สภาพัฒน์ กาง 8 แนวทาง บริหารเศรษฐกิจไทยปี’66 ภายใต้ความเสี่ยงโลก

กรุงเทพ
ภาพจาก PIXABAY

สภาพัฒน์ เผย 5 ปัจจัยเสี่ยงกระทบจีดีพีไทยปี 2566 เศรษฐกิจโลกชะลอ-ธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ย-ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์-หนี้สินภาคครัวเรือนและเอสเอ็มอี-เลือกตั้งเอฟเฟ็กต์จัดทำงบประมาณปี 2567 ล่าช้า พร้อมกาง 8 แนวทางบริหารเศรษฐกิจไทยภายใต้ความเสี่ยงโลก

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ในปี 2566 ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงอยู่ โดยเฉพาะความเสี่ยงหลักจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เพราะเศรษฐกิจหลักในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็ชะลอตัวลงค่อนข้างชัดเจน ดูได้จากปริมาณการส่งออกสินค้าที่ปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงตัวนี้ ที่ผ่านมาฝั่งภาครัฐได้มีการขยายตลาดการส่งออกไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะตลาดใหม่ ๆ อย่างตลาดในตะวันออกกลางที่ยังคงมีกำลังซื้อยู่ และได้เริ่มมีการเข้าไปเจรจาในส่วน FTA กับสหภาพยุโรป ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่จะขยายตลาดการส่งออกของไทย

อย่างไรก็ดีความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาติทั่วโลก ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในปีนี้ รวมไปถึงความยืดเยื้อจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างคาดการณ์ได้ยาก คงต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อลดผลกระทบจากความขัดแย้งดังกล่าว ในส่วนที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย โดยเฉพาะด้านราคาพลังงาน

นอกจากนี้ปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ ที่จะต้องมีการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง นั่นคือหนี้สินภาคครัวเรือน และหนี้สินภาคเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงดำรงอยู่

แม้ว่าหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้อยู่ประมาณ 86% ต่อจีดีพี แต่ว่ายังคงอยู่ในระดับสูง จึงต้องเดินหน้าแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยการปรับโครงสร้างหนี้และการยืดหนี้ ทำเป็นลักษณะรายบุคคลหรือรายธุรกิจ

นายดนุชากล่าวต่อว่า อีกปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่องบประมาณที่จะใช้ในปี 2567 คือปีนี้จะมีการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นจะส่งผลกับตาราเวลาในการจัดทำงบประมาณแผ่นดินสำหรับปี 2567 ซึ่งอาจจะมีการล่าช้าออกไป จากเดิมที่เคยใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี ดังนั้นในส่วนนี้คงจะต้องเร่งในการดำเนินการหลังจากที่ได้รัฐบาลใหม่เรียบร้อยแล้ว

“ปี 2566 ยังคงเป็นปีที่ต้องมีการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุมโดยเฉพาะในภาคธุรกิจ ซึ่งเราแนวทางบริหารจัดการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ด้วยกัน 8 เรื่องหลักคือ

1.การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อย คือ ต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ จัดการหนี้นอกระบบ เพื่อเป็นแรงส่งต่อดีมานด์การใช้จ่ายภายในประเทศ และสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

2.การดูแลการผลิตภาคการเกษตรและรายได้เกษตร โดยปีนี้ปริมาณน้ำมันมีค่อนข้างมาก ดังนั้นคงต้องมีการบริหารจัดการผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดในช่วงฤดูเพาะปลูกของปี 2566-2567 ขณะเดียวกันต้องมีการปรับโครงสร้างของภาคการเกษตร

โดยใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วยการผลิตมากขึ้นเพื่อลดต้นทุน รวมถึงปรับเปลี่ยนพืชเพาะปลูกที่ให้มูลค่าเพิ่มมากขึ้น และพยายามพึ่งพาการใช้วัตถุดิบและปัจจัยการผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาโดยเฉพาะปุ๋ยเคมี

3.การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า โดยคงต้องมีการช่วยภาคเอกชน ผู้ส่งออก ในแง่การอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกให้มากที่สุด รวมทั้งสินค้าหลักของเราที่ผลิตอยู่และยังคงขยายการผลิต คงต้องมีการเร่งให้เกิดการส่งออก มีการขยายตลาดใหม่ ๆ และติดตามสถานการณ์เงื่อนไขการค้าโลกด้วย โดยเฉพาะมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเป็น non trade barriers ในระยะถัดไป

นายดนุชากล่าวต่อว่า เรื่องสำคัญที่ควรจะต้องดำเนินการคือ เร่งปรับโครงสร้างภาคการผลิตของอุตสาหกรรม และเร่งเจรจาขยายตลาดการส่งออกให้มากขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การปรับไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรือการนำเอาการลงทุนในแง่ของเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์

4.การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว เรื่องนี้คงต้องเตรียมการขยายเที่ยวบินให้เพียงพอรองรับไฟลต์บินเข้าสู่ประเทศไทย รวมทั้งมีการปรับโปรแกรมการท่องเที่ยวให้ดึงดูดและน่าสนใจมากขึ้น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้อยู่นานกว่าเดิม และมีการใช้จ่ายต่อหัวที่มากขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวภายในประเทศเองด้วย

นอกจากนี้มีมาตรการ LTR VISA ที่ออกมาแล้ว เพื่อดึงดูดคนจะทำงานในประเทศไทย และผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy Pensioner) เข้ามาอยู่ในเมืองไทยให้นานขึ้น

5.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยต้องเร่งให้เกิดการลงทุนจริงสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนไปแล้วในช่วงตั้งแต่ปี 2563-2565 เร่งแก้ปัญหาและอุปสรรค รวมถึงเรื่องแรงงานในภาคการผลิตด้วย และทำงานเชิงรุกดึงดูกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายจากต่างประเทศเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย โดยใช้โอกาสความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดอยู่ในขณะนี้

6.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ คือต้องเร่งเบิกจ่าย และเพิ่มศักยภาพทางการคลัง มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ และจัดลำดับความสำคัญสำหรับการใช้จ่ายเพื่อให้ฐานะการคลังอยู่ในระดับที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยภายใต้ความไม่แน่นอนของปัจจัยภายในและนอกประเทศ

7.การติดตาม เฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก

8.การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าไปได้ ทั้งในช่วงก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง