สภาพัฒน์ห่วง “วัยเกษียณ” หนี้เสียพุ่ง ธปท.ชูโมเดลคิดดอกเบี้ยตามเสี่ยง

ผู้สูงอายุ

สภาพัฒน์เปิดข้อมูล “หนี้ครัวเรือน” 14.9 ล้านล้านบาท จับตา “เอ็นพีแอล” สินเชื่อรถพุ่งไม่หยุด ขณะที่สินเชื่อบุคคลโตแรง 20% สะท้อนปัญหาสภาพคล่องครัวเรือน ห่วงกลุ่มคนวัยเกษียณเป็นเอ็นพีแอลพุ่ง ขณะที่ ธปท.เปิดโมเดลให้เจ้าหนี้ “สินเชื่อบุคคล” เก็บดอกเบี้ยสูงขึ้นตามความเสี่ยงลูกหนี้ หวังช่วยกลุ่มลูกหนี้นอกระบบเข้าถึงสินเชื่อ เตรียมเปิดหลักเกณฑ์ “ศรีสวัสดิ์-เงินเทอร์โบ” ขานรับพร้อมเข้า Sandbox แบงก์ชาติ

เปิดช่องคิดดอกเบี้ยเพิ่ม

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า นโยบายแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนในส่วนที่จะให้เจ้าหนี้สินเชื่อรายย่อยคิดอัตราดอกเบี้ยตาม “ความเสี่ยงของลูกค้า” แต่ละราย หรือ risk based pricing ธปท.จะมีการออกเกณฑ์และแนวนโยบายมาอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี เบื้องต้น ธปท.ไม่ได้จะมีการยกเลิกเพดานอัตราดอกเบี้ย แต่ ธปท.จะให้ผู้ประกอบการสินเชื่อที่สนใจทำโมเดล “คิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยง” เข้ามาอยู่ในศูนย์ทดสอบนวัตกรรมทางการเงิน (sandbox) เนื่องจากตอนนี้มีผู้ประกอบการหรือเจ้าหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลหลากหลาย จำนวนหลักร้อยราย และไม่ใช่ทุกรายที่จะสามารถทำเป็น risk based pricing ได้

ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ดังนั้น เพดานอัตราดอกเบี้ยยังคงต้องมีอยู่ สำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่สามารถแยกความเสี่ยงลูกค้า แต่ผู้ประกอบการที่สามารถแยกความเสี่ยงลูกค้าได้ ธปท.จะมีรูมให้ สามารถคิดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มได้ แต่ ธปท.ก็อาจจะมีเพดานว่าดอกเบี้ยจะอยู่ที่เท่าไร อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่สนใจจะต้องเข้ามาทดสอบ sandbox ของ ธปท.ก่อน

“เราต้องมาดูโมเดลของผู้ประกอบการเหล่านี้ก่อนว่าจะเป็นอย่างไร หากเขาแยกความเสี่ยงลูกค้าได้ตามมาตรฐาน ในอนาคตอาจจะมีการกำหนดเพดานดอกเบี้ย 2 เพดาน”

ศรีสวัสดิ์เข้าร่วม “แซนด์บอกซ์”

นายวิชิต พยุหนาวีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล 1969 จำกัด (มหาชน) หรือ SCAP เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับเรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย (risk based pricing) เป็นเรื่องที่ ธปท.อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) ซึ่งตอนนี้บริษัทรอฟังแนวทางและการกำหนดเงื่อนไขจาก ธปท.อยู่ ซึ่งบริษัทก็มีความสนใจเข้าร่วมทดสอบใน sandbox

เบื้องต้น ธปท.ต้องการให้ลูกค้ากลุ่มเปราะบางเข้าสู่กลไกตลาดแหล่งเงินได้ คือกลุ่มลูกค้าจะมีความเสี่ยงสูง แต่ผู้ประกอบการก็ยังกล้าปล่อยสินเชื่อ ทั้งนี้ผู้ประกอบการก็รับความเสี่ยงที่สูงขึ้นไป แต่ขณะเดียวกันก็จะให้สิทธิในการคิดดอกเบี้ยสูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัทเห็นด้วย

เพราะถ้าไม่ออกมาเป็น risk based pricing จะทำให้ลูกค้ากลุ่มรากหญ้าที่ไม่มีข้อมูลการเงิน หรือประวัติเครดิตไม่ดี จะไม่มีใครกล้าเข้ามาปล่อย เพราะได้ดอกเบี้ยเท่ากับลูกค้าความเสี่ยงต่ำเฉลี่ย 24-25% ต่อปี และหากส่วนต่างกำไรต่ำอยู่แล้ว ผู้ประกอบการยิ่งจะต้องคุมความเสี่ยงให้ต่ำที่สุดเพื่อรักษาผลตอบแทน

“เราคิดว่าแนวความคิดนี้ของ ธปท.ดีมาก เพื่อให้การคิดดอกเบี้ยมีความยืดหยุ่น เพียงแต่ตอนนี้เรายังไม่เห็นไกด์ไลน์ของ ธปท. แต่เชื่อว่า ธปท.จะกำกับดูแลลำบาก แบบไหนเรียกว่าความเสี่ยงต่ำ แบบไหนความเสี่ยงสูง แต่ในส่วนของ SCAP เรามี credit scoring อยู่แล้ว เอาข้อมูลจากเครดิตบูโรมาและให้สกอริ่ง แยกลูกค้าเป็นเกรด A, B, C, D และเกรด E ถ้า ธปท.มาดูจะเห็นเลยว่าเราแบ่งลูกค้าแบบไหน และหากเป็นลูกค้าเกรด E ดอกเบี้ยก็สูงขึ้น ลูกค้าเกรด A ดอกเบี้ยก็ลดลงมา ซึ่งปัจจุบันเราก็ทำอยู่แล้วในทุกโปรดักต์”

ยกตัวอย่าง กลุ่มลูกค้าเช่าซื้อ เกรด A กับลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคล เกรด A ก็ไม่เหมือนกัน และจะต้องปลดเพดานดอกเบี้ยแต่ละโปรดักต์ เช่น สามารถบวก +3% หรือ +5% ต่อปีของแต่ละโปรดักต์ให้ชัดเจน เพราะปัจจุบันเพดานแต่ละโปรดักต์ไม่เท่ากันและความเสี่ยงแตกต่างกัน กรณีสินเชื่อส่วนบุคคล 25% จำนำทะเบียน 24% หรือนาโนไฟแนนซ์ 33% ต่อปี

เงินเทอร์โบเจาะ “กู้นอกระบบ”

นายสุธัช เรืองสุทธิภาพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เงินเทอร์โบ จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หาก ธปท.ปลดล็อกเพดานให้ผู้ประกอบการสามารถปล่อยสินเชื่อและคิดอัตราดอกเบี้ยได้ตามความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย เป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสนใจ และอยากจะเข้าร่วมตามโมเดลที่ ธปท.กำหนด ในการเข้าทดสอบใน sandbox

เนื่องจากบริษัทต้องการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มที่ใช้เงินกู้นอกระบบที่มีจำนวนมากกว่า 10 ล้านราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง และไม่คุ้มค่ากับผลตอบแทนที่ได้รับ ทำให้สถาบันการเงินเลือกปล่อยแต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการแข่งขันรุนแรงในตลาด

ดังนั้นบริษัทจึงต้องการเข้าไปเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าที่ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ที่คิดอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูงเฉลี่ยกว่า 100% ต่อปี หรือประมาณ 10-20% ต่อเดือน ซึ่งหาก ธปท.ปลดล็อก หรือขยับเพดานให้บริษัทสามารถคิดอัตราดอกเบี้ยได้ในระดับ 4-5% ต่อเดือน หรือ 40-50% ต่อปี

เชื่อว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ รวมถึงบริษัทน่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อควบคู่กับการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากปัจจุบัน ธปท.คุมเพดานดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 2% ต่อเดือน หรือประมาณ 20-30% ต่อปี ซึ่งไม่คุ้มค่ากับการบริหารจัดการลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง

“เราสนใจแน่นอนหาก ธปท.เปิดให้เข้าแซนด์บอกซ์ เพราะโมเดลในการคัดกรองและจัดกลุ่มความเสี่ยงลูกค้าเรามีเครดิตสกอริ่ง เป็นคะแนนวัดความเสี่ยงลูกค้าอยู่แล้ว แต่เราอยากให้ ธปท.เปิดกว้างสำหรับคนที่ต้องการขยับเพดานตามความเสี่ยง เพราะตอนนี้ลูกค้าในระบบช้ำหมดแล้ว เหลือแต่ลูกค้าคนเดิม ๆ หากเราสามารถขยายไปทำนอกระบบได้ ที่มีคนจำนวนมากที่กู้ดอกเบี้ยแพง ๆ ซึ่ง ธปท.สามารถเปิดให้เราคิดได้ 4-5% ต่อเดือน เราเชื่อว่าเราทำได้และอยู่ได้ แต่ตอนนี้อยู่ที่ 2% ต่อเดือนปล่อยไปก็เจ๊งไม่คุ้ม และคนนอกระบบเองก็ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยที่ถูกลง”

แบกหนี้ครัวเรือน 14.9 ล้านล้าน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ตัวเลข “หนี้สินครัวเรือน” ข้อมูลล่าสุดถึงไตรมาส 3 ปี 2565 อยู่ที่ 14.9 ล้านล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ตอนนี้อยู่ที่ 86.8% ปรับตัวลดลงตั้งแต่ไตรมาส 1/2565 ซึ่งอยู่ที่ 89.2%

อย่างไรก็ดี หนี้สินครัวเรือนขยายตัวในทุกประเภทสินเชื่อ โดยสินเชื่อที่มีการขยายตัวในอัตราสูง ได้แก่ สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ขยายตัวถึง 11.8% และ 21.4% ตามลำดับ โดยสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นการขยายตัวระดับ 20% ต่อเนื่องมา 4 ไตรมาสแล้ว

“สำหรับหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลของสถาบันการเงินทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2.62% ของสินเชื่อรวม แต่ว่าสินเชื่อที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) คือที่ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน เป็นกลุ่มสินเชื่อยานยนต์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาตลอด ก็ต้องมานั่งดูเป็นพิเศษ”

ทั้งนี้จากข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) พบว่ายอดหนี้คงค้างเอ็นพีแอลมีอยู่ทั้งสิ้น 1.09 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ 7.8 แสนล้านบาท หรือราว 70% อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้

สูงวัยติดบ่วง NPL สินเชื่อบุคคล

นายดนุชากล่าวว่า หากเข้าไปดูหนี้เสียตามประเภทสินเชื่อจะเห็นว่า “หนี้บัตรเครดิต” กลุ่มลูกหนี้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี เป็นกลุ่มที่มีเอ็นพีแอลขยายตัวขึ้นมา ขณะที่ช่วงอายุอื่น ๆ ปรับตัวลดลงมาก ขณะที่พบว่าสินเชื่อบุคคล ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีเอ็นพีแอลขยายตัวค่อนข้างสูง โดยเป็นหนี้เสียต่อบัญชีเฉลี่ยประมาณ 77,000 บาท

ส่วนสินเชื่อยานยนต์ หนี้ที่มีปัญหาส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 30-49 ปี ซึ่งเป็นคนวัยทำงาน มีปัญหาการชำระค่างวด โดยมูลค่าหนี้เสียสัดส่วน 59.2% เมื่อเทียบกับช่วงอายุอื่น ๆ ซึ่งต้องมาช่วยกันดู เพราะคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เป็นกำลังแรงงาน พยายามสร้างเนื้อสร้างตัว ซึ่งต้องให้ความรู้ทางการเงินและสร้างความตระหนักในการก่อหนี้

นอกจากนี้ หนี้เสียที่เกิดจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ก็ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาส 3 ปี 2565 มีมูลค่าอยู่ที่ 4 แสนล้านบาท จำนวนบัญชี 4.7 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2565 ที่อยู่ที่ 3.96 แสนล้านบาท จำนวนบัญชี 4.3 ล้านบัญชี ซึ่งเกือบ 60% เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล

“ประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญคือ ต้องเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ที่เริ่มมีสัญญาณการผิดนัดชำระ โดยเฉพาะสถาบันการเงินคงต้องช่วยกัน ถ้าลูกหนี้เริ่มมีสัญญาณ เริ่มมีปัญหาการผ่อนชำระ ก็ต้องเข้ามาช่วยกันปรับโครงสร้างหนี้ให้เร็วขึ้น ส่วนที่เป็นหนี้เสียอยู่แล้วก็คงต้องมีมาตรการเฉพาะเจาะจงในการช่วยเหลือ ไม่ใช่เป็นมาตรการทั่วไป” เลขาธิการ สศช.กล่าว

หนี้ครัวเรือนกับดักเศรษฐกิจ

รายงานสภาพัฒน์ระบุว่า การขยายตัวของสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นผลมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับพฤติกรรมของประชาชนที่ลดการใช้เงินสดมากขึ้น ขณะที่การขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ซึ่งเป็นสินเชื่อที่เข้าถึงได้ง่าย มีเงื่อนไขการสมัครไม่มาก และไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยยังมีปัญหาสภาพคล่อง จึงมีการใช้บริการสินเชื่อประเภทนี้เพิ่มขึ้น

สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นเสมือนกับดักต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต ดังนั้น ในระยะถัดไปมีประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญคือ 1) การเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ที่เริ่มมีสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ เพื่อลดความเสี่ยงในการตกชั้นของลูกหนี้ที่มีจำนวนมาก

และ 2) การมีมาตรการเฉพาะเจาะจงในการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้เสียจากผลกระทบของ COVID-19 เช่น ขยายเวลาชำระหนี้ กำหนดสัดส่วนการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ เป็นต้น เพื่อลดจำนวนลูกหนี้เสียไม่ให้เพิ่มขึ้นในระยะถัดไป และรักษาสถานะลูกหนี้ให้อยู่ในระบบการเงิน