ทีทีบี จับตาส่งออกหดตัว ฉุดเศรษฐกิจไทยโตไม่ 3%

นายนริศ สถาผลเดชา
นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทีทีบีธนชาต หรือ ttb analytics

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินเศรษฐกิจไทยปี’66 ขยายตัว 3.4% แรงหนุนภาคท่องเที่ยว 29.5 ล้านคน การบริโภคโตแรง 3.9% จับตาภาคการส่งออก -0.5% ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจโตไม่ถึง 3% เหตุการค้าโลกชะลอตัว มองนโยบายการเงินเดินถูก คาด กนง.ขึ้น 2 ครั้งไปอยู่ที่ 2% ต่อปี ด้านค่าเงินบาทสิ้นปี 33-34 บาทต่อดอลลาร์ รับกรอบความผันผวนระหว่างวันเพิ่มขึ้น

วันที่ 21 มีนาคม 2566 นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทีทีบีธนชาต หรือ ttb analytics เปิดเผยว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) อยู่ที่ 3.4% ภายใต้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3 ด้านคือ

1.ภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้ามาอยู่ที่ 29.5 ล้านคน จากปีก่อนอยู่ที่ 11.3 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาประมาณ 5 ล้านคน และไทยเที่ยวไทย 1.1 ล้านคน

2.การบริโภคเอกชนจะกลับมาขยายตัวแรงอยู่ที่ 3.9% จากปีก่อนอยู่ที่ 6.4% ซึ่งกำลังซื้อฟื้นตัวได้ดีทั้งจากสินค้าคงทนและไม่คงทน

3.ภาคการส่งออก ซึ่งเป็นตัวสำคัญในการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเป็นความเสี่ยง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง คาดว่าการส่งออกของไทยปีนี้มีโอกาสไม่เติบโต หรือหดตัว -0.5% ซึ่งหากการส่งออกติดลบมีโอกาสที่จีดีพีจะโตไม่ถึง 3%

เนื่องจากภาคการส่งออกมีสัดส่วนคิดเป็น 65% ของจีดีพี เมื่อเทียบกับภาคการบริโภคในประเทศ 55% และการท่องเที่ยวคิดเป็น 12% แม้ว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัว แต่ยังไม่สามารถชดเชยภาคการส่งออกได้

“จีดีพีปีนี้เราคาดว่าจะอยู่ที่ 3.4% โตจากปีก่อนที่อยู่ 2.6% โดยปีนี้กลับมาขยายตัวช่วงก่อนโควิด-19 แต่การโตยังไม่แรง และคาดว่าจะใช้เวลาอีก 2-3 ปีจึงจะกลับมาโตเท่าศักยภาพ อย่างไรก็ดี ตัวแปรสำคัญในปีนี้และเป็นความเสี่ยงสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวไม่ถึง 3% ได้ คือภาคการส่งออกที่จะเห็นการค้าโลกซึม ๆ ลง แม้ว่าการเติบโตที่ดีของการท่องเที่ยวจะสามารถชดเชยการส่งออกที่ลดลงได้หรือไม่”

“ซึ่งจากการคาดการณ์การส่งออกปีนี้ที่ -0.5% จีดีพีโต 3.4% แต่หากกรณีการส่งออกหดตัวมากกว่านี้ -1% จีดีพีโต 3.1% และกรณีเลวร้ายการส่งออก -3% จีดีพีโต 1.9% ในทางกลับกัน หากภาคส่งออกได้รับแรงหนุนกลับมาเป็นบวก 0.5% จีดีพีโต 4.0% ส่งออกโต 1% จีดีพีโต 4.3%”

สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ๆ ละ 0.25% ต่อปี ไปสู่ระดับ 2% ต่อปี เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของไทยเริ่มเข้าสู่กรอบของ ธปท.ในครึ่งปีหลัง

เช่นเดียวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่คาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นในการประชุมรอบนี้อีก 0.25% และอีกรอบในระดับเดียวกันสู่ระดับ 5.25-5.50% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้น

ด้านค่าเงินบาทในปีนี้ยังมีความผันผวนตามสถานการณ์โลก โดยคาดการณ์สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 33.00-34.00 บาทต่อดอลลาร์ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีความผันผวนค่อนข้างมาก โดยจะเห็นว่าภายใน 1 วัน อัตราความผัวนผวนจะอยู่ในกรอบเฉลี่ย 30-40 สตางค์ ปัจจุบันเพิ่มเป็น 70-80 สตางค์ อย่างไรก็ดี ทีทีบีคาดว่าเงินบาทคงไม่ได้อ่อนค่าไปแตะระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์ แต่ก็ไม่ได้แข็งค่าไปถึงระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์

“ในช่วงที่ผ่านมา แบงก์ชาติของเราถือว่าดำเนินนโยบายได้อย่างเหมาะสมสะท้อนจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หรือเป็นการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับกลุ่มเปราะบางของเรา เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นโดยหลัก ๆ มาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น และขณะนี้ก็ลดลงแล้ว”

ทีทีบี