏิประภา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส กล่าวว่า ราคาทองคำ Spot ทะลุแนวต้านสำคัญทางจิตวิทยาที่ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ขึ้นไปได้ จากแรงซื้อทองคำที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย อันเป็นผลจากกรณีธนาคาร SVB ของสหรัฐล้ม

“แม้ว่าเฟด กับกระทรวงการคลังสหรัฐจะออกแถลงการณ์ร่วมกันในการป้องกันผลกระทบ แต่ว่าตลาดก็ยังคงกังวลอยู่ ว่าจะมีผลกระทบกับสถาบันการเงินอื่น ๆ ตามมา เกี่ยวกับสถาบันการเงินและธุรกิจสตาร์ตอัพ”

แนะชะลอซื้อกองทุนสหรัฐ

ขณะที่รายงานข่าวจาก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด ได้ชี้แจงต่อผู้ลงทุนถึงกรณีของ ธนาคาร SVB ถูกปิดกิจการเนื่องจากขาดสภาพคล่องว่า ทาง บลจ.กสิกรไทย ไม่มีการลงทุนตรงใน SVB แต่มีการลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนหลักในสัดส่วนที่น้อยมาก จึงทำให้ได้รับผลกระทบน้อยมากและผันผวนในระยะสั้นเท่านั้น

ทั้งนี้ ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงจะยังคงมีความผันผวนและได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อภาคธนาคารของสหรัฐ แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐจะเข้ามาดูแลปัญหาของ SVB ได้อย่างรวดเร็วแล้วก็ตาม ซึ่งต้องจับตาดูต่อไปว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและกลับมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากเงินและผู้ลงทุนได้มากน้อยเพียงใด และประเมินว่าเหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะไม่ลุกลามและอยู่ในกรอบจำกัด โดยอาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นทั่วโลกได้ในระยะสั้น แต่มองว่าเป็นโอกาสเข้าลงทุนในระยะยาว อย่างไรก็ดี บลจ.กสิกรไทย แนะนำให้ผู้ลงทุนชะลอการลงทุนในกองทุนหุ้นสหรัฐ

ปัญหาและผลที่แตกต่าง

นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย Investment and Markets Research สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กรณี SVB ธนาคารขนาดใหญ่ลำดับ 16 ของสหรัฐ เกิดภาวะ bank run ในอดีตธนาคารล้มจะเกิดจากมีการปล่อยสินเชื่อและมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวนมาก แต่ธนาคารสมัยใหม่มาจากการลงทุน อย่าง SVB ก็มีสัดส่วนสินเชื่อค่อนข้างน้อย แต่มีการลงทุนจำนวนมาก ทำให้ในภาวะตลาดผันผวนจึงได้รับผลกระทบมาก

ทั้งนี้ หากดูผลกระทบต่อไทย 3 ด้าน ได้แก่ 1.สัดส่วนการลงทุนในตลาดพันธบัตร (บอนด์) ธนาคารไทยมีสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับธนาคาร SVB ที่มีพอร์ตการลงทุนพันธบัตรเกินครึ่งของสินทรัพย์รวม จากตัวเลขงบดุลระบบธนาคารไทยย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ก่อนโควิด-19 มีสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรประมาณ 15-20% ของสินทรัพย์ทั้งหมด

ขณะเดียวกันการลงทุนในพันธบัตรของระบบธนาคารไทยส่วนใหญ่ ไม่ได้ลงทุนในบอนด์ระยะยาว ซึ่งโดยธรรมชาติบอนด์ยาวมีความเสี่ยงสูงกว่าบอนด์สั้น ดังนั้นหากตลาดผันผวน ไทยจะกระทบน้อยกว่า

2.ธนาคารต่างประเทศในไทยมีไม่ถึง 10% ของสินทรัพย์รวมของระบบธนาคารไทย โดยธนาคารต่างประเทศในไทยมีอยู่ 12 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธนาคารญี่ปุ่น และเน้นทำธุรกรรมเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ได้เป็นธุรกรรมสินเชื่อ ผลกระทบต่อไทยจึงต่ำ

และ 3.กองทุนรวม กรณีเกิด bank run จะมีผลต่อการปิดกองทุนรวมหรือไม่นั้น มองว่า กองทุนรวมที่ไทยออกไปลงทุนในตลาดสหรัฐมีน้อย ส่วนใหญ่จะมีสัดส่วนในกองทุนรวมแถบตะวันออกและจีนเป็นหลัก แม้ว่าจะมีความผันผวนเกิดขึ้น แต่เป็นการผันผวนตามปัจจัยราคาหุ้น ไม่ได้มาจากปัจจัยพื้นฐานของธนาคาร จึงไม่มีปัญหาถึงขั้นต้องปิดกองทุน

เฟดลดดีกรี “ขึ้นดอกเบี้ย”

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และ SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เชื่อว่าเฟดจะนำประเด็นรอยร้าวที่เกิดขึ้นในระบบสถาบันการเงินแม้จะมีการอุดรอยร้าวนี้ทัน มาเป็นปัจจัยที่ใช้ตัดสินใจในการประชุม FOMC ในวันที่ 21-22 มี.ค.นี้ โดย Fed fund futures และตลาดพันธบัตรบ่งชี้ว่า ตลาดเริ่มประเมินว่าโอกาสที่เฟดจะกลับไปขึ้นดอกเบี้ยแบบเร็วและแรงเริ่มมีน้อยลง

SCB CIO ยังคงมุมมองเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมรอบเดือน มี.ค. สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อ ๆ ไป วิเคราะห์เป็น 2 กรณี คือ

1) Base case (โอกาส 80%) เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% อีก 1-2 ครั้ง ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุดจะอยู่ที่ 5.25-5.5% และคงระดับนี้จนถึงปลายปี 2566

2) Worse case (โอกาส 20%) เฟดให้น้ำหนักกับเสถียรภาพระบบการเงินและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ แต่ยังห่วงเงินเฟ้อที่ลงช้า เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนขึ้นไประดับสูงสุดที่ 5.75-6% และมีโอกาสที่เฟดจะต้องลดดอกเบี้ยลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2566

ธปท.-คลังเกาะติดสถานการณ์

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากข้อมูลในตลาดการเงินโลก ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารโดยรวมปรับลดลง และราคาในการประกันความเสี่ยงปรับเพิ่มขึ้นจากความกังวลต่อการลุกลามไปยังธนาคารอื่น โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเทคโนโลยีและคริปโตเคอร์เรนซี

อย่างไรก็ดี การที่ทางการสหรัฐประกาศคุ้มครองผู้ฝากเงินทุกรายเต็มจำนวน และจัดตั้ง Bank Term Funding Program เพื่อปล่อยสภาพคล่องให้แก่ระบบธนาคาร น่าจะช่วยลดโอกาสที่สถานการณ์จะลุกลามจนส่งผลอย่างมีนัยต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินของสหรัฐ ทั้งนี้ ธปท.จะติดตามสถานการณ์และผลกระทบต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด

สำหรับสถานการณ์ในไทย ผลกระทบจากกรณี SVB ต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยมีจำกัด เนื่องจากไม่มีแบงก์ไทยที่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB และปริมาณธุรกรรมโดยรวมของกลุ่มแบงก์ไทยใน fintech และ startup ทั่วโลกมีน้อยกว่า 1% ของเงินกองทุนของกลุ่มธนาคารไทย

“ที่สำคัญ พบว่าแบงก์ไทยไม่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล ขณะที่กลุ่มธุรกิจของธนาคารถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับต่ำที่ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่ง ธปท.มีการกำกับดูแลธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล และ venture capital ที่เข้มงวด เพื่อป้องกันผลกระทบจากความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มธนาคารพาณิชย์ต่อเงินฝากของประชาชน”

นางสาวสุวรรณีกล่าวด้วยว่า ส่วนค่าเงินบาท ล่าสุดปรับแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ภายหลังนักลงทุนคาดการณ์ว่าเหตุการณ์ข้างต้นจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เงินดอลลาร์ สรอ.ปรับอ่อนค่าลงเร็ว ซึ่งความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินสหรัฐ จะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อตลาดการเงินโลก และความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะถัดไป

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวและประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เบื้องต้นประเมินว่าเหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง


อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และมีความพร้อมที่จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งต่อไป