ดอลลาร์อ่อนค่า หลังการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อต่ำกว่าคาด

ดอลลาร์แข็งค่าในช่วงต้นสัปดาห์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อต่ำกว่าคาด ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีดิ่งลงอย่างหนัก หลุดระดับ 4.5% เนื่องจากนักลงทุนมองว่าเฟดจะยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/11) ที่ระดับ 35.52/53 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นอย่างมากจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคารที่ (14/11) ที่ระดับ 36.04/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินดอลลาร์ถูกกดดันภายหลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือน ต.ค. ออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

โดยดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.2% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.3% จากระดับ 3.7% ในเดือน ก.ย. ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 4.0% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะทรงตัวที่ระดับ 4.1%

โดยภายหลังจากการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อต่ำกว่าคาดส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีดิ่งลงอย่างหนัก หลุดระดับ 4.5% เนื่องจากนักลงทุนมองว่าเฟดจะยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

Advertisment

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเกือบ 100% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 525-5.50% ในการประชุมวันที่ 12-13 ธ.ค. ขณะเดียวกัน นักลงทุนคาดว่าเฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือน ม.ค., มี.ค.ของปี 2567 ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือน พ.ค.

โดยนักลงทุนให้น้ำหนัก 65% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือน พ.ค. 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 34% ในการสำรวจเมื่อวันจันทร์ (13/11) และเร็วกว่าเดิมที่คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. 2567

สำหรับปัจจัยภายในประเทศที่ต้องติดตามยังคงเป็นความไม่แน่นอนทางการเมือง รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังขาดความชัดเจน อย่างไรก็ตามในระหว่างวันค่าเงินบาทยังได้แรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นของจีน

โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนขยายตัวมากขึ้นที่ระดับ 4.6% จากที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัวเพียง 4.4% และยอดค้าปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าคาดที่ระดับ 7.6% จากที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัว 7.0% ทำให้ค่าเงินหยวนกลับมาแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือน เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.44-35.61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.43/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/11) ที่ระดับ 1.0875/79 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดัปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (14/11) ที่ระดับ 1.0695/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยูโรสแตทเผยตัวเลขประมาณการขั้นต้นจีดีพียูโรโซนเทียบรายปีอยู่ที่ +0.1% ใน Q3 และเมื่อเทียบรายไตรมาส -0.1% ใน Q2 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0661-1.0698 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0843/83 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/11) ที่ระดับ 150.63/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (14/11) ที่ 151.70/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าตัวเลข GDP ของญี่ปุ่นออกมาหดตัวลงในไตรมาส 3 หลังจากที่ขยายตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

โดย GDP เทียบรายไตรมาสในไตรมาส 3 ออกมาหดตัว 2.1% หดตัวมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะหดตัว 0.6% และเทียบกับที่ขยายตัว 4.5% ในไตรมาส 2 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 150.26-150.80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 150.34/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือน พ.ย.จากเฟดนิวยอร์ก (15/11), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีน (15/11), ยอดค้าปลีกเดือน ต.ค.ของจีน (15/11), ดัชนียอดขายปลีกพื้นฐาน (Core Retail Sales) สหรัฐ (15/11),

ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) สหรัฐ (15/11), อัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค.ของอังกฤษ (15/11), จำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (16/11), ราคานำเข้าและราคาส่งออกเดือน ต.ค.ของสหรัฐ (16/11), การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค.ของสหรัฐ (16/11), ดัชนีการผลิตเดือน พ.ย.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย (16/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.90/-8.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.60/-8.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ