
ธปท.เตรียมออกหลักเกณฑ์ “แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน” หวังลดหนี้ครัวเรือนระยะยาว หลังประเมินปี’70 ระดับหนี้พุ่งแตะ 84% เกินศักยภาพ-ฉุดรั้งการเติบโตเศรษฐกิจ เผยไตรมาส 2-3 ปีนี้ คาดคลอดเกณฑ์ “ปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ” ยัน ไม่ได้ยกเลิกเพดานดอกเบี้ย แต่ให้เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยยืดหยุ่นตามความเสี่ยง
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ออกแนวนโยบายการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (Financial Landscape)
โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากในปี 2553 อยู่ที่ 59.3% และเนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้มีการก่อหนี้ซ่อมแซมบ้านและรถ และล่าสุดในปี 2563 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90% แต่หลังจากแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้น สัดส่วนทยอยลดลงมาอยู่ที่ 86.8% หรืออยู่ที่ 14.9 ล้านล้านบาท ในไตรมาส 3/2565
ทั้งนี้ หากมองภาพหนี้ครัวเรือนไทย ที่ระดับ 86.8% หรือ 14.9 ล้านล้านบาท พบว่า 2 ใน 3 คนไทยเป็นที่เกี่ยวกับการบริโภค และ 1 ใน 3 เป็นหนี้ที่อยู่อาศัยที่มีความจำเป็น สวนทางกับต่างประเทศ เช่น ฮ่องกงและญี่ปุ่น ที่ 2 ใน 3 เป็นหนี้บ้าน ทำให้ครัวเรือนมีเสถียรภาพมากกว่าประเทศไทย
ขณะเดียวกัน คาดว่าภายใต้เศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง คาดว่าภายในปี 2570 ระดับหนี้ครัวเรือนจะอยู่ที่ 84% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นระดับเกินหนี้ครัวเรือนที่ต้องพึงระวังไม่ควรเกิน 80% ต่อจีดีพี จะเป็นระดับที่จะฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ
ดังนั้น ธปท.จึงได้จัดทำ “แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน” เพื่อสะท้อนข้อมูลเชิงลึกของหนี้ครัวเรือนไทยและสื่อสารหลักการในการแก้ปัญหาหนี้ให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ รวมทั้งคำนึงถึงภาพระยะยาวมากขึ้น โดยภายหลังที่เศรษฐกิจเริ่มทยอยฟื้นตัวและได้ปรับมาตรการให้เน้นการแก้หนี้ระยะยาวที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ระบบการเงิน และอาจลุกลามไปเป็นปัญหาสังคม ซึ่งจะยิ่งแก้ไขได้ยากขึ้น
ทั้งนี้ ภายใต้แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ธปท.แบ่งกลุ่มลูกหนี้ที่ต้องเร่งแก้ไขด้วยกัน 4 กลุ่ม คือ 1.หนี้เสียที่มีอยู่ในปัจจุบันที่มีอยู่ 4.5 ล้านบัญชี 2.หนี้ที่เป็นปัญหาเรื้อรัง 3.หนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเร็วและอาจเป็นหนี้เสียหรือเรื้อรังในอนาคต และ 4.หนี้ที่ยังไม่อยู่ในตัวเลขหนี้ครัวเรือน อาทิ หนี้กองทุนการกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สินเชื่อสหกรณ์อื่น และหนี้นอกระบบ ซึ่งปัจจุบันมีหนี้จำนวนนี้อยู่ราว 7 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 4.3% ของจีดีพี
สำหรับมาตรการและแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน นอกจากจะดูแลการปล่อยหนี้ใหม่ให้มีคุณภาพ ธปท.จะออกเกณฑ์ให้เจ้าหนี้ ปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ (responsible lending) และกำหนดให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อโดยคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายหนี้คืนและลูกหนี้ยังมีเงินเหลือพอดำรงชีพ (macroprudential policy)
รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหนี้สินเชื่อรายย่อยคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย (risk-based pricing) พร้อมผลักดันให้เจ้าหนี้อื่นเห็นพฤติกรรมดีของลูกหนี้ เพื่อกระตุ้นการรีไฟแนนซ์หนี้ไปยังดอกเบี้ยที่ถูกลง โดยคาดจะออกหลักเกณฑ์ได้ไตรมาส 2-3 ปีนี้ และคาดบังคับใช้สิ้นปี 2566
“การสร้างแรงจูงใจเจ้าหนี้สินเชื่อรายย่อยคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ หรือ risk-based pricing ไม่ได้หมายความว่าเราจะยกเลิกเพดานดอกเบี้ย แต่เราจะให้เจ้าหนี้มีความยืดหยุ่นในการคิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงลูกค้า โดยเจ้าหนี้จะต้องเข้า Sandbox เพื่อให้เห็นว่ามีระบบที่สามารถแจกแจงความเสี่ยงลูกหนี้ได้จริง และสามารถทำได้จริง
และเจ้าหนี้เองจะต้องเป็น responsible lender คือปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ซึ่งเราก็เห็นมาในระบบก็มีรายหลาย เช่น สินเขื่อจำนำทะเบียนรถ เพดานกำหนด 24% แต่แข่งขันจริงปล่อยอยู่ที่ 16-18% ซึ่งในส่วนของสินเชื่อบุคคลเพดานอยู่ที่ 24-25% ซึ่งก็มีคนได้ดอกเบี้ยต่ำ แต่ก็ยังน้อย เราจึงต้องการให้เกิดกลไก risk based pricing ส่วนนี้”