BJC ยื่นไฟลิ่ง “บิ๊กซี” เข้าตลาดฯ แล้ว แพลนขาย IPO กว่า 3,729 ล้านหุ้น

BJC Big C Retail BRC

เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ยื่นไฟลิ่ง บิ๊กซี รีเทลฯ (BRC) เข้าตลาดหุ้น เพื่อขยายกิจการ-คืนหนี้ แพลนขายหุ้น IPO กว่า 3,729 ล้านหุ้น

วันที่ 18 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ตามที่บริษัทฯ ได้เปิดเผยสารสนเทศเกี่ยวกับแผนการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering (“IPO”) และการนำหุ้นสามัญของ บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BRC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 แล้วนั้น

บริษัทขอแจ้งให้ทราบว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2566 BRC ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวนเพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับการเสนอขายหุ้น IPO ของ BRC บริษัทฯ คาดว่าจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 3,729,999,999 หุ้น (รวมจำนวนหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) อาจใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจาก BRC (ถ้ามี)) โดยมีมูลค่าหุ้นที่ตราไว้เท่ากับหุ้นละ 10 บาท โดยหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าว (หุ้น IPO) คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 29.98 ของทุนชำระแล้วของ BRC ภายหลังการเพิ่มทุนและการออกและเสนอขายหุ้น IPO เพื่อเสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรก

ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงผู้ลงทุนหลักโดยเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) ผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนประเภทบุคคลและ/หรือนิติบุคคลอื่น ๆ และ/หรือ ผู้ถือหุ้นของบริษัทเฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้น (Pre-emptive rights) (ถ้ามี) บุคคลผู้มีความสัมพันธ์ของ BRC และ/หรือ บริษัทย่อย ผู้มีอุปการคุณของ BRC และ/หรือ บริษัทย่อย

รวมถึงการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายต่อผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) (ถ้ามี) ตามที่สามารถกระทำได้ตามกฎหมายและที่คณะกรรมการ BRC หรือคณะกรรมการบริหารของ BRC หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ BRC หรือคณะกรรมการบริหารของ BRC เห็นสมควร

โดยภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO บริษัทจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และเป็นผู้มีอำนาจควบคุมของ BRC และ BRC จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัท

สำหรับการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ มีที่ปรึกษาทางการเงิน คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด และมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ลงทุนในการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ, เพื่อชำระคืนเงินกู้ยืม และเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ

“บิ๊กซี” เป็นใคร?

บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทเรือธง (Flagship Company) สำหรับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ และธุรกิจค้าส่งและสนับสนุนการค้าปลีกแบบดั้งเดิมของกลุ่ม BJC และกลุ่ม TCC ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

มีพอร์ตโฟลิโอเป็นร้านค้าหลากหลายรูปแบบ ทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตภายใต้แบรนด์ บิ๊กซี ร้านค้าปลีกและผู้เช่าพื้นที่ในร้านค้าต่าง ๆ โดยรูปแบบร้านค้าดังกล่าวยังช่วยสนับสนุนธุรกิจการขายส่งให้กับลูกค้าผ่านการดำเนินธุรกิจแบบ B2B และธุรกิจสนับสนุนการค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) ของบริษัทฯ อีกด้วย

การดำเนินธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจค้าส่งของบริษัทฯ ยังครอบคลุมไปถึง การสั่งผลิต การนำเข้าและการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาและการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ อันมีส่วนเกี่ยวข้องเกื้อหนุนกับการค้าปลีก และ/หรือการค้าส่งของกลุ่มบริษัทฯ ด้วย

บริษัทนำเสนอรูปแบบการค้าปลีก การค้าส่ง และการสนับสนุนการค้าปลีกแบบดั้งเดิมที่ครอบคลุม และนำเสนอสินค้าที่คุ้มค่าและหลากหลายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการและความชื่นชอบที่แตกต่างกันของกลุ่มลูกค้าและผู้เช่าพื้นที่ ทั้งทางช่องทางออนไลน์ผ่าน Omnichannel Platform และช่องทางออฟไลน์โดยอาศัยพื้นที่ร้านค้า (Retail Venue) ของบริษัทฯ และเครือข่ายกลุ่มธุรกิจรวมถึงร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม

นอกจากนี้ BRC ยังมีระบบโปรแกรมสิทธิพิเศษบิ๊กพอยต์ที่ BRC เป็นเจ้าของ ซึ่งมีสมาชิกในระบบโปรแกรมสิทธิพิเศษบิ๊กพอยต์กว่า 18 ล้านราย โดย BRC ได้มีการคิดค้นและริเริ่มระบบโปรแกรมสิทธิพิเศษดังกล่าวนับตั้งแต่ปี 2552

บิ๊กซี กับ 3 กลุ่มธุรกิจ

สำหรับการดำเนินธุรกิจ บริษัทฯ มีการดำเนินธุรกิจหลากหลายรูปแบบ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ (1) ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (2) ธุรกิจค้าส่งและสนับสนุนการค้าปลีกแบบดั้งเดิม และ (3) ธุรกิจอื่น ๆ โดยการดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่ของบริษัทฯ อยู่ในประเทศไทย และ บริษัทฯ มีการดำเนินธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่บางส่วนในประเทศกัมพูชา

ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่

สำหรับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ของบิ๊กซี จะดำเนินการใน 3 รูปแบบ คือ

1. ร้านค้าในรูปแบบร้านค้าขนาดใหญ่ ภายใต้แบรนด์บิ๊กซีต่าง ๆ (ได้แก่ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า บิ๊กซี เพลส บิ๊กซี มาร์เก็ต และ บิ๊กซี ฟู๊ดเพลส) โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทฯ เป็นเจ้าของและดําเนินงานรูปแบบร้านค้าขนาดใหญ่จำนวน 200 แห่งในประเทศไทยและรูปแบบร้านค้าขนาดใหญ่จำนวน 1 แห่งในประเทศกัมพูชา

2. ร้านค้าในรูปแบบร้านค้าขนาดเล็กของบริษัทฯ โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทฯ มีรูปแบบร้านค้าขนาดเล็กรวม 1,509 สาขา (ในจํานวนนี้มีร้านค้าจำนวน 55 สาขาในประเทศไทยซึ่งดําเนินงานโดยผู้รับแฟรนไชส์ที่เป็นบุคคลภายนอก และ 60 สาขาในประเทศลาวซึ่งบุคคลภายนอกเป็นเจ้าของและได้รับสิทธิให้ใช้เครื่องหมายการค้าในการดำเนินงาน ในขณะที่บริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินงานร้านค้าที่เหลือจำนวน 1,394 สาขา)

รูปแบบร้านค้าขนาดเล็กของบริษัทฯ ประกอบด้วย

  • บิ๊กซี มินิ จำนวน 1,430 สาขาในประเทศไทย และ จำนวน 17 สาขาในประเทศกัมพูชา และร้านค้า Kiwi Mart จำนวน 2 สาขาในประเทศกัมพูชา ซึ่งอยู่ระหว่างการรีแบรนด์เป็นร้านค้าภายใต้แบรนด์บิ๊กซี
  • B’s Mart ร้านสะดวกซื้อในประเทศเวียดนาม ซึ่งได้รับโอนเครื่องหมายการค้า “B’s Mart” จาก BJC ในปี 2566 แล้ว และให้สิทธิการใช้เครื่องหมายการค้า “B’s Mart” แก่บุคคลภายนอกเพื่อดำเนินงานร้านสะดวกซื้อในประเทศเวียดนาม ซึ่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีร้านค้า B’s Mart จำนวน 78 สาขา

3. ธุรกิจตลาด Open-Air พื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีผู้เช่าพื้นที่ค้าปลีก (Retail Space) จากบริษัทฯ เพื่อจำหน่ายอาหารสด อาหารปรุงสุก และสินค้าอุปโภคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารหลากหลายประเภท โดยในปัจจุบัน บริษัทฯ ดำเนินงานตลาด Open-Air 2 รูปแบบ ได้แก่

  1. ตลาดกลางคืน (ภายใต้แบรนด์ตลาดเดินเล่น) เน้นกลุ่มลูกค้าในเมือง
  2. ตลาดสดกลางวัน (ภายใต้แบรนด์ตลาดครอบครัวและตลาดทิพย์นิมิตร)
    • ตลาดครอบครัว – เน้นกลุ่มลูกค้าครัวเรือนรายย่อยทุกประเภท โดยมุ่งเน้นไปที่อาหารและผลิตภัณฑ์ปรุงอาหาร ตลอดจนแผงขายอาหารพร้อมทาน
    • ตลาดทิพย์นิมิตร – เน้นเข้าถึงลูกค้ารายย่อยทั่วไป โดยผู้เช่ามีทั้งเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าทางการเกษตร เช่น การขายส่งผลไม้ และผู้ค้ารายใหญ่และรายย่อยที่จำหน่ายสินค้าของสด อาหาร และดอกไม้

ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทฯ เป็นเจ้าของและเป็นผู้ดําเนินงานตลาด Open-Air จำนวน 7 แห่งในประเทศไทย

ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ของบริษัทฯ ยังรวมถึงร้านค้าบิ๊กซี ฟู๊ด เซอร์วิส ร้านค้าบิ๊กซี ดีโป้ และ Omnichannel Platform โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทฯ มีร้านค้าบิ๊กซี ฟู๊ด เซอร์วิส 3 สาขาในประเทศไทย และร้านค้า บิ๊กซี ดีโป้ จำนวน 11 สาขาในประเทศไทย รวมถึงช่องทาง Omnichannel ทั้งเว็บไซต์บิ๊กซี ออนไลน์ แอปพลิเคชันบิ๊กซี พลัส (Big C PLUS) ร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสของผู้ให้บริการภายนอก แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของบริษัทฯ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังดำเนินธุรกิจให้เช่าพื้นที่ (Town Center Business) ในพื้นที่ร้านค้า (Retail Venue) หลากหลายประเภทของร้านค้าบิ๊กซีของบริษัทฯ โดยให้เช่าพื้นที่ค้าปลีก (Retail Space) ภายในพื้นที่ร้านค้า (Retail Venue) กับกลุ่มผู้ประกอบการภายนอกและแบรนด์ร้านค้าของบริษัทฯ

ธุรกิจค้าส่งและสนับสนุนการค้าปลีกแบบดั้งเดิม

ธุรกิจค้าส่งและสนับสนุนการค้าปลีกแบบดั้งเดิมของบริษัทฯ ประกอบด้วย

1. การทำธุรกิจแบบ B2B โดยตรงกับกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจแบบ B2B โดยตรงกับกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่มากกว่า 77,000 รายที่สั่งซื้อสินค้าในปริมาณมากในราคาขายส่ง

2. การขายสินค้าให้กับร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมจำนวนประมาณ 1,000 สาขา ที่ดำเนินงานโดยเจ้าของร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมในประเทศไทยภายใต้โมเดลร้านค้าโดนใจของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ ใช้ประโยชน์จากระบบโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการสินค้าคงเหลือของบริษัทฯ ในการสนับสนุนการขายสินค้าดังกล่าว

ธุรกิจอื่น ๆ

ธุรกิจอื่น ๆ ที่อยู่ในการดูแลของบิ๊กซี ได้แก่

1. ร้านขายยาเพรียว เป็นเครือข่ายร้านขายยาที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ร้านค้า (Retail Venue) ของบิ๊กซีที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยา สินค้าด้านสุขภาพและความงาม และให้บริการด้านเภสัชกรรมแก่ลูกค้ารายย่อย โดยมีร้านขายยาเพรียว 146 สาขาในประเทศไทย

2. ร้านขายยาสิริฟาร์มา ซึ่งเป็นร้านขายยานอกพื้นที่ร้านค้า (Retail Venue) มี 1 สาขาในประเทศไทย

3. ร้านกาแฟวาวี ในประเทศไทยทั้งหมด 60 สาขา (ประกอบด้วยร้านที่บริษัทฯ เป็นเจ้าของและดำเนินงานเองจำนวน 52 ร้านและร้านแฟรนไชส์จำนวน 8 ร้าน)

4. บริษัท เอเซียบุ๊คส จำกัด นำเข้าและจัดจำหน่ายหนังสือและนิตยสารผ่านเครือข่ายร้านหนังสือภายใต้แบรนด์ “เอเซียบุ๊คส” และ “บุ๊คกาซีน” ในประเทศไทย และจัดจำหน่ายให้กับลูกค้าองค์กรในประเทศอื่นๆ เช่น ลาว และกัมพูชา โดยมีร้านหนังสือ 54 สาขาในประเทศไทย

นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้จากการให้บริการสนับสนุนด้านต่าง ๆ โดยให้บริการรับชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์ Big Service แก่ลูกค้าในร้านค้าบิ๊กซี และให้บริการด้านทรัพยากรบุคคลในการส่งผู้บริหารเพื่อให้บริการบริหารจัดการแก่กลุ่ม TCC ในการดำเนินงานของร้านค้า MM Mega Market ของ MMVN ในประเทศเวียดนาม

รวมถึงให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลแก่ผู้จัดหาสินค้า (Supplier) ของร้านค้าบิ๊กซีบางราย โดยวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บและรวบรวมจาก Omnichannel Platform นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้เช่าพื้นที่โฆษณาภายในพื้นที่ร้านค้า (Retail Venue) ด้วย

ส่องความแกร่ง “บิ๊กซี”

ข้อมูลจากหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 ระบุว่า เมื่อปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้รวม 113,573 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีรายได้รวม 111,107 ล้านบาท ขณะที่ผลกำไร/ขาดทุนของบริษัท ในปี 2565 กำไรอยู่ที่ 6,757 ล้านบาท ลดลงจากปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 7,333 ล้านบาท

ขณะที่สัดส่วนผู้ถือหุ้นในปัจจุบัน BJC ถือหุ้นใน BRC 100% และเมื่อเสนอขายหุ้น IPO เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สัดส่วนการถือหุ้นของ BJC จะลดลงเหลือ 70.02% และเป็นสัดส่วนของประชาชนทั่วไปที่ 29.98% ซึ่งเป็นสัดส่วนหุ้นที่มาจากการเสนอขายหุ้น IPO กว่า 3,729 ล้านหุ้น

ส่วนนโยบายการจ่ายปันผล บิ๊กซีฯ ระบุว่า ใช้หลักเกณฑ์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิของผลประกอบการโดยรวมของกลุ่มบริษัทฯ โดยไม่รวมกำไรหรือขาดทุนจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน และหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กฎหมายและข้อบังคับบริษัทกำหนดไว้