สภาพัฒน์เปิดข้อมูล คนไทยยากจนหลายมิติ 8.1 ล้านคน

ความยากจน Poverty เศรษฐกิจ คนจน
Photo by Frantisek Krejci on Pixabay

สศช. เปิดข้อมูลวิเคราะห์ความยากจน เผยปี 2564 ประเทศไทยมีคนยากจนหลายมิติอยู่ 8.1 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 4.4 ล้านคนอยู่ใต้เส้นความยากจน ชี้ต้องจัดมาตรการแก้ปัญหาแบบ Policy Package

วันที่ 17 ธันวาคม 2565 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นำเสนอบทความ “มองคนจนหลายมิติ ปี 2564 ปัญหาที่ไม่ใช่แค่เรื่องเงินเท่านั้น” โดยชี้ว่า ในปี 2564 พบว่า คนจนหรือผู้ที่มีรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคต่ำกว่าเส้นความยากจนมีจำนวนทั้งสิ้น 4.4 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนคนจนที่ 6.32% ลดลงจากปีก่อนที่มีจำนวน 4.7 ล้านคน หรือมีสัดส่วนคนจน 6.83% แม้ว่าจะเป็นช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19

โดยสาเหตุที่คนจนไม่ได้เพิ่มขึ้นมาจากมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบที่ของรัฐ แต่อย่างไรก็ดี นิยามของความยากจนไม่ได้มีเพียงเรื่องตัวเงินอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการขาดแคลน ขัดสน หรือขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ตลอดจนการไม่สามารถเข้าถึงบริการและความช่วยเหลือของรัฐ

ซึ่งในปี 2564 มีสถานการณ์ด้านคุณภาพชีวิต ที่อาจส่งผลต่อปัญหาความยากจนหลายด้าน อาทิ ด้านการศึกษา มีเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาถึง 2.8 แสนคน และมีปัญหาภาวะความถดถอยทางการเรียนรู้

เช่นเดียวกับด้านสุขภาพ ที่คนไทยมีความเครียดสูงและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังพบปัญหาการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ส่วนด้านความเป็นอยู่ พบปัญหาคนไร้บ้านและการขาดแคลนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ในเรื่องหลักประกันรายได้ ยังพบปัญหาการไม่มีหลักประกันทางสังคมและไม่มีเงินออมเพียงพอที่จะรองรับการขาดรายได้จากช่วงวิกฤต ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้สะท้อนถึงสถานการณ์ความยากจนจากมุมมองคุณภาพชีวิตที่มีปัญหามากขึ้น

จากประเด็นดังกล่าว การประเมินสถานการณ์ความยากจนให้ครอบคลุมในมิติที่นอกจากด้านตัวเงินจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่ง สศช.จึงจัดทำดัชนีความยากจนหลายมิติ (Multidimensional Poverty Index : MPI) ขึ้น โดยกำหนดมิติที่ส่งผลต่อความยากจน 4 มิติ ได้แก่ การศึกษา การใช้ชีวิตในแบบที่ดีต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ และความมั่นคงทางการเงิน

สถานการณ์ความยากจนหลายมิติ พบว่า ปัญหาความยากจนหลายมิติมีปัญหาที่รุนแรงกว่าความยากจนด้านตัวเงินมาก จากจำนวนคนจนหลายมิติที่มีจำนวนมากกว่าคนยากจนด้านตัวเงินเกือบเท่าตัว โดยในปี 2564 คนจนหลายมิติมีจำนวน 8.1 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 11.6% ลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2556 ที่มีสัดส่วน สูงถึง 27.5%

สำหรับสภาพปัญหาและปัจจัยที่ส่งผลต่อความยากจนหลายมิติยังมีความแตกต่างกันตามเขตพื้นที่อยู่อาศัย กล่าวคือ ครัวเรือนที่อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาลมีปัญหาความยากจนหลายมิติมากกว่าในเขตเทศบาล โดยมีสัดส่วนคนยากจน 18.0% เทียบกับ 6.6%

อีกทั้งคนจนหลายมิติมากกว่า 1 ใน 3 เป็นผู้สูงอายุ โดยมีสัดส่วนถึง 36.9% ของคนจนหลายมิติทั้งหมด และ คนจนหลายมิติกว่าครึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ (เด็ก ชรา ป่วย ผู้ว่างงาน) โดยมีสัดส่วนสูงถึง 51.5% ของคนจนหลายมิติทั้งหมด

เมื่อพิจารณาความยากจนหลายมิติในแต่ละมิติพบประเด็นปัญหาที่สำคัญ คือ มิติด้านการศึกษา ยังมีปัญหาการหลุดออกนอกระบบการศึกษาที่เพิ่มขึ้นเมื่อมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่

มิติด้านการใช้ชีวิตในแบบที่ดีต่อสุขภาพ มีปัญหาด้านการเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดยังจำกัดอยู่ในบางพื้นที่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ที่แม้ว่าน้ำประปาจะได้มาตรฐานที่จะใช้ในการดื่ม แต่ต้องให้ความสำคัญกับระบบการลำเลียงน้ำไปยังครัวเรือนเพื่อให้มีคุณภาพความสะอาดได้มาตรฐาน และยังมีปัญหาทุพโภชนาการในครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี

มิติด้านความเป็นอยู่ พบว่าคนจนหลายมิติกว่า 2.8 ล้านคน ไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้เนื่องจากสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ยังไม่ครอบคลุมในบางพื้นที่ และคนจนหลายมิติยังมีข้อจำกัดในด้านค่าใช้จ่ายในการเข้าถึง

มิติด้านความมั่นคงทางการเงิน พบประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การไม่มีหลักประกันของแรงงาน จากการที่แรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระและไม่มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ทำให้ไม่มีหลักประกัน และการมีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย กระทบต่อการออมและอาจส่งผลให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้น

ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า แนวทางแก้ปัญหาความยากจนต้องมีการดำเนินการ คือ

1) พัฒนาระบบข้อมูลระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ให้มีการบูรณาการร่วมกันและครอบคลุมประชากรทุกคน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือและการชี้ทิศทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชน ซึ่งจะช่วยในการออกแบบการดำเนินนโยบายเหมาะสมและตอบสนองต่อปัญหาของกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง

2) จัดทำมาตรการในรูปแบบ Policy Package เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนโดยเฉพาะความยากจนหลายมิติที่มีปัญหาที่หลากหลายได้อย่างครอบคลุม โดยอาจต้องมีการดำเนินการในหลาย ๆ ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกัน อาทิ

การสร้างหลักประกันทางรายได้ที่ส่งเสริมการออมภาคบังคับ และยกระดับทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงและมีคุณภาพ ตั้งแต่วัยแรงงานไปจนถึงวัยเกษียณ การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ครอบคลุมตั้งแต่เด็กปฐมวัย วัยเรียน วัยแรงงาน และวัยผู้สูงอายุ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม (Ecosystem) ให้เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี