กสิกรไทย เผยตลาดลงทุนทั่วโลกติดลบในรอบ 100 ปี จ่อคุย ก.ล.ต.ผุดกองทุนปั้นยีลด์

กสิกร

เคแบงก์ ไพรเวตแบงกิ้ง เผยดอกเบี้ยสูง-เศรษฐกิจชะลอ-สงคราม ทำตลาดการลงทุนผันผวนกดผลตอบแทนทั่วโลกติดลบในรอบ 100 ปี ชู สินทรัพย์นอกตลาดเสริมแกร่งผลตอบแทน จ่อคุย ก.ล.ต.ออกกองทุนที่มีสภาพคล่อง สกัดอุปสรรคการลงทุน คาดออกได้ปี’67 ประเมินผลตอบแทนปี’67 น่าจะกลับมาบวกได้ 3-4% จากปีนี้ทรงตัว 0%

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดการลงทุนในปี 2565 ค่อนข้างท้าทายและมีความผันผวนสูง จะเห็นว่าผลตอบแทนในตลาดออกมาแย่ที่สุดในรอบ 100 ปี และต่อเนื่องมาถึงปี 2566

โดยจะเห็นว่าจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและปัจจัยเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้นักลงทุนทั่วโลกหันไปฝากเงินแทนสูงถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มดังกล่าว คาดว่าสินทรัพย์นอกตลาด (Private Asset) จะเข้ามาเป็นตัวเสริมของการสร้างผลตอบแทน

               
จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์

เนื่องจากบริษัทที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่บางรายไม่ได้อยู่ในตลาดทั้งหมด จึงจำเป็นต้องหาตัวที่มีความน่าสนใจในการลงทุน โดยจากตัวเลขมูลค่ากองทุนสินทรัพย์นอกตลาดทั่วโลกมีสูงถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์ และคาดว่าภายใน 1-2 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 18 ล้านดอลลาร์ดอลลาร์

จึงเป็นโอกาสอย่างมาก ขณะเดียวกัน หากย้อนดูผลตอบแทน (Yield) ของสินทรัพย์นอกตลาด จะพบว่า ในช่วงก่อนโควิด-19 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 15-18% และย่อตัวลงในช่วงโควิด-19 อยู่ที่ 12-15% แต่ถือว่ายังดีอยู่ ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่มีสินทรัพย์สูง (HNWs) ในการลงทุนเพื่อให้ถึงเป้าหมาย

อย่างไรก็ดี การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดอาจจะไม่ได้เหมาะสมกับทุกคน เนื่องจากมีหลักเกณฑ์ที่ค่อนข้างเข้มงวด และเป็นการลงทุนระยะยาวเฉลี่ย 5-7 ปี หรือ 10-12 ปี ไม่สามารถซื้อขายได้ทุกวัน

ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มองว่ามีความเสี่ยงสูง โดยในส่วนของลูกค้า HNWs ของธนาคารมีอยู่ราว 1.2 หมื่นราย คาดว่าจะเข้าถึงสินทรัพย์นอกตลาดประมาณ 10-12% หรือประมาณ 1,200 ราย

อย่างไรก็ดี ตอนนี้ธนาคารกำลังอยู่ระหว่างพูดคุยและหารือกับ ก.ล.ต.ในเรื่องการเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายสินทรัพย์นอกตลาดให้มากขึ้น โดยจะออกกองทุนที่มีสภาพคล่องมากขึ้น และสามารถซื้อขายได้ 4 ครั้งต่อปี เบื้องต้นแนวทางจะเป็นการซื้อกองทุนในตลาดรองที่มีอายุ 5 ปี และบวกอีก 2 ปี จากเดิมจะเป็น 10 ปี และบวกอีก 2 ปี ซึ่งคาดว่าจะสามารถออกกองได้ในปี 2567

“ในช่วงที่ผ่านมาเราเป็นรายแรกที่นำโปรดักต์กองทุน Private Asset จากต่างประเทศเข้ามาขอจดทะเบียนในประเทศไทยกับ ก.ล.ต. โดยลูกค้าสามารถลงทุนขั้นต่ำเพียง 1 ล้านบาท เฉลี่ยมูลค่ากองละ 100-200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งที่ผ่านมาเราขายมาแล้วประมาณ 4-5 กอง มูลค่ารวมกว่า 500-600 ล้านดอลลาร์

ถือว่าไม่เยอะมากเพราะปัญหาจากเกณฑ์ที่กำหนดให้ล็อกการลงทุนจาก 5-7 ปี เป็น 10-12 ปี ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน แต่เรากำลังอยู่ระหว่างขอ ก.ล.ต.ในการออกโปรดักต์ให้มีสภาพคล่องสูงขึ้น น่าจะได้เห็นประมาณปี’67 แต่โดยปกติเราจะออกขายกองทุน Private Asset เฉลี่ยปีละ 1-2 กองทุน”

นายจิรวัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพรวมธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ของ Kbank Private Banking ปัจจุบันมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) อยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท โดยผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วง 12 ปีที่ผ่านมานั้น ในช่วง 10 ปีแรกมีผลตอบแทนมากกว่าเงินสดเฉลี่ย 2-3% ซึ่งบางช่วง 5-7% หรือ 3-4% และในช่วง 2 ปีหลังในปี 2565-2566

ตลาดมีความท้าทายทำให้ผลตอบแทนติดลบ 3-5% แต่ในส่วนของธนาคารคาดว่าปีนี้ผลตอบแทนจะทรงตัวอยู่ที่ 0% อย่างไรก็ดี ในปี 2567 คาดว่าภาพรวมของผลตอบแทนน่าจะดีขึ้นเฉลี่ย +3-4% จากภาวะตลาดและการมุ่งเน้นการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดของธนาคาร

โดยการจัดพอร์ตการลงทุนในปีนี้ จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ พอร์ตหลัก (Core Port) จากภาวะตลาดที่มีความผันผวนจะเห็นการถือเงินสดมากขึ้น จากเดิมจะลงทุนในสัดส่วน 40-50% เพิ่มมาเป็น 70% ซึ่งที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยจะสูงกว่าเงินฝากประมาณ 0.30-1.00% ต่อปี และ 2.การลงทุนทางเลือก สัดส่วนประมาณ 15% จะลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ และ 3.สินทรัพย์ผลตอบแทนสูง

“ปีนี้คาดว่าผลตอบแทนจะติดลบ หรือทรงตัว เพราะตลาดหุ้นมีความผันผวน และดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางที่สูงและค้างนาน ตลอดจนความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะมีผลต่อการลงทุน ซึ่งการเพิ่ม AUM จะมาจาก 2 ส่วน คือ การอัพเกรดของลูกค้าที่เฉลี่ยมีประมาณ 10-15% ต่อปี และการเพิ่มแชร์เงินในกระเป๋าของลูกค้า โดยเราจะต้องเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้ลูกค้าด้วย”

นายจิรวัฒน์กล่าวอีกว่า จากการศึกษาผลสำรวจของ ลอมบาร์ด โอเดียร์ ล่าสุด จากความร่วมมือกับพันธมิตรในเอเชียแปซิฟิก โดยถามความคิดเห็นผู้มีสินทรัพย์สูงมากกว่า 460 รายทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกใน 7 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไทย ฟิลิปปินส์ ไต้หวันและออสเตรเลีย

ในหัวข้อ The long game : Understanding APAC HNWI’s goals เพื่อเข้าใจถึงความต้องการ และ เป้าหมายที่แท้จริงในระยะยาวของผู้มีสินทรัพย์สูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากสภาพอัตราดอกเบี้ยสูง การเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ส่งผลให้ผู้มีสินทรัพย์สูงต้องหันกลับมาพิจารณาเป้าหมายที่แท้จริงของการบริหารจัดการความมั่งคั่ง

โดยผลสำรวจพบว่า ผู้มีสินทรัพย์สูงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีความสนใจในหุ้นนอกตลาด 60% ต้องการลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเห็นว่ามีการเก็งกำไรมากไปในบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากนี้จะเห็นว่า 7 หมื่นครอบครัว จะมีสินทรัพย์ราว 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ที่กำลังจะถูกโอนไปยังรุ่นต่อไป

โดยในจำนวนดังกล่าวพบว่ามีเม็ดเงินจากทั่วโลกราว 5 ล้านล้านดอลลาร์ จะไหลไปลงทุนในตลาดที่มีความยั่งยืนมากขึ้น และคาดว่ามูลค่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 150 ล้านล้านดอลลาร์ในอนาคต ทำให้การจัดพอร์ตการลงทุนแบบเดิมจะไม่ตอบโจทย์