บาทร่วงแรง หลังคาดเฟดยุติขึ้นดอกเบี้ย

ค่าเงินบาท-ธนบัตร-bank note
ภาพ : REUTERS

เงินบาทร่วงแรง หลังคาดเฟดยุติขึ้นดอกเบี้ย ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group ชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเกือบ 100% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 12-13 ธ.ค.

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 13-17 พฤศจิกายน ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (13/11) ที่ระดับ 30.07/09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/11) ที่ระดับ 35.87/89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์ถูกกดดัน หลังจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 60.4 ในเดือน พ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนและต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 63.7 และจากระดับ 63.8 ในเดือน ต.ค. โดยถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยและภาวะสงครามในตะวันออกกลาง

               

ในขณะเดียวกันผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้น 4.4% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ซึ่งปรับตัวขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือน ต.ค.ที่ระดับ 4.2%

นอกจากนี้มูดี้ส์อินเวสเตอร์เซอร์วิส ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มีการประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐจากมีเสถียรภาพเป็นเชิงลบ โดยคาดการณ์ว่าการขาดดุลการคลังของสหรัฐจะยังคงอยู่ในระดับสูงและกดดันให้ความสามารถในการชำระหนี้สหรัฐลดลงอย่างมาก รวมถึงภาวะความขัดแย้งระหว่างสองขั้วการเมือง

อย่างไรก็ดี มูดี้ส์ยังคงตรึงอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาว รวมถึงตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ์และไม่มีประกันของรัฐบาลสหรัฐไว้ที่ระดับ Aaa นอกจากนี้มีการเปิดเผยถ้อยแถลงของนายราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา ว่าภารกิจของเฟดในการควบคุมเงินเฟ้อสู่ระดับเป้าหมาย 2% อาจใกล้ถึงจุดสิ้นสุดแล้ว ถึงแม้ว่าอาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะ

แต่คาดการณ์ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 5.25-5.50% จะเพียงพอสำหรับการสกัดเงินเฟ้อ โดยเชื่อว่าผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดก่อนหน้านี้ยังคงต้องใช้เวลาในการแสดงผลลัพธ์อย่างเต็มที่

ในช่วงกลางสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์ถูกกดดันภายหลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.2% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.3% ในเดือน ก.ย. ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 4.0% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะทรงตัวที่ระดับ 4.1%

คาดเฟดตรึงดอกเบี้ยในการประชุม 12-13 ธ.ค.

โดยภายหลังจากการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อต่ำกว่าคาด ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีดิ่งลงอย่างหนัก หลุดระดับ 4.5% เนื่องจากนักลงทุนมองว่าเฟดจะยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเกือบ 100% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 12-13 ธ.ค.

ขณะเดียวกัน นักลงทุนคาดว่าเฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือน ม.ค.-มี.ค.ของปี 2567 ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือน พ.ค. โดยนักลงทุนให้น้ำหนัก 65% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือน พ.ค. 2567 ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. 2567

ต่อมาในวันพุธ (15/11) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ประจำเดือน ต.ค. โดยดัชนี PPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 1.3% เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 1.9% จากระดับ 2.2% ในเดือน ก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI ทั่วไปปรับตัวลง 0.5% ในเดือน ต.ค. สวนทางจากคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ว่าจะปรับตัวขึ้น 0.1% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ก.ย. ซึ่งการปรับตัวลงของดัชนี PPI เมื่อเทียบรายเดือนนั้น เป็นการปรับตัวลงมากที่สุดเมื่อเทียบรายเดือนนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2563

ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.4% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.7% ในเดือน ก.ย.เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI พื้นฐานไม่เปลี่ยนแปลงในเดือน ต.ค. หรือปรับตัวขึ้น 0.0% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% จากระดับ 0.2% ในเดือน ก.ย.

นอกจากนั้น ทางกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีกซึ่งปรับตัวลดลง 0.1%ในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน มี.ค. หลังปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.9ในเดือน ก.ย. อย่างไรก็ดีตัวเลขดังกล่าวยังอยู่สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ -0.3% นอกจากนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก เพิ่มขึ้น 13,000 ราย สู่ระดับ 231,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน

โดยข้อมูลดังกล่าว เป็นปัจจัยเพิ่มเติมที่สนับสนุนการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.11-36.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (17/11) ที่ระดับ 35.21/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ECB ยังไม่มีแผนปรับลดดอกเบี้ย

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (13/11) ที่ระดับ 1.0690/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/11) ที่ระดับ 1.0675/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

อย่างไรก็ดีนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) แถลงการณ์ในวันศุกร์ (10/11) ว่า การคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ระดับ 4% ในระยะเวลาที่ยาวนานเพียงพอจะสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้กลับสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% แม้ว่ามีโอกาสที่เงินเฟ้อยุโรปอาจปรับตัวขึ้นในระยะสั้นก็ตาม อย่างไรก็ดีจะมีการพิจารณาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหากจำเป็นและยังไม่มีการวางแผนปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสถัดไป

โดยความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับถ้อยแถลงของนายลูอิส เด กินโดส รองประธานธนาคารกลางยุโรป ว่าเริ่มเห็นสัญญาณการอ่อนตัวลงของตลาดแรงงาน โดยคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะทยอยชะลอตัวลงได้ในระยะกลาง อย่างไรก็ดียังคงมีความเสี่ยงที่อาจส่งผลให้ต้องใช้ระยะเวลายาวนานขึ้นในการบรรลุเป้าหมายการควบคุมเงินเฟ้อ โดยธนาคารกลางยุโรปจะมีการประเมินภาวะเศรษฐกิจก่อนการพิจารณาการดำเนินนโยบายการเงินของในการประชุมเดือนธันวาคม

นอกจากนี้ยูโรสแตทเผยตัวเลขประมาณการขั้นต้นจีดีพียูโรโซนเทียบรายปีอยู่ที่ +0.1% ใน Q3 และเมื่อเทียบรายไตรมาส -0.1% ใน Q3 เทียบกับ -0.1% ใน Q2 ในช่วงบ่ายวันที่ 16/11 คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจของยูเครนจะฟื้นตัวในปีนี้ และปีหน้า หลังปรับตัวลดลงในปี 2565 และมีการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจสำหรับสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของยูเครนจะขยายตัว 4.8% ในปี 2566 หลังจากลดลง 29.1% ในปี 2565 ส่วนในปี 2567 GDP ของยูเครนจะขยายตัว 3.7% จากนั้นจะเติบโต 6.1% ในปี 2568

ส่วนตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรปหดตัว 1.1% ต่ำกว่าระดับคาดการณ์ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0663-1.0895 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (17/11) ที่ระดับ 1.0837/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

เงินเยนอ่อนค่า-ท่องเที่ยวญี่ปุ่นฟื้นตัว

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (13/11) ที่ระดับ 151.46/48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/11) ที่ระดับ 151.43/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนอ่อนค่าแตะระดับ 151.90

ซึ่งนับเป็นการอ่อนค่าที่สุดในรอบ 1 ปี หลังการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายเดือน หดตัวอยู่ที่ระดับ 0.4% ซึ่งหดตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 0.2% และเมื่อเทียบรายเดือน ขยายตัวที่ระดับ 0.8% ซึ่งชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 2.2% และนับเป็นการชะลอตัวที่สุดตั้งแต่เดือนเมษายน 2564

ทั้งนี้ ตลาดจับตาดูการแทรกแซงค่าเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายสัปดาห์ค่าเงินเยนแข็งค่าตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าตัวเลข GDP ของญี่ปุ่นออกมาหดตัวลงในไตรมาส 3 หลังจากที่ขยายตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน โดย GDP ไตรมาส 3 ออกมาหดตัว 2.1% หดตัวมากกว่าที่คาดว่าจะหดตัว 0.6% และเทียบกับที่ขยายตัว 4.5% ในไตรมาส 2

นอกจากนี้องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่นรายงานว่า ในเดือน ต.ค. มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าญี่ปุ่นมากกว่าช่วงกลางเวลาเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนญี่ปุ่นในเดือน ต.ค. อยู่ที่ 2.52 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวน 2.5 ล้านคนในเดือน ต.ค. 2562

และการท่องเที่ยวขาเข้านั้นนับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของญี่ปุ่น โดยการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงไตรมาส 3/2566 สูงกว่าระดับก่อนช่วงโควิด เนื่องจากค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ โดยสเหตุหลักมาจากการใช้จ่ายทางธุรกิจที่ลดลง การบริโภคที่ซบเซา และการส่งออกสุทธิที่ลดลง ดังนั้นการเติบโตของการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ อาจช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 150.04-151.91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (17/11) ที่ระดับ 150.51/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ