คุยเปิดอก “ดร.นิเวศน์” สูตรลงทุนแบบ “มองกระจกหลัง”

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
สัมภาษณ์พิเศษ

เมื่อเอ่ยถึงชื่อ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ในวงการตลาดหุ้นเมืองไทย คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก ถือเป็นผู้บุกเบิกการลงทุนที่เรียกว่า “การลงทุนเน้นคุณค่า” (value investor) หรือ VI ในประเทศไทย ทั้งเป็นผู้บุกเบิกการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม จนกระทั่งเป็น “เศรษฐีพันล้าน”

ปัจจุบันในวัยย่าง 70 ปี เพิ่งออกหนังสือ “เด็กวัดดอน ชีวิต ความฝันและการลงทุน” และยังมีงานเขียนบทความให้ความรู้นักลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ล่าสุด กูรูหุ้น VI เปิดบ้านต้อนรับ “ประชาชาติธุรกิจ” ร่วมพูดคุยถอดประสบการณ์การลงทุนอันน่าทึ่ง

“ผมเป็นนักลงทุนระยะยาว ผมจะมองระยะยาวเสมอ แต่สถานการณ์ระยะสั้นมันมีไว้ เผื่อบางทีทำให้เกิดโอกาสเท่านั้น เช่น เกิดประท้วงใหญ่รุนแรง เกิดโรคระบาด หรือราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไป 100 เหรียญต่อบาร์เรล เรื่องเหล่านี้ผมมองว่าเป็นเรื่องชั่วคราว ก็ติดตามเพื่อจะมีโอกาสให้เราเข้าไปลงทุนได้ แต่เป้าหมายของผมอยู่ที่ระยะยาว ซึ่งที่ผมประสบความสำเร็จร่ำรวยขึ้นมาก็มองระยะยาว หุ้นแต่ละตัวถือมาเป็นเวลานับ 10 ปี กว่าจะขาย บางตัวถือมา 10 กว่าปีแล้ว ก็ยังไม่ได้ขายเลย ยังอยู่ในพอร์ต” ดร.นิเวศน์เริ่มต้นเล่าถึงสไตล์การลงทุนของตนเอง

ลงทุนแบบ “มองกระจกหลัง”

ดร.นิเวศน์เล่าถึงสไตล์การเลือกหุ้นว่า จะเน้นดู “การเติบโต” และ “ความเข้มแข็ง” ของกิจการในระยะยาว โดยเฉพาะความเข้มแข็งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ต้องเป็นผู้นำอันดับ 1 มีคุณสมบัติบางอย่างที่คู่แข่งไม่สามารถเข้ามาแข่งได้ หรือมาทำลายได้ แต่ก็ต้องเติบโตด้วย เพราะถ้าถือมา 10 ปีแล้วไม่โต ได้เฉพาะปันผลก็ไม่คุ้ม ซึ่งการโตอาจจะไม่ต้องถึงขั้นหุ้น super growth แต่เติบโตแบบยั่งยืน

“เราเห็นหุ้นบางตัวขึ้นไป 5 เท่า 10 เท่า คนก็มาบอกว่าเป็นหุ้น super growth กำไรมหาศาล หุ้นแบบนี้ผมจะหลีกเลี่ยง เพราะเรารู้ว่าการที่มันเติบโตรุนแรงแบบนั้น จริง ๆ แล้ว 99% ไม่สามารถเป็นหุ้นยั่งยืนได้ เพราะถ้ายั่งยืนได้จะต้องเป็นหุ้นตัวเดียวที่ใหญ่และครองโลกได้ ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะเราเรียนรู้ประวัติศาสตร์เยอะ ผมเป็นนักลงทุน ศึกษานักลงทุนระดับโลกเยอะ

อย่าง ปีเตอร์ ลินซ์ บอกว่า จะมองกระจกหลังเพื่อลงทุนไม่ได้ ต้องมองไปข้างหน้า เพราะกระจกหลังคืออดีต คือสิ่งที่ผ่านมาแล้ว แต่ผมมองอดีตเยอะ เพราะผมรู้สึกว่าถ้าคุณมีประวัติศาสตร์ยาวนานที่เก่งและยั่งยืน อนาคตก็มีโอกาสเป็นแบบนั้นต่อไป มากกว่าจะมองแค่ปัจจุบันกับอนาคตในการลงทุน เพราะพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการคาดการณ์ พอเห็นการเติบโตแล้วคิดว่ามันจะโตแบบนั้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งไม่จริง เพราะหุ้นที่ราคาขึ้นเร็ว ๆ เดี๋ยวมันก็ลง”

การมองกระจกหลัง เป็นการเปรียบถึงการมองประวัติศาสตร์ เพราะประวัติศาสตร์มันให้บทเรียน สอนให้รู้ว่าในที่สุดแล้ว เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร บริษัทจะเป็นอย่างไร บริษัทแบบนี้เคยผ่านประวัติศาสตร์มาแล้ว ฉะนั้นถ้าจะซื้อหุ้นแบบนี้ จะเห็นทิศทางราคาหุ้นโตขึ้นลงยังไง บทเรียนจากประวัติศาสตร์ ทำให้มีความมั่นใจมากกว่า

“เพราะว่ามนุษย์เป็นคนสร้างประวัติศาสตร์ และมนุษย์เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง เป็นสัตว์เศรษฐกิจซึ่งถูกควบคุมโดยยีนของมนุษย์ ซึ่งมีความคิดและการตัดสินใจต่าง ๆ ไม่เปลี่ยนแปลง และการที่เลือกไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม ก็เพราะมองว่าสามารถใช้ประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เป็นบทเรียนการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามได้”

สูตรเลือกหุ้นเข้าพอร์ต

ดร.นิเวศน์เล่าว่า สำหรับตลาดหุ้นไทย ตนไม่ได้ลงทุนเพิ่มมาเป็น 10 ปีแล้ว เพราะหุ้นไทยมีลักษณะไซด์เวย์มาเป็น 10 ปีแล้ว แปลว่า ไม่เกิดโอกาส หุ้นไม่ได้ลงมาก ราคาก็ไม่ถูก ซึ่งหากถามว่า ประเทศไทยมีธุรกิจอะไรที่เติบโตได้ดีในตอนนี้ เป็นปัญหาที่ผมกังวล แต่ก็พอมีอย่างธุรกิจโรงพยาบาล ที่ยังโตพอใช้ถือเป็นเมกะเทรนด์ แต่ประเด็นก็คือ ไม่ได้โตเร็วหวือหวา เพราะสังคมไทยคนแก่ตัวมากขึ้น แต่เด็กเกิดใหม่น้อยลง ซึ่งเด็กกับคนแก่ เป็นกลุ่มที่เข้าโรงพยาบาลกันมาก แต่ถ้ามีแต่คนแก่มาก ส่วนเด็ก ๆ มีน้อย ก็ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลโตได้แค่ระดับหนึ่ง แต่ไม่ถึงกับสตรอง

“ประเด็นสำคัญคือ ถ้าโตเร็วแต่ราคาหุ้นแพง ตรงนี้ก็ไม่คุ้ม จะเล่นหุ้น growth แต่ราคาแพงไป ก็ไม่คุ้ม”

ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวก็มีศักยภาพการเติบโตเป็นเมกะเทรนด์เหมือนกัน แต่ประเด็นคือธุรกิจโรงแรมหา “ผู้ชนะ” ไม่ค่อยได้ ซึ่งประเด็นนี้สำคัญ เพราะในฐานะนักลงทุนต้องหาผู้ชนะให้ได้

ดร.นิเวศน์อธิบายว่า หลักการใหญ่การลงทุนของตัวเองมี 3 หลักการ ก็คือ 1.ต้องเป็นหุ้น “เมกะเทรนด์” 2.ต้องเป็นผู้ชนะ คือต้องเป็นธุรกิจที่บริษัทสามารถสร้างความสามารถการแข่งขัน และคนอื่นทำไม่ได้ และ 3.ราคาหุ้นต้องไม่แพง ซึ่งต้องดูที่ P/E และ price per book

“เรียกว่า 3 หลักใหญ่ ซึ่งถ้าจะให้กลับมาลงทุนในหุ้นไทย ก็ต้องหาหุ้นที่มี 3 องค์ประกอบให้ครบ ซึ่งสำหรับหุ้นไทยตอนนี้ที่จะหาครบ 3 ข้อ หายาก ซึ่งถ้าไม่ครบ ขาดอันใดอันหนึ่งก็ยังไม่ใช่”

ตลาดหุ้นไทยไม่เหมือนเดิม

กูรูวีไอฉายภาพว่า เมื่อ 30 ปีก่อน หุ้นไทยมีลักษณะนี้เต็มไปหมด มีห้างสรรพสินค้าที่เปิดใหม่ ๆ ร้านสะดวกซื้อที่เพิ่งเริ่มต้น สาขายังไม่มาก โดยมีรายที่ทุ่มขยายสาขาจนกลายเป็นผู้ชนะมาจนถึงปัจจุบัน

“เมื่อ 25 ปีก่อน ผมเห็นโอกาสเต็มไปหมด ก็ซื้อหมดตัวเลย มีเงินไม่มาก แต่ซื้อหมดเลย และก็เป็นจริง ผ่านมา 20-30 ปี เราเห็นกำไรมโหฬาร ไม่ต้องทำอะไรมาก เลือกให้ถูก และวางไว้เฉย ๆ”

อย่างไรก็ดี ดร.นิเวศน์ยอมรับว่า ถ้าตัวเองเพิ่งมาเข้าตลาดหุ้นไทยวันนี้ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จ ร่ำรวยแบบสมัยก่อนก็คงยาก เพราะตอนนี้ประเทศไทยอะไรคือเมกะเทรนด์ หายากมาก หรือแม้ว่าจะมี และหาบริษัทที่เป็นผู้ชนะได้ แต่ราคาหุ้นก็แพงมากแล้ว

“ที่ผมพูดไม่ได้หมายถึง ตลาดหุ้นไทยลงทุนไม่ได้นะ แต่จะลงทุนแบบเอากำไรเยอะ ๆ ผลตอบแทนสูง ๆ ยากมาก”

ดังนั้น สำหรับนักลงทุนรายย่อย ดร.นิเวศน์ก็มีคำแนะนำว่า ซื้อกองทุนรวมบ้าง แต่ก็จะหวังผลตอบแทนมากไม่ได้ อาจจะได้สักปีละ 5-7% ต้องพอใจ เพราะถ้าไปฝากเงินได้ 1% ถ้าไปลงทุนอย่างอื่นก็ไม่แน่นอน

“แต่บ้านเราคนที่เข้าตลาดหุ้น ผมยังไม่เคยเห็นใครบอกขอปีละ 5-7% ส่วนใหญ่บอกว่าขอเดือนละ 20% ได้ไหม ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น สิ่งที่คุณได้อาจจะผิดหวัง”

เวียดนามสะท้อนไทย 20 ปีก่อน

ดร.นิเวศน์เล่าถึงการไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามว่า เริ่มเข้าไปตลาดหุ้นเวียดนามประมาณ 6-7 ปีแล้ว ปัจจุบันก็ยังเติมเงินในพอร์ตอยู่เรื่อย ๆ แต่เริ่มน้อยลง เพราะเติมไปมากแล้ว ซึ่งดูแล้วตลาดหุ้นเวียดนามยังดีต่อไปอย่างน้อย 20 ปี เพราะเปรียบเทียบแล้ว เวียดนามมีความเหมือนกับไทยมาก ภูมิประเทศก็เหมือนกัน ไม่แตกต่าง โดยเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ไทยเจริญเร็วมาก เคยเติบโตถึงปีละ 10%

ขณะที่รายได้ของเวียดนามตอนนี้ ก็เหมือนกับไทยเมื่อประมาณ 10-20 ปีก่อน ทำให้มองภาพได้ว่า อีก 20 ปีข้างหน้า เวียดนามจะมีพัฒนาการไปอย่างไร

แต่สิ่งที่แตกต่างคือเวียดนามอาจจะไปเร็วกว่า แม้ว่าตอนนี้อาจจะมีสะดุดบ้าง แต่เป็นเรื่องชั่วคราว และจะสะดุดแค่ 1-2 ปี ก็กลับขึ้นไปได้แล้ว เพราะสมัยปี 2540 ไทยสะดุดแรงมาก แทบจะล้มทั้งประเทศ ตอนนั้นไม่มีใครคิดว่าประเทศไทยหมดอนาคตหรอก ยังไงก็ต้องฟื้นขึ้นมาใหม่และเจริญเติบโตขึ้นมาเยอะ ต่อมาอีก 20 ปี เพราะฉะนั้น เวียดนามไม่มีอะไรแตกต่างเลย เพียงแต่เขาอาจจะมาเร็วและมาแรงกว่าประเทศไทย เพราะเขามีองค์ประกอบความสำเร็จดีกว่าไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว พูดง่าย ๆ คือถ้าจะมองว่าธุรกิจอะไรในเวียดนามจะดี ก็ให้มองเมืองไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

“เรายังจำได้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว บ้านเรารถยนต์ป้ายแดงเต็มถนนเลย ร้านช็อปปิ้งมอลล์เริ่มบูม เปิดกันใหญ่ ร้านสะดวกซื้อก็ขึ้นเยอะ การท่องเที่ยว หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน อย่างธุรกิจประกันดีขึ้นมาก เพราะทุกคนทำประกันกันใหญ่เลย”

สำหรับการลงทุนตลาดหุ้นประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น จีน หรือสหรัฐ “ดร.นิเวศน์” กล่าวว่า ตลาดจีนใหญ่เกินไป รวมถึงวัฒนธรรมที่แตกต่าง และได้ฟังมามากว่า บริษัทที่จีนหลายแห่งมีปัญหา governance รวมถึงอินโดนีเซียที่ไม่ไป ก็เพราะไม่รู้จัก วัฒนธรรมที่ต่างกันมาก ไม่เหมือนเวียดนามที่ไม่แตกต่างกับไทย

ไม่ทรยศอุดมการณ์ไม่ซื้อหุ้น IPO

เมื่อถามว่า ลงทุนสินทรัพย์อื่น ๆ ด้วยหรือไม่ ดร.นิเวศน์กล่าวว่า จริง ๆ แทบจะไม่มีสินทรัพย์อื่นนอกจากหุ้น จะมีก็เงินฝากแบงก์ ซึ่งก็เป็นเงินที่พักเอาไว้รอซื้อหุ้น โดยช่วงที่ผ่านมาก็พักเงินมานาน เพราะในไทยไม่มีโอกาสลงทุน ก็ไปเวียดนาม

ขณะที่ช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยมีกระแสการเล่นหุ้นไอพีโอ ดร.นิเวศน์ประกาศว่า สำหรับตัวเองไม่ซื้อหุ้นไอพีโอ และไม่เคยซื้อ เพราะส่วนตัวมองว่าหุ้นไอพีโอ ก็คือ “It’s Probably Overpriced” เป็นหุ้นที่แบบว่า “คงแพง” ไม่ใช่แบบ value

“ในขณะที่เราเป็น VI ถ้าเราไปซื้อหุ้นไอพีโอ แล้วมีคนมาถามว่าซื้อเพราะอะไร ก็จะตอบไม่ได้ ซื้อเพราะอยากจะกำไรใช่ไหม อยากจะไปขายวันแรก เพราะว่าไอพีโอ คือเข้าไปทุกตัว ราคาขึ้นเอา ๆ โดยเฉพาะตัวเล็ก ๆ แต่เราไม่ซื้อ เพราะต้องซื่อสัตย์ในความคิดของตัวเอง ไม่อย่างนั้นจะเหมือนทรยศต่ออุดมการณ์ของตัวเองในการเป็นนักลงทุนวีไอ แล้วถามว่าจริง ๆ จะทำให้ชีวิตคุณเปลี่ยนไหม เงินที่ได้มาจากการซื้อหุ้นไอพีโอ บอกเลยว่าไม่ เพราะได้มาก็ไม่เยอะ เทียบกับการต้องมาทรยศต่ออุดมการณ์ความคิดของคุณ มันไม่คุ้ม ก็เลยตัดเลย บอกไม่เอา”

หุ้นไทยเน้นซื้อบริษัทเดิมเพิ่ม

ดร.นิเวศน์บอกว่า ปัจจุบันพอร์ตของตนเอง มีสัดส่วนหุ้นไทยอยู่กว่า 60% และหุ้นเวียดนามอีกกว่า 20% โดยหุ้นไทยเป็นหุ้นที่ลงไว้นานแล้ว ไม่ได้ขาย แต่เป็นตัวใหญ่

“บางคนบอกว่า ดร.นิเวศน์ ขายหุ้นไทยไปแล้ว ไม่มีแล้ว ไม่ใช่เลย ผมยังถือหุ้นไทยเท่าเดิม เพียงแต่ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯรายงานผู้ถือหุ้นใหญ่เหลือแค่ 10 อันดับ ซึ่งชื่อผมอาจจะอยู่อันดับ 20 อะไรอย่างนี้ คือต้องเข้าใจว่า บริษัทใหญ่ ๆ จะไปถือหุ้นท็อป 10 คงยาก ตอนนี้ก็ถือหุ้นอยู่กว่า 10 บริษัท ยังเป็นตัวเดิม ๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลง แทบไม่ได้ซื้อตัวใหม่เลย เพราะว่าไม่รู้จะซื้อหุ้นตัวไหน”

“สำหรับพอร์ตในเวียดนามก็มีซื้อหุ้น super stock เพิ่มบ้าง ในพอร์ตมีหุ้นเป็น 100 ตัว เนื่องจากรอบแรกที่เข้าไปใหม่ ๆ ยังไม่ค่อยรู้จักตัวบริษัท รู้แต่ว่าเวียดนามกำลังโตเร็ว ก็รีบจองไว้ก่อน รีบกวาด ซื้อเป็น 100 ตัว แต่ตอนหลังค่อย ๆ ซื้อตัว super stock เพิ่มขึ้นมา จนกระทั่งมี super stock เหมือนเมืองไทยตัวใหญ่ประมาณ 10 ตัว และทยอยซื้อหุ้นตัวเดิมไปเรื่อย ๆ ซื้อแล้วรออีก 10 ปี คือถ้าสามารถได้มาแล้วว่าเป็นหุ้น super stock ราคาไม่แพง ก็ซื้อไปเรื่อย ๆ”

หุ้น Corner จุดอ่อนตลาดไทย

ขณะที่ระยะหลัง ๆ กูรู VI เปิดประเด็นร้อนเรื่องหุ้น corner อย่างต่อเนื่อง “ดร.นิเวศน์” กล่าวว่า เพราะตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดของบุคคลธรรมดา หมายความว่า เจ้าของบริษัท บุคคลธรรมดาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หุ้นที่ขายให้ประชาชนมีจำนวนน้อย ทำให้มีแรงจูงใจที่อยากจะทำให้ราคาหุ้นขึ้น และโครงสร้างของตลาดทุนไทยก็เอื้อ ประเทศไทยไม่มีเรื่องภาษีกำไรจากการขายหุ้น และมีหุ้นตัวเล็ก ๆ ที่ฟรีโฟลตต่ำจำนวนมาก ขณะเดียวกันนักเก็งกำไรก็เยอะ และเป็นนักเก็งกำไรรายใหญ่เยอะ คือมีเงินพอร์ตใหญ่ ๆ ที่สามารถจะซื้อได้ทั้งบริษัท

“ตลาดหุ้นไทยกลายเป็นตลาดของการเก็งกำไร ปัจจุบันมีหุ้นจำนวนมาก ที่มีการกระจายตัวน้อย ฟรีโฟลตต่ำ ทำให้ดันราคาได้ไม่ยาก คือถ้าคุณสามารถซื้อหุ้นได้เยอะ ๆ หุ้นก็จะขึ้น ตามธรรมชาติของดีมานด์ ซัพพลาย พอราคาขึ้น ก็จะดึงดูดให้คนรู้สึกว่าของดี เพราะคนเชื่อว่าหุ้นที่ขึ้น คือหุ้นที่ดี ก็อยากจะไปซื้อ พอเข้าไปซื้ออีก หุ้นก็ยิ่งขึ้น ก็เลยกลายเป็น corner เรียกได้ว่าแรงซื้อมากกว่าแรงขายแบบ 10 เท่า หุ้นก็โดดขึ้นไปเป็นหลาย ๆ เท่า ภายในเวลาสั้น ๆ เป็นตลาดของการเก็งกำไร

และถึงจุดหนึ่งคนต้องขาย เพราะราคามันผิดธรรมชาติ ราคาเกินพื้นฐานไปมาก พอสถานการณ์เปลี่ยนปุ๊บก็จะเกิดการขายทิ้งเอากำไร พอหุ้นลง นักลงทุนเปลี่ยนความคิด หุ้นไม่ดีแล้ว ยิ่งเทขายกันใหญ่ นี่เป็นเกมระยะสั้นที่อาจมีคนที่เป็นนักเก็งกำไรระดับเซียน”

ขณะที่ตลาดหุ้นเวียดนามจะแตกต่าง เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่ในหุ้นเวียดนาม ส่วนใหญ่จะถือแค่ 10-20% เป็นอย่างมาก เรียกได้ว่า เหมือนเป็นบริษัทที่ไม่มีเจ้าของ เพราะบริษัทส่วนใหญ่ในเวียดนามเติบโตขึ้นมาจากการเป็นของรัฐ เพราะเป็นสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์

“ตลาดหุ้นเวียดนามไม่มีเจ้าภาพ ไม่มีขาใหญ่ ไม่มีคนที่จะมาอยากให้หุ้นโตเยอะ ๆ มีน้อยมาก หุ้นเลยจะโตเยอะ ๆ ยาก เพราะฉะนั้นคนที่ไปลงทุนเวียดนามต้องเข้าใจว่า คุณต้องลงทุน base on fundamental เป็นหลัก จะหวังเก็งกำไรยากมาก”

การเมืองต้องเปลี่ยนประเทศ

ทั้งนี้ จากที่ ดร.นิเวศน์มองว่า โอกาสในตลาดหุ้นไทยของนักลงทุนวีไอนั้นยากมากขึ้น ทั้งจากที่ไม่มีหุ้นเมกะเทรนด์ รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่ทรง ๆ และกลายเป็นตามหลังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ขณะที่ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งใหญ่ในวันที่ 14 พ.ค. 2566

“ดร.นิเวศน์” บอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องระดับประเทศ การเมืองต้องเปลี่ยนก่อน ถ้าการเมืองอย่างเดิมก็ไม่มีทางเปลี่ยนได้ เศรษฐกิจก็จะนิ่งต่อไปอีก เพราะหลายปีที่ผ่านมา ตัวเลขทางเศรษฐกิจไทยแม้จะไม่ได้เลวร้าย แต่ก็ไม่ไปไหน ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยโตช้าที่สุดในอาเซียน ประเทศหลัก ๆ ดีกว่าเราหมด (ยกเว้นเมียนมา) ทั้งที่ก่อนหน้านี้เราดีกว่าทุกประเทศ

กูรู VI กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญของ “นักลงทุน” คือต้องรอบรู้ นักลงทุนอย่าคิดว่าคือการศึกษาเรื่องหนังสือลงทุนตลอดเวลา เพราะในมุมของผมวิชาความรู้การลงทุน คือวิชาความรู้เกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และเกี่ยวกับโลก เพราะถ้าศึกษาให้ดี และไม่มี bias วิเคราะห์ทุกอย่างตามความเป็นจริง รวมถึงต้องโกอินเตอร์ อย่างที่แนะนำการลงทุนเวียดนาม เพราะวิเคราะห์แล้วน่าจะดีกว่าลงทุนในไทยตอนนี้