คลัง-ธปท.จัดระเบียบ กำกับแบงก์-อีมันนี่ รับลูกพ.ร.บ.ชำระเงิน

ปัจจุบันรูปแบบการชำระเงิน มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตค่อนข้างมาก ดังนั้นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลจึงจำเป็นต้องปรับปรุงกฎ ระเบียบ ให้มีความทันสมัย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา หรือช่องว่าง ช่องโหว่ ในการบังคับใช้ที่มีการพัฒนาขึ้น

โดยหลังจากพระราชบัญญัติระบบชำระเงิน พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ เมื่อปีก่อน ล่าสุด เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง รวม 16 ฉบับ เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา แบ่งออกเป็น ประกาศกระทรวงการคลัง 2 ฉบับ และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยอีก 14 ฉบับ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

ฝั่งแบงก์ชาติ โดย “สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา” ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แถลงแจกแจงถึงที่มาที่ไปว่า การออก พ.ร.บ.ชำระเงิน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา เพื่อบูรณาการระบบการชำระเงินให้มีประสิทธิภาพ และคุ้มครองผู้ใช้บริการมากขึ้น ทั้งในแง่ความปลอดภัย รวมไปถึงการโอนเงินที่จะได้รับสะดวกมากขึ้น ทั้งหมดนี้สุดท้ายก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

โดย พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเป็นการบูรณาการกฎหมายเดิมที่เกี่ยวกับการชำระเงิน ที่มีถึง 3 ฉบับ คือ ประกาศกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่ออกภายใต้ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์อีก 2 ฉบับ มารวมใน พ.ร.บ.ฉบับเดียวกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดความยุ่งยากในการประกอบธุรกิจ จากเดิมที่ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายถึง 3 ฉบับ

“พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังยกระดับกรอบการกำกับดูแลระบบและการให้บริการชำระเงินที่เข้มงวดขึ้นด้วย เช่น การกำหนดให้ฐานะการเงินของผู้ให้บริการต้องมีความแข็งแกร่ง มีธรรมาภิบาล มีแผนบริหารความเสี่ยงที่ดี เป็นต้น และที่สำคัญ คือ การคุ้มครองผู้ใช้บริการที่มีมากขึ้น เช่น ผู้ให้บริการอีมันนี่ จะต้องแยกเงินของลูกค้าที่เติมเข้าไปในกระเป๋าเงิน (วอลเลต) ออกมาอีก 1 กระเป๋า เพราะหากศาลยึดทรัพย์ เงินจำนวนนี้จะได้ไม่ถูกยึดไปด้วย ส่วนผู้ประกอบการที่ให้บริการโอนเงินรายย่อยจะต้องสำรองเงินตามค่าใช้จ่ายล่วงหน้าไปถึง 6 เดือน เพราะหากบริษัทล้มจะได้ไม่กระทบผู้ใช้บริการ” นางสาวสิริธิดากล่าว

ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน ยังกำหนดกลุ่มของผู้ให้บริการไว้อย่างชัดเจนขึ้นด้วย เพื่อให้การกำกับเกิดความชัดเจน อย่างเช่น “กลุ่มที่ต้องขออนุญาต” ได้แก่ ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม ผู้ให้บริการอีมันนี่ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการโอนเงิน และธุรกิจที่ทำระบบชำระเงิน กับ “กลุ่มที่ต้องขึ้นทะเบียน” ได้แก่ ผู้ให้บริการหน้าใหม่ หรือผู้ที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ

สำหรับปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจทั้ง 2 กลุ่มนี้มีอยู่ราว 100 ราย ซึ่งหากจะทำธุรกิจต่อไปจะต้องมาแจ้งกับ ธปท. ภายใน 120 วัน นับจาก พ.ร.บ.บังคับใช้ ซึ่งจะสิ้นสุดการแจ้งในวันที่ 14 ส.ค. 2561 นี้

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน ยังมีการแก้ไขเรื่องทุนจดทะเบียนของผู้ให้บริการการชำระเงิน โดยกำหนดทุนจดทะเบียนของธุรกิจอีมันนี่ที่ 100 ล้านบาท ลดจากเดิมที่กำหนดไว้ 200 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อเปิดทางให้มีผู้ประกอบธุรกิจหน้าใหม่เข้ามาได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การแข่งขันและส่งผลดีต่อผู้บริโภคที่มีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดบทลงโทษผู้ให้บริการที่กระทำความผิดไว้ด้วย เช่น การนำข้อมูลลูกค้าไปเปิดเผย การคิดค่าธรรมเนียมเกินจริงไม่ตรงกับที่ประกาศไว้ หรือมีข้อร้องเรียนต่าง ๆ จะถูกปรับสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท เป็นต้น

“สิริธิดา” เชื่อว่า ภายใต้กฎหมายใหม่นี้ ระบบการชำระเงินจะถูกยกระดับให้ดีขึ้น โดยการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบออนไลน์จะไม่สะดุด และจะส่งผลต่อการเติบโตขึ้นต่อเนื่องของการชำระเงินผ่านช่องทางเหล่านี้ จากปัจจุบันที่มีการเติบโตขึ้นทุกปี อย่าง ณ สิ้นปี 2560 พบว่า มีการโอนเงิน ชำระเงินผ่านทุกช่องทางอยู่ที่ 300 ล้านล้านบาท เติบโตราว 3-4% จากสิ้นปี 2559 โดยเฉพาะจำนวนธุรกรรมเติบโตถึงราว 30% ที่ราว 4,000 ล้านรายการ

“พ.ร.บ.นี้เอื้อต่อการทำธุรกิจ และการทำธุรกรรม ทำให้คล่องตัว ทั้งผู้ใช้งานที่สะดวกขึ้น จะทำให้การโอนเงินต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต อย่างเช่น พร้อมเพย์ ที่ทำนิวไฮขึ้นทุก ๆ เดือน และอนาคตจะเห็นปริมาณการใช้เงินสดลดลงต่อเนื่อง ขณะที่เงินที่โอนทางอิเล็กทรอนิกส์ก็จะมีวงเงินต่อรายการลดลง เหลือแค่ 3-4 พันบาทต่อรายการ จาก 5-6 พันบาท แปลว่าคนเข้าถึงมากขึ้น ซึ่งล่าสุดการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์มียอดสะสม 7 แสนล้านบาท และมีลงทะเบียนพร้อมเพย์แล้ว 40 ล้านบัญชี” นางสาวสิริธิดากล่าว

เรียกได้ว่า พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน จะเป็นเสมือนเข็มทิศที่ชี้ทางไปสู่สังคมไร้เงินสดนั่นเอง