ธปท.ปรับเกณฑ์ “คลินิกแก้หนี้” ดึงคนเป็นหนี้เสียก่อน 1 ก.พ. 66

แก้หนี้

แบงก์ชาติ ปรับเกณฑ์ “คลินิกแก้หนี้” หนุนลูกหนี้บัตรเครดิต-บุคคล-บัตรกดเงินสด เป็นหนี้เสียก่อน 1 ก.พ. 2566 เข้าโครงการได้ พร้อมเพิ่มแรงจูงใจเจ้าหนี้เข้าร่วมวงแก้หนี้เพิ่ม ระบุตัวเลขล่าสุดคนเข้าโครงการ 3.6 หมื่นราย วงเงิน 7,140 ล้านบาท

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้มีการปรับเกณฑ์คุณสมบัติของการเข้าร่วมโครงการ “คลินิกแก้หนี้” โดยขยายคุณสมบัติให้ผู้ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทั้งสินเชื่อบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 สามารถเข้าร่วมโครงการได้ จากเดิมลูกหนี้จะต้องเป็นหนี้เสียก่อน 1 ก.ย. 2565 เพื่อขยายการเข้าถึงของลูกหนี้กลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิตได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยคิดดอกเบี้ย 3-5% ต่อปี

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์
สุวรรณี เจษฎาศักดิ์

ขณะเดียวกัน ธปท.กำลังจะมีการทบทวนการเพิ่มแรงจูงใจ (Incentive) เพื่อให้เจ้าหนี้ ทั้งในส่วนของสถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) เข้ามาร่วมโครงการมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันจะมีเจ้าหนี้เข้าร่วมโครงการ “คลินิกแก้หนี้” แล้วประมาณ 70-80% ของทั้งระบบ แต่ก็มีเจ้าหนี้บางรายที่ไม่ได้เข้าโครงการ หรือเข้าโครงการมาแล้วและได้ออกไปแล้ว กลุ่มนี้ ธปท.จะพิจารณาเพิ่มแรงจูงใจมากขึ้น เพื่อให้เกิดการแก้หนี้ที่ครบวงจรมากขึ้น รวมถึงจะมีการประชาสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพบว่าลูกหนี้จำนวนมากยังไม่ทราบว่ามีโครงการ “คลินิกแก้หนี้” อยู่

ทั้งนี้ หากดูตัวเลขนับตั้งแต่เปิดโครงการ “คลินิแก้หนี้” ตั้งแต่กลางปี 2560 ถึงเดือนมกราคม 2566 พบว่ามีลูกหนี้เข้าโครงการจำนวน 36,000 ราย คิดเป็นจำนวน 105,000 บัญชี คิดเป็นเม็ดเงินสินเชื่อ 7,140 ล้านบาท อย่างไรก็ดี คาดว่าภายหลังจากการปรับเกณฑ์ดังกล่าว จะช่วยให้ลูกค้าเข้าโครงการมากขึ้น โดยเกณฑ์ที่มีการปรับปรุงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566

“มีลูกค้าจำนวนหนึ่งที่ไม่รู้ว่ามีโครงการ คลินิกแก้หนี้ เราจึงมีการปรับเกณฑ์ เพื่อช้อนกลุ่มหนี้ให้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาลูกหนี้มีหนี้เฉลี่ย 2-3 บัญชี จึงมีการปรับเกณฑ์ให้กลุ่มที่เป็นหนี้เสียก่อนวันที่ 1 ก.พ. 66 และกำลังทบทวนการเพิ่ม Incentive ให้เจ้าหนี้เข้าร่วมมากขึ้นด้วย แต่อยู่ระหว่างจะเป็น incentive อะไรให้เจ้าหนี้”