ความเสี่ยงในวัยเกษียณ 5 ข้อสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ?

บทความโดย พิชญาภัฐฐ์ ทองศรีเกตุ 
นักวางแผนการเงิน CFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

เมื่อคุณลงมือเริ่มต้นวางแผนเกษียณ คุณจำเป็นต้องคำนึงถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีผลทำให้เงินเกษียณอาจหมดเร็วกว่าที่คาดไว้ และเตรียมแผนป้องกัน โอนย้าย หรือ หลีกเลี่ยงความเสี่ยงเท่าที่จะทำได้

ความเสี่ยงวัยเกษียณ 5 ข้อไม่ควรมองข้าม

ความเสี่ยงในวัยเกษียณ มี 5 ข้อสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะจะทำให้คุณเตรียมเงินไว้น้อยเกินไป หรือ คุณอาจถอนเงินวัยเกษียณในช่วงต้นมากเกินไปแบบไม่รู้ตัว จนทำให้เงินเกษียณหมดลงอย่างรวดเร็ว ไม่เป็นตามแผนที่คาดไว้

1.ความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ (Inflation Risk) เป็นความเสี่ยงข้อแรกที่ต้องคำนึงถึงในการคำนวณกองทุนเกษียณให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะภาวะเงินเฟ้อทำให้อำนาจการใช้จ่ายลดลง ทำให้ต้องถอนเงินต่อปีออกมาใช้มากขึ้น ถึงแม้จะมีพฤติกรรมการใช้จ่ายเท่าเดิม แต่ราคาของกินของใช้จะแพงขึ้น วิธีการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อคือนำเงินไปบริหารสร้างผลตอบแทนให้ได้มากกว่าอัตราเงินเฟ้อ ในความเสี่ยงที่คุณสามารถรับได้

2.ความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายพิเศษด้านสุขภาพ (Long Term Care Risk) นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพพื้นฐาน ค่าใช้จ่ายพิเศษในวัยเกษียณที่คนส่วนใหญ่กังวล คือ ค่ารักษาพยาบาลหากตกเป็นผู้ป่วยติดเตียง หรืออยู่ในภาวะพึ่งพิง คุณภาพชีวิตที่เหลืออยู่ของคุณจะเป็นอย่างไร จะแปรตามภาระค่าใช้จ่ายระยะยาวที่คุณสามารถรับผิดชอบได้

แนวทางในการเตรียมตัวกับเรื่องนี้ คือ การทำประกันสุขภาพไว้ให้เพียงพอ ตั้งแต่ในวัยทำงาน เพราะการสมัครประกันสุขภาพเมื่อถึงวัยเกษียณจริงๆ อาจไม่ได้รับความคุ้มครองตามที่คาด เนื่องจากตรวจพบโรคประจำตัวต่าง ๆ

สินค้าที่ตอบโจทย์เรื่องนี้ คือประกันสุขภาพกลุ่มเหมาจ่าย เพราะจะรองรับเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาลในอนาคตได้ และควรเป็นเหมาจ่ายแบบ Deductible คือ มีจ่ายร่วม จะทำให้เบี้ยประกันในวัยเกษียณราคาไม่สูงมากนัก และในปัจจุบันส่วน Deductible สามารถนำมาใช้ร่วมกับสวัสดิการที่มีอยู่ได้ เป็นการขยายความคุ้มครองสวัสดิการวัยทำงานที่มีอยู่เดิมของคุณ โดยไม่ต้องชำระเบี้ยเพิ่มสูงเกินไปนัก

3.ความเสี่ยงจากความผันผวนของผลตอบแทนการลงทุน เงินกองทุนเกษียณมักถูกแนะนำให้วางไว้ในที่ความเสี่ยงต่ำ ซึ่งคนส่วนใหญ่นิยมฝากธนาคาร โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารต่ำมากในเวลานี้ และจะต่ำลงไปอีกเรื่อย ตามภาวะของสังคมผู้สูงวัย ผลของการนำเงินไปไว้ในที่ผลตอบแทนต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ทำให้มูลค่าเงินหดหาย และทำให้เงินไม่พอใช้ตลอดช่วงวัยเกษียณ

ในส่วนของการลงทุน หากจะแบ่งเงินไว้ในหุ้น หรือ กองทุนรวม ผู้ลงทุนก็ควรมีความรู้ ไม่ใช่เพียงแค่ความรู้ในเรื่องของผลตอบแทนและการจัดการความเสี่ยง แต่ต้องมีความรู้เรื่องการถอนเงินด้วยว่า ต่อปีไม่ควรถอนออกมาใช้เกินเท่าไหร่ ทางที่ดีควรวางแผนการถอนเงินให้ต่ำกว่า สภาวะผลตอบแทนการลงทุนที่ได้รับในปีนั้น ๆ และต้องทราบว่าช่วงเวลาไหนที่ไม่ควรถอนเงินออกมาใช้ เพราะจะพบกับ Sequence of Returns Risk ความเสี่ยงในการถอนเงินช่วงตลาดขาลง ทำให้กองทุนเกษียณหมดลงอย่างรวดเร็วมาก

อย่างไรก็ตาม คุณอาจหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการถอนเงินมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ (Excess Withdrawal Risk) ไม่ได้ หากไม่มีเงินส่วนอื่นที่เป็นเงินได้ประจำสำหรับใช้จ่ายในปีที่อัตราผลตอบแทนการลงทุนต่ำไว้เลย การเลือกเครื่องมือทางการเงินในการวางแผนเกษียณจึงมีความสำคัญมาก และต้องจัดการตั้งแต่ในวัยทำงาน

เช่น การทำประกันบำนาญเพื่อสร้างรายได้ประจำหลังเกษียณเตรียมไว้ ประกันบำนาญต้องเริ่มตั้งแต่วัยทำงาน การเลือกลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ก็ควรเลือกตั้งแต่วัยทำงาน เพราะคุณยังสามารถรับความเสี่ยงได้ เรียนรู้ได้ ปรับพอร์ตเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงได้

4.ความเสี่ยงในความเสื่อมของร่างกาย (Frailty Risk) ทำให้การตัดสินใจในเรื่องการจัดการการเงิน การดูแลที่อยู่อาศัย ลดประสิทธิภาพลง การลืมจ่ายบิลค่าใช้จ่ายต่างๆ ความสามารถในการประมวลผลวิเคราะห์ข้อมูลก็จะถดถอยลง ทั้งหมดนี้ จะนำมาซึ่งความเสียหาย ทำให้เสียผลประโยชน์ได้ ดังนั้น การเตรียมตัวเข้าสู่วัยเกษียณจึงต้องปรับรูปแบบชีวิตให้เรียบง่ายที่สุด ลดการบริหารจัดการเรื่องต่างๆลงให้น้อยที่สุด เพราะคุณคงไม่สามารถอ่านเอกสาร หรือ วิเคราะห์ตัดสินใจเรื่องที่ซับซ้อนไปได้ตลอด

5.ความเสี่ยงจากการที่คุณมีอายุยืนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ (Longevity Risk) การมีชีวิตอยู่อย่างยาวนาน จะรับทุกความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า ถ้าคุณอายุสั้นความเสี่ยง 4 ข้อด้านบน ก็จะไม่มีผล

ถึงคุณจะได้ยินข่าวจากคนใกล้ชิดหรือข่าวในสื่อว่าชีวิตคนเรามีความไม่แน่นอน อาจจากไปกะทันหันได้ตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ค่าเฉลี่ยสถิติอายุขัยประชากรทั่วโลกบอกว่า คนเราจะมีแนวโน้มจะอายุยืนขึ้น อาจจะมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 100 ปีก็เป็นได้

เรื่องนี้หากเกิดขึ้นกับตัวคุณ คุณจะเตรียมรับมือไว้อย่างไร เตรียมเผื่อเอาไว้แบบที่ไม่เบียดเบียนชีวิตในปัจจุบัน คือ อายุสั้นก็ใช้ชีวิตมีความสุขดีแล้ว อายุยืนก็เตรียมตัวเตรียมใจไว้แล้ว นี่คือ หัวใจของการวางแผน

เตรียมพร้อมทรัพย์สินทางการเงินเติมเต็มความสุขชีวิต

ชีวิตที่มีความสุขในวัยเกษียณน่าจะเป็นเป้าหมายสูงสุดของทุกคน บทความนี้ขอแนะนำสินทรัพย์ (Asset) 3 อย่างที่คุณต้องเตรียมไปพร้อมกับการเตรียมทรัพย์สินทางการเงิน เพื่อเติมเต็มให้การใช้ชีวิตวัยเกษียณมีความสบายใจ และรู้สึกปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ได้แก่

1.Productive Asset สินทรัพย์ที่เพิ่มความเจริญก้าวหน้าให้กับคุณ เช่น การศึกษา (education) ความรู้ความชำนาญ (skill) ในการประกอบอาชีพ

มีคำกล่าวว่า ทุกๆ 10 ปี คุณควรเรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อสร้างอาชีพใหม่ๆ ให้กับตัวเอง สิ่งที่คุณได้เรียนมาตอนจบมหาวิทยาลัย ไม่สามารถใช้เป็นอาชีพเลี้ยงตัวคุณไปได้ตลอดชีวิต หากคุณมีทักษะวิชาชีพที่สามารถพัฒนาได้หลากหลายติดตัว โอกาสที่คุณจะสร้างรายได้ไม่มีวันเกษียณ ก็จะยาวนานมากยิ่งขึ้น

ความรู้ความสามารถจึงถือเป็นสินทรัพย์ที่ประเมินค่ามิได้เลยทีเดียว และ ทักษะใหม่ ที่คุณได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น เป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้คุณได้ค้นพบศักยภาพแบบไร้ขีดจำกัดของตัวเองได้ ลองคิดดูสิคะว่า มันจะสนุกแค่ไหน ที่เราได้ทำเรื่องท้าทายความสามารถอยู่ตลอดเวลา ได้รับรู้ตระหนักในคุณค่าของตัวเอง Productive Asset ถือเป็นสินทรัพย์เพิ่มพลังชีวิตข้อแรกเลยทีเดียว

2.Vital Asset สินทรัพย์เพื่อสร้างพลังชีวิตข้อต่อไป คือ รูปแบบการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ การมีสุขภาพที่แข็งแรง การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง การมีครอบครัวที่ดี การมีเพื่อนที่ดี ที่สามารถยื่นมือมาช่วยเหลือ ประคับประคองกันได้ในช่วงต่าง ๆ ของชีวิต ใครที่มีสิ่งเหล่านี้อยู่กับตัว ควรมองเห็นคุณค่า และ รักษามันไว้ให้ดี เพราะมันคือหนึ่งในสินทรัพย์อันมีค่าของคุณ

ถ้ามองในแง่วางแผนการเงิน จากผลสำรวจพบว่า การใช้ชีวิตร่วมกัน 2 คน ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็น 2 เท่า เทียบกับคนใช้ชีวิตคนเดียว ดังนั้นการมีคู่ชีวิต หรือมีเพื่อน ญาติ พักอาศัยอยู่ด้วย แชร์ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ร่วมกัน ถ้าหารค่าใช้จ่ายต่อคนแล้ว จะถูกกว่าค่าใช้จ่ายของการใช้ชีวิตคนเดียวอีกค่ะ

3.Transformative Learning Asset ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับเรื่องใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นโดยผ่านการเปิดใจเรียนรู้ได้ตลอดเวลา คุณจะต้องรู้จักตัวเอง (know yourself) เป็นอย่างดีก่อน จึงจะสามารถเข้าใจและรับมือกับเรื่องใหม่จากภายนอกได้

เพราะหากคุณอายุยืนอีกยาวนาน แน่นอนคุณจะต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงอีกหลายยุคสมัย ความสามารถในการปรับตัวจึงเป็นสิ่งจำเป็น เสมือนสินทรัพย์สำคัญอย่างหนึ่งของคุณ

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ท่านได้กล่าวไว้ในงานประชุมวิชาการประจำปี “ระพีเสวนา” ครั้งที่ 10 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) ว่า “ปัจจุบันทักษะการร่วมมือนั้นสำคัญกว่าการแข่งขัน” จะเห็นได้ว่าองค์กรใหญ่ ๆ หลายองค์กร แทนที่จะแข่งกัน กลับหันหน้ามาเจรจา หาความร่วมมือที่จะก้าวหน้า เติบโตไปด้วยกัน

กับคนรอบข้างที่เราใช้ชีวิตอยู่ร่วมด้วยก็เช่นกัน ทั้งเพื่อนที่ทำงาน และคนในครอบครัว แทนที่จะเอาชนะ โต้เถียงกัน หรือแข่งขันกัน หากสามารถเจรจา นำจุดแข็งมาพัฒนาร่วมกันเพื่อส่งเสริมกันได้ ก็น่าจะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการทำเรื่องต่าง ๆ ได้ดีเลยทีเดียว

Assets ทั้ง 3 ข้อนี้ถ้าคุณสามารถสร้างขึ้นได้ รักษาได้ และเพิ่มพูนให้มากขึ้นได้ ก็เชื่อว่าหากคุณเป็นคนที่โชคดี (หรือโชคร้าย) มีอายุยืนถึง 100 ปี คุณก็จะเป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ กล่าวไว้ว่า “ถ้าเลือกได้ไม่อยากอยู่ถึง 100 ปี เพลงที่ยาวเกินไปก็ฟังไม่เพราะ หนังที่ยาวเกินไปก็น่าเบื่อ ชีวิตก็เช่นกัน เพราะมันเหนื่อย แต่ถ้าต้องอยู่ก็พยายามปรับตัวเตรียมใจให้ทุกข์ให้น้อย สุขให้มาก”

ดังนั้นอายุ 100 ปี จะเป็นของขวัญ หรือ คำสาป อยู่ที่การเตรียมพร้อมและปรับตัวนั่นเอง