หวั่นขั้วรัฐบาลใหม่รื้องบฯ สภาพัฒน์ตั้งรับบี้รัฐวิสาหกิจลงทุน

รื้องบประมาณ

ภาคธุรกิจ-การเงินห่วงการจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อ กระทบงบประมาณปี 2567 ล่าช้ากว่า 3 เดือน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยหวั่นขั้วรัฐบาลใหม่รื้องบฯลงทุน โปรเจ็กต์ลงทุนใหม่ไม่เกิด ระบุโจทย์ใหญ่รัฐบาลใหม่ ต้องตั้งรับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ฉุดส่งออกไทยฟุบยาว เลขาฯสภาพัฒน์ เตรียมแผนดัน “รัฐวิสาหกิจ” เร่งงบฯ ลงทุน 2 แสนล้าน ช่วยประคองเศรษฐกิจ “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้โลกมีความไม่แน่นอนสูง ต้องให้ความสำคัญ “เสถียรภาพเศรษฐกิจ” มากกว่ากระตุ้นระยะสั้น ส.อ.ท.ห่วงรัฐบาลใหม่ดีเลย์ประเทศไทยเจอ 2 เด้ง

หวั่นขั้วรัฐบาลใหม่รื้องบฯ

ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การจัดตั้งรัฐบาลหากล่าช้าออกไป ลำพังช้าเพราะกระบวนการที่ต้องรอการรับรองผลจาก กกต. ซึ่งกรณีนี้คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นแน่นอน และคงมีผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ที่จะสะดุดไปบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องที่สามารถไปเร่งรัดได้ในไตรมาสถัด ๆ ไป ทำให้กรณีนี้ไม่ค่อยน่าห่วงนัก

แต่ประเด็นที่ต้องติดตามก็คือ หากรัฐบาลใหม่ เป็นรัฐบาลที่มีการเปลี่ยนขั้วไปจากเดิม โดยหลักแล้วก็คงมีการเข้ามารื้อโครงการต่าง ๆ ที่รัฐบาลก่อนหน้านี้วางเอาไว้ รวมถึงการเข้ามาปรับแก้กรอบงบประมาณปี 2567 ที่ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว แต่ยังไม่ผ่านกระบวนการรัฐสภา เพื่อให้สอดรับกับนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ดังนั้นก็จะทำให้ยิ่งเกิดความล่าช้ามากกว่ากรณีแรก ซึ่งตรงนี้น่าเป็นห่วงมากกว่า ว่าจะใช้เวลานาน เพราะแต่ละพรรคเท่าที่ฟังนโยบายหาเสียง ก็ต่างมีสิ่งที่ตัวเองจะทำในเรื่องเศรษฐกิจที่แตกต่างกันออกไป

“ถ้าแค่รอ กกต.รับรอง หรือแค่ตั้งคณะรัฐมนตรี ก็อาจจะมีผลกระทบแค่ 3-4 เดือน แต่ถ้าเปลี่ยนมากกว่านั้น คือเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ที่มีแนวคิดต่างไปจากรัฐบาลที่ผ่านมา ก็คงต้องเข้ามาไล่ดูงบฯลงทุนโครงการต่าง ๆ ใหม่ ถ้าเขามีข้อสงสัยหรือไม่เห็นด้วยกับโครงการของรัฐบาลก่อนหน้า ก็จะทำให้การเดินหน้าโครงการชะลอออกไป ก็คงจะไม่ใช่แค่ล่าช้า 3-4 เดือนแล้ว ก็คงนานกว่านั้น” ดร.เชาว์กล่าว

เรื่องด่วนรับมือ ศก.โลกชะลอ

ดร.เชาว์กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรเร่งดำเนินการ หลังจากเข้ามาแล้ว โจทย์สำคัญคือ เตรียมการรับมือเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปที่จะชะลอตัวในไตรมาส 4ปีนี้ ซึ่งจะกระทบกับภาคการส่งออกของไทย และอาจจะทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปจากเดิมที่คาดการณ์กันไว้ว่า ไตรมาส 4 ส่งออกจะฟื้น ก็อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น

“ไตรมาส 4 ส่งออกที่ว่าจะฟื้น ก็จะเจอสหรัฐ ยุโรปชะลอ เพราะดอกเบี้ยสหรัฐอาจค้างระดับสูงอยู่นาน ไม่ลง แล้วก็เรื่องแบงก์ที่ยังมีปัญหา ยังไม่นิ่งอีก ดังนั้น โจทย์สำคัญก็คือจะรับมือการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐกับยุโรปยังไง” ดร.เชาว์กล่าว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า อัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะประกาศในวันที่ 15 พ.ค.นี้ คาดว่าจะขยายตัวได้เกือบ ๆ 3% ซึ่งผลกระทบหลัก ๆ มาจากการส่งออกที่ชะลอตัวค่อนข้างมาก เงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูง รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกระทบกับกำลังซื้อของประชาชน เห็นได้จากเดือน มี.ค. ตัวเลขยอดขายรถติดลบ อย่างไรก็ดี ยังมีการท่องเที่ยวที่ช่วยพยุงไว้ ไม่ให้ตัวเลขออกมาแย่เกินไป

งบฯช้า 3 เดือน ลงทุนใหม่หาย

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ตามที่สำนักงบประมาณคาดการณ์ไว้ การจัดทำงบประมาณปี 2567 น่าจะล่าช้าประมาณ 1 ไตรมาส หรือ ต.ค.-ธ.ค. 2566 ซึ่งจะมีการใช้งบฯปี 2566 ไปพลางก่อน ดังนั้นรายจ่ายประจำยังใช้ได้ปกติ และงบฯลงทุนที่เป็นโครงการต่อเนื่องก็ยังสามารถเบิกจ่ายได้ มีเพียงโครงการลงทุนใหม่ ๆ เท่านั้นที่ยังต้องรอ ซึ่ง สศค.ประเมินแล้วมีผลกระทบไม่มาก อย่างไรก็ดี การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า จะมีผลกระทบในแง่เซ็นติเมนต์ ความเชื่อมั่นมากกว่า

ดันรัฐวิสาหกิจลงทุน 2 แสน ล.

ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ทำให้การจัดทำงบประมาณปี 2567 ล่าช้าออกไปนั้น ในแง่ภาคเอกชน ทั้งการลงทุน การบริโภค รวมถึงการท่องเที่ยว คงไม่มีผลมาก แต่ที่จะมีผลก็คือ เงินลงทุนของภาครัฐที่เป็นโครงการใหม่ ๆ อาจจะไม่มีในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 เพราะหากตั้งรัฐบาลยังไม่เสร็จ ก็ต้องใช้งบฯปี 2566 ไปพลางก่อน ซึ่งจะได้ใช้แค่งบฯประจำ พวกจ่ายเงินเดือนข้าราชการ แต่งบฯลงทุนใหม่จะหายไป เว้นแต่งบฯที่ผูกพันไว้เดิม

“ไตรมาส 4 งบฯลงทุนรัฐก็จะลดลงไป เม็ดเงินจะหายไปส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ดี ผมกำลังเตรียมเรื่องงบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท ถ้าตั้งรัฐบาลได้เมื่อไหร่ ก็จะเอาเข้า ครม. เพื่อให้เดินหน้าส่วนนี้ไปก่อน ซึ่งตอนนี้ก็ให้รัฐวิสาหกิจเตรียมเรื่องจัดซื้อจัดจ้างไว้ล่วงหน้า เพื่อจะได้เร็ว”

เลขาธิการ สศช.ยอมรับว่า หากรัฐบาลใหม่มีการรื้อกรอบงบฯปี 2567 ใหม่ ก็คงต้องใช้เวลา โดยเฉพาะหากกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่เลย อย่างไรก็ดี เมื่อถึงตอนนั้นก็คงต้องหารือกัน เพราะจะมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ด้วย

“ปัญหาเร่งด่วนก็คือ ต้องเร่งเรื่องการส่งออกให้ได้” เลขาธิการ สศช.กล่าว

“ประสาร” ขอรักษาเสถียรภาพ

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า เรื่องงบประมาณปี 2567 ล่าช้าจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่นั้น ไม่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากรัฐบาลจะสามารถใช้งบฯไปพลางได้ อย่างไรก็ดี หากยืดเยื้อลากยาวเกินไปก็คงจะไม่ดี เพราะจะริเริ่มโครงการใหม่ ๆ อะไรไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องการลงทุน

ส่วนความกังวลเรื่องรับมือเศรษฐกิจโลกชะลอตัวนั้นคงไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์ แต่ความไม่แน่นอนที่มีมากขึ้น คงต้องกลับมาให้ความสนใจให้น้ำหนักในเรื่องเสถียรภาพเศรษฐกิจให้มากขึ้น เพราะหากเสถียรภาพดี การเจริญเติบโตก็จะดี และจะผ่านพ้นความไม่แน่นอนไปได้

กรณีหากได้รัฐบาลเสียงข้างน้อย ดร.ประสารกล่าวว่า อาจจะไม่ค่อยดี เพราะจะไม่กล้าตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ซึ่งหากต้องเผชิญกับเศรษฐกิจที่ไม่ดี ก็จะกระทบการตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุน

นอกจากนี้ ดร.ประสารกล่าวด้วยว่า รัฐบาลใหม่ไม่จำเป็นต้องรื้อนโยบายเดิมที่มีอยู่แล้ว หากเป็นนโยบายที่ดีก็สานต่อได้ และฝากว่า โดยธรรมชาติเวลามีเลือกตั้ง พรรคการเมืองก็จะแข่งขันนโยบายกัน นำเสนอนโยบายที่เรียกร้องความสนใจ เพื่อให้โดนใจประชาชนในวงกว้าง แต่บางนโยบายจะมีผลแค่ระยะสั้น และอาจจะกระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจ

“ยามที่โลกประสบความไม่แน่นอนสูง ทุกคนก็จะให้น้ำหนักกับเสถียรภาพเศรษฐกิจ เวลาเขามองเข้ามา เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพหรือไม่ อย่าไปทำอะไรที่สร้างข้อสงสัย ถ้าเรามีพื้นฐานดีพอควรในเรื่องเสถียรภาพ อยากให้รักษาไว้” ดร.ประสารกล่าว

ประกันชี้รื้องบฯไม่มีประโยชน์

นายสมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TIPH) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย (TIP) ในฐานะนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไม่ได้กังวลผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แม้ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า หรือเบิกงบประมาณปี 2567 ล่าช้าออกไป 1 ไตรมาส เพราะเชื่อมั่นว่าเมื่อผ่านการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. 2566 ไปแล้ว รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องเร่งสร้างผลงานให้เห็น รีบประกาศนโยบายและยุทธศาสตร์ใหม่ทันที เพราะฉะนั้น ภาพการลงทุนหรือการกระตุ้นเศรษฐกิจคงจะมีความชัดเจนขึ้น โดยถูกผลักดันเพื่อจะใช้งบประมาณเดิมที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นขั้วเดิมหรือขั้วใหม่ก็ตาม เพราะถ้าไปรื้อนโยบายก็ไม่มีประโยชน์

ลุ้นรัฐบาลใหม่หนุนเชื่อมั่น

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย (KTAM) ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) กล่าวว่า เรื่องงบประมาณอาจล่าช้าจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ มองว่าไม่ได้มีผลกระทบมากนักต่อตลาดทุน เพราะปกติเมื่อการเมืองมีทิศทางที่ดี ตลาดก็จะอยู่ในทิศทางที่ดีเช่นกัน แต่ก็มักจะเป็นชั่วคราวไม่ใช่ถาวร เพราะตลาดจะดีได้ต่อเนื่องต้องมาจากเรื่องของปัจจัยพื้นฐานที่รองรับ ซึ่งในภาพใหญ่ยังคงเห็นว่า กำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ยังทำผลงานได้ดี ขณะที่ภาพของเศรษฐกิจก็ไม่น่ากังวลเพราะยังคงฟื้นตัวได้ดี โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว

“ในอนาคตต้องรอดูว่าหลังจัดตั้งรัฐบาลแล้วจะมีการกระตุ้นต่ออย่างไร อุตสาหกรรมไหนจะได้รับการส่งเสริมบ้าง ฉะนั้น นโยบายของรัฐบาลใหม่จะเป็นแบบไหนต้องมานั่งดูอีกที และแม้ว่างบประมาณอาจล่าช้า แต่เชื่อว่าทั้งตลาดทุนและเศรษฐกิจไทยจะยังมีทิศทางที่ดี

นายพิเชษฐ์ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จํากัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) กล่าวว่า หากจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วก็เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นมากกว่า ส่วนเรื่องของงบประมาณเชื่อว่าไม่ว่าพรรคไหนจะได้เป็นรัฐบาลใหม่ก็ต้องพยายามที่จะจัดสรรงบประมาณโดยเร็ว ดังนั้นไม่ได้น่ากังวล แม้ว่าการเบิกจ่ายอาจจะล่าช้าได้ แต่โดยภาพใหญ่เศรษฐกิจก็ฟื้นตัวต่อเนื่องมาแล้วในระดับหนึ่ง และมั่นใจว่ารัฐบาลใหม่จะต้องเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจต่อแน่นอน

ส.อ.ท.ห่วงดีเลย์รัฐบาลเจอ 2 เด้ง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สิ่งที่กังวลมาตั้งแต่ต้นหลังจากที่เห็นโพล ทำให้เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้แข่งขันกันทุกรูปแบบ และกว่าจะฟอร์มทีมรัฐบาลได้ จากเดิมคาดว่าจะเป็นช่วงเดือน ส.ค. 2566 ตามที่คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์ไว้ จะทำให้จีดีพีปีนี้ขยายตัว 3.0-3.5% แต่สภาวะแบบที่ไม่มีใครยอมใคร คิดว่ากว่าจะต่อรองกันใช้เทคนิคต่าง ๆ น่าจะใช้เวลาเกินกว่านั้น ถ้าเป็นอย่างที่คาดการณ์ ก.ย. 2566 ได้รัฐบาล ก็อาจจะต้องปรับลดประมาณการจีดีพีลง

“ที่ผ่านมา 5-6 เดือน ตัวเลขส่งออกไทยยังติดลบ เป็นการส่งสัญญาณว่า ตลาดโลกยังมีความอ่อนไหวค่อนข้างมาก ถ้าภายในประเทศเข้มแข็งก็ยังพอที่จะไปสู้ได้ แต่ถ้าในประเทศเราไม่เข้มแข็งแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้ไทยเจอ 2 เด้ง”

“ในกรณีรัฐบาลพลิกขั้ว สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ ความไม่มีเสถียรภาพของการจัดตั้งรัฐบาล แน่นอนว่าการดีเลย์ส่งผลทั้งตัวเม็ดเงินลงทุนโครงการใหญ่ในช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และยิ่งหากเกิดการต่อรองมากมาย หรือเป็นอะไรที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล เช่น มีดีลแปลก ๆ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนแน่นอน มีผลต่อการตัดสินใจการลงทุน เพราะกลัวรัฐบาลที่ได้มาจะอยู่ได้ไม่นาน หรืออาจมีปัญหาตลอดเส้นทาง หรือมีการต่อต้าน มีความรุนแรง ย่อมไม่เป็นผลดี นักลงทุนย่อมระมัดระวังต่อการลงทุน ถ้าเกิดกรณีความวุ่นวายทางการเมือง อาจมีผลต่อการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 30 ล้านคน ยิ่งทำให้เศรษฐกิจแย่ ไม่ได้ตามที่ต้องการ เม็ดเงินจากการท่องเที่ยว เม็ดเงินจากการลงทุนจะหายไป”

นายเกรียงไกรกล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นที่จับตาของนักลงทุนต่างชาติทั่วโลก มีผลต่อบรรยากาศการลงทุน เพราะทั่วโลกอยากเห็นว่าใครมาเป็นรัฐบาล จะมีเหตุสะดุดหรือไม่ ส่วนประกอบที่สำคัญก็คือการเมือง หัวใจสำคัญ บ้านเมืองไปได้ดีสงบ ทุกอย่างก็จะเป็นไปตามที่เราหวัง ก็คงไม่มีปัญหา แต่นักลงทุนก็ดูนโยบายของพรรคแต่ละพรรค จะมีนโยบายอะไรต่าง ๆ ที่มาสนองการลงทุนบ้าง

“การที่มีรัฐบาลตัวจริงเพื่อมาเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจล่าช้าออกไป จะส่งผลต่อโครงการลงทุนหลายอย่างที่ยังต้องเดินหน้าต่อ ต้องมีเม็ดเงินเข้ามาพยุงเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นฟู ขาดตอนไม่ได้ ถ้าชะลอชั่วคราวจะส่งผลต่อแผนการฟื้นตัว ผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเล็กจะได้รับผลกระทบเหมือนกัน เพียงแต่เอสเอ็มอีก็ต้องล้มอีกรอบเพราะสายป่านสั้น รายใหญ่อาจจะทนรอการตั้งรัฐบาลได้เพราะสายป่านยาวกว่า ตอนนี้การบริโภค และการลงทุนโครงการใหญ่ เป็นอีกแหล่งเงินหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะช้าลง จะเห็นความเสียหายทุก ๆ วัน ทุก ๆ เดือน ยิ่งช้า คำนวณได้ เอาจีดีพีรายได้ของประเทศหารดู จะเห็นว่าการช้าของการตั้งรัฐบาลจะส่งผลอย่างไร แต่ส่วนที่คำนวณไม่ได้คือ เอสเอ็มอี อีกจำนวนเท่าไรกับฮึดสุดท้ายที่กำลังจะฟื้น แต่ต้องตาย มีผลต่อการจ้างงาน เพราะเขาไม่มีภูมิต้านทานมากพอ”

นายเกรียงไกรฝากถึงรัฐบาลใหม่ว่า ที่ผ่านมาทาง ส.อ.ท. และ กกร. พูดมาตลอดว่าการเมืองต้องไม่ส่งผลกระทบเศรษฐกิจ เราก็ให้การบ้านไปแล้วทุกพรรค เอสเอ็มอีต้องการมาตรการมาช่วยด่วนและเร่งตั้งรัฐบาล