
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ
หนี้ครัวเรือนได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยติดต่อกันมาอย่างยาวนาน จากการรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า คนไทยมีหนี้ส่วนบุคคลและหนี้บัตรเครดิตคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของยอดหนี้ครัวเรือนไทยทั้งหมด โดยหนี้ส่วนใหญ่ของครัวเรือนไทยจะเป็นหนี้เพื่อการอุปโภค-บริโภคที่ไม่ช่วยในการสร้างรายได้
จากการสำรวจที่ผ่านมาพบว่า ความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่ายและรายได้ จัดเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยครัวเรือนรายได้สูงมีรายได้ “มากกว่า” ครัวเรือนรายได้น้อยต่างกันถึง 20 เท่า ประกอบกับครัวเรือนรายได้น้อยยังมีความไม่สมดุลระหว่างรายได้กับรายจ่าย “มากกว่า” ครัวเรือนรายได้สูง ส่งผลทำให้ ครัวเรือนรายได้น้อยต้อง “กู้เงิน” มาใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญก็คือเป็นการกู้มาเพื่อบริโภค ซึ่งหนี้ประเภทนี้เป็นเงินที่ใช้แล้วหมดไป และมีภาระผ่อนต่อเดือนสูง
ผลศึกษาโดยละเอียดที่ลงลึกถึงการเป็นหนี้ของคนไทยพบว่า คนไทยเป็นหนี้เร็ว เริ่มต้นการทำงาน (25-29 ปี) มากกว่า 58% เป็นหนี้ และในจำนวนนั้นมากกว่า 25% เป็นหนี้เสีย (NPL) หนี้เสียจากบัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล และหนี้รถยนต์/มอเตอร์ไซค์
ส่วนหนี้ที่เรียกว่า การเป็นหนี้เกินตัวนั้น เกือบ 30% ของลูกหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคล มีหนี้ “เกินกว่า” 4 บัญชีต่อคน มีวงเงินรวมต่อคนที่ “สูงกว่า” รายได้ระหว่าง 10-25 เท่าของรายได้ในแต่ละเดือน ส่งผลให้รายได้ “เกินกว่า” ครึ่งหนึ่งในแต่ละเดือนต้องเอาไปจ่ายคืนหนี้กลายเป็นกับดักหนี้ของภาคครัวเรือนไทย
ปัญหาที่ครัวเรือนผู้ก่อหนี้จะต้องแก้ก็คือ ความไม่สมดุลระหว่างรายได้และรายจ่าย ด้วยการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งพูดดูเหมือนง่าย แต่ทำยาก ต้องอาศัยการช่วยเหลือและสนับสนุนของภาครัฐให้ตรงจุด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรายได้เสริมและเพิ่มทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานของเศรษฐกิจใหม่ แต่ที่สำคัญก็คือ ภาคครัวเรือนจะต้องตัดหรือลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงด้วย
นอกจากนี้ ครัวเรือนผู้ก่อหนี้จะต้องมีวินัยทางการเงิน ไม่สร้างรายจ่ายจากการกู้เพื่อการบริโภคที่ไม่จำเป็นต่อการครองชีพ ลดการจับจ่ายใช้สอยสิ่งของฟุ่มเฟือย เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นจะต้องรู้จักการออมเพื่อเตรียมการไว้ใช้สำหรับรายจ่ายที่จำเป็นในอนาคต
ขณะภาครัฐและสถาบันทางเงินจะต้องร่วมมือกันไม่ว่าจะเป็นการจัดหางาน การออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ การแก้ไขปัญหาหนี้สินระยะยาว การให้โอกาสเข้าถึงสินเชื่อที่เหมาะสมกับความสามารถของผู้กู้ในทางที่ไปต่อเพื่อสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น แต่ที่สำคัญก็คือ ภาคครัวเรือนที่เป็นหนี้จะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยม ให้เหมาะสมกับการหารายได้ของตนเองเป็นหลัก