แบงก์รัฐระดมมาตรการช่วยน้ำท่วมภาคใต้ เช็กทุกมาตรการที่นี่

แบงก์รัฐระดมส่งมาตรการช่วยเหลือลูกค้าน้ำท่วม “ธอส.” พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ให้กู้ซ่อม-สร้าง “ไอแบงก์” พักหนี้ช่วยผู้ประสบภัยนาน 6 เดือน “ธ.ก.ส.” จัดมาตรการแบ่งเบาภาระหนี้สิน ขณะที่ “ออมสิน” เตรียมออกมาตรการหลังน้ำลด เช็กเงื่อนไขรายละเอียดทั้งหมดได้ที่นี่

วันที่ 28 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและเสียหาย ทั้งนี้ สถาบันการเงินรัฐได้เสนอมาตรการมอบสิ่งของช่วยเหลือ ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ เช็กรายละเอียดรวมทุกมาตรการดังต่อไปนี้

ธนาคารอาคารสงเคราะห์

ธอส.ประกาศ 7 มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ให้กู้ซ่อม/สร้าง และจ่ายสินไหม

1.สามารถขอลดเงินงวด 50% จากเงินงวดที่ชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 2.00% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน

2.สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ ปลูกสร้าง-ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย วงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 2.00% ต่อปี คงที่ 1 ปีแรก

3.ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 7-18 อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี

ADVERTISMENT

4.ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และผ่อนชำระเงินงวดเพียง 1,000 บาท

5.กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือ

ADVERTISMENT

6.หากที่อยู่อาศัยเสียหายทั้งหลังซ่อมแซมไม่ได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของอาคาร

7.พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย จ่ายตามความเสียหายจริงรวมทุกภัยธรรมชาติ ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี และกรณีกรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่ 1 พ.ย. 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริง แต่ไม่เกินภัยละ 30,000 บาทต่อปี

ช่องทางการขอรับสินเชื่อ

ลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการตามมาตรการที่ 1-6 สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2567 และมาตรการที่ 7 ติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

– ธอส.ทุกสาขาทั่วประเทศ

– Call Center โทร.0-2645-9000

– Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือที่ ธอส.ทุกสาขาทั่วประเทศ

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์)

ไอแบงก์ออกมาตรการผ่อนปรนแก่ลูกค้าสินเชื่อของธนาคารที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม รายละเอียดมีดังนี้

1.พักชำระหนี้เงินต้นและยกเว้นค่าชดเชยผิดนัด

ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบสามารถขอพักชำระหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะกำไร ได้นานสูงสุด 6 เดือน โดยธนาคารยกเว้นค่าชดเชยผิดนัด (Late Charge)

2.สินเชื่ออุปโภคบริโภคและสินเชื่อธุรกิจอัตรากำไรพิเศษ

ลูกค้าบุคคลที่มีสินเชื่ออุปโภคบริโภคทั้งแบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน และลูกค้าธุรกิจที่มีสินเชื่อประเภทมีกำหนดระยะเวลา (Term Financing) ที่ได้รับผลกระทบทางตรง เช่น ที่อยู่อาศัยหรือสถานประกอบการได้รับความเสียหาย หรือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม เช่น ธุรกิจหรือคู่ค้าได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและส่งผลต่อธุรกิจหรือการดำรงชีพของลูกค้า สามารถขอพักชำระหนี้เงินต้นได้ไม่เกิน 6 เดือน

โดยให้ชำระเฉพาะกำไรตามอัตราที่กำหนดในสัญญาปัจจุบัน และสามารถขอขยายระยะเวลาสัญญาออกไปไม่เกินระยะเวลาที่พักชำระ โดยธนาคารยกเว้นค่าชดเชยผิดนัด (Late Charge) ที่เกิดขึ้นทั้งจำนวนจนถึงวันที่อนุมัติเข้าร่วมมาตรการ

3.ลูกค้าใหม่ประเภทบุคคลธรรมดาและลูกค้าผู้ประกอบการ

สำหรับลูกค้าใหม่ประเภทบุคคลธรรมดา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม ธนาคารให้สินเชื่ออุปโภคบริโภคอัตรากำไรพิเศษ ได้แก่ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่ออเนกประสงค์แบบมีหลักประกัน และสินเชื่ออเนกประสงค์แบบไม่มีหลักประกัน (สำหรับลูกค้า MOU) และสำหรับลูกค้าผู้ประกอบการ ธนาคารให้อัตรากำไรพิเศษสำหรับสินเชื่อธุรกิจ ได้แก่ สินเชื่อที่มีกำหนดระยะเวลา วงเงินทุนหมุนเวียน

ติดต่อเพื่อปรึกษาหรือขอรับบริการ

– เจ้าหน้าที่สินเชื่อของไอแบงก์ทุกสาขา ตั้งแต่บัดนี้

– สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ iBank Contact Center โทร.1302

– หรือแชตทาง Messenger @ibank.th และ LINE @ibank ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ธ.ก.ส.จัดมาตรการแบ่งเบาภาระหนี้สิน

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เบื้องต้นได้มอบหมายให้พนักงาน ธ.ก.ส.ในพื้นที่ ออกเยี่ยมเยือนให้กำลังใจลูกค้า พร้อมมอบถุงยังชีพและสิ่งของที่จำเป็น เพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกร ลูกค้าและประชาชนที่เดือดร้อน การสนับสนุนศูนย์อพยพหรือจุดรวมพลต่าง ๆ โดยการจัดหาอาหาร น้ำดื่ม บริการสุขาเคลื่อนที่ เต็นท์สนาม เป็นต้น

นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ได้จัดมาตรการในการลดภาระหนี้เดิม สำหรับลูกค้าที่มีสถานะหนี้ปกติผ่านมาตรการ 1) การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฟื้นฟูอาชีพ โดยธนาคารจะพิจารณาขยายระยะเวลาการชำระหนี้พร้อมกำหนดชำระหนี้ใหม่ตามศักยภาพที่แท้จริง แต่ไม่เกิน 20 ปี 2) มาตรการจ่ายดอก ตัดต้น เมื่อลูกค้าส่งชำระหนี้ ธนาคารจะแบ่งภาระการตัดชำระหนี้ตามสัดส่วนต้นเงินและดอกเบี้ยในสัดส่วน 50 : 50 ของจำนวนเงินที่ลูกค้าส่งชำระ โดยลูกค้าต้องชำระเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของจำนวนดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งหมด

3) มาตรการจ่ายต้น ปรับงวด โดยธนาคารจะปรับตารางชำระหนี้ใหม่ให้กับลูกค้าให้สอดคล้องกับรายได้และศักยภาพในการชำระหนี้ของลูกค้า เมื่อลูกค้าชำระต้นเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของจำนวนหนี้ทั้งสัญญา และสำหรับลูกค้า NPLs ธนาคารจะพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าตามศักยภาพในการชำระหนี้ โดยเงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด

นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ได้จัดทำมาตรการเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูลูกค้า เพื่อนำไปใช้ในการสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงการฟื้นฟูการผลิตที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ และลดปัญหาการก่อหนี้นอกระบบ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

1) สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและเสริมสภาพคล่องเกษตรกรในช่วงประสบภัย เช่น ค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือนแรก และเดือนที่ 7 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.975) วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาชำระภายใน 3 ปี

และ 2) สินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สิน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่ วงเงินรายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2 ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 15 ปี

ทั้งนี้ ภายหลังจากสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายลง ธ.ก.ส.จะเร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อพิจารณาการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบ เช่น การมอบเงินสมทบทุนการซ่อมแซมหรือสร้างบ้านหลังใหม่ การซ่อมแซมเครื่องจักรการเกษตร และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดที่เกี่ยวเนื่อง ขอให้เกษตรกรอย่ากังวลใจ ธ.ก.ส. พร้อมเข้าไปดูแลและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และสามารถเดินเข้ามาปรึกษา ธ.ก.ส.ได้ทุกสาขา หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 0-2555-0555 ตลอด 24 ชั่วโมง

ธนาคารออมสิน

ออมสินมอบสิ่งของช่วยเหลือเบื้องต้น มูลค่ารวม 2,000,000 บาท ได้แก่ ถุงยังชีพ 2,000 ชุด และเครื่องอุปโภคบริโภค สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น รวมถึงจัดหาอาหาร 3 มื้อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส และอำเภอรามัน จังหวัดยะลา

โดยธนาคารออมสินอยู่ระหว่างเตรียมออกมาตรการระยะยาว เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูบ้านเรือนและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนหลังจากน้ำลดและวิกฤตผ่านพ้น ผ่านการให้สินเชื่อเงื่อนไขพิเศษเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุภัยพิบัติ และมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ

ธนาคารกรุงไทย

กรุงไทยจัดทำถุงยังชีพบรรจุข้าวสาร อาหารแห้ง และเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น จำนวน 1,000 ชุด ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดนราธิวาส

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) มอบเงินบริจาคผ่านพันตำรวจโทวรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566