
ธ.ก.ส. โชว์ยอดเกษตรกรรายย่อย เข้าโครงการพักหนี้แล้ว 7 แสนราย ตกค้างเกือบ 1 ล้านราย ยันเร่งดำเนินการให้จบภายใน 3 เดือน คาดสิ้นปีบัญชี 2567 NPL เหลือไม่เกิน 5%
วันที่ 29 ธันวาคม 2567 นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อย เป็นเวลา 3 ปี ว่าตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2566 จนถึงปัจจุบัน ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการพักหนี้ให้เกษตรกรไปแล้ว 7 แสนกว่าราย โดยขณะนี้ยังเหลือเกษตรกรอีกราว 9.99 แสนราย ที่จะต้องเร่งดำเนินการลงนามท้ายสัญญา เพื่อให้การจัดทำนิติกรรมสมบูรณ์ภายใน 3 เดือน
“ธ.ก.ส. กำลังเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้ลูกค้าอีก 9.99 แสนรายได้รับสิทธิทั้งหมด เพราะว่าลูกค้ากลุ่มนี้ได้แสดงความประสงค์ที่จะเข้าร่วมโครงการแล้วและมีคุณสมบัติครบถ้วน แต่ยังติดในเรื่องนิติกรรมสัญญา เช่น บางกรณีเปลี่ยนผู้ค้ำประกัน หรือบางกรณีผู้ค้ำประกันเสียชีวิตไปแล้ว บางกรณีสัญญาประธานขาดอายุไปแล้ว ก็ต้องไปไล่ดำเนินการทีละส่วน ซึ่งตรงนี้ถือเป็นการคลีนซิ่งข้อมูลครั้งใหญ่ของ ธ.ก.ส. ไปด้วย” นายฉัตรชัย กล่าว
นายฉัตรชัยกล่าวว่า ในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) นั้น ปัจจุบันอยู่ที่ราว 5.38% ของสินเชื่อรวม ซึ่งตามแผนยุทธศาสตร์ภายในของธนาคารวางเป้าหมายไว้ว่า ภายในสิ้นปีบัญชี 2567 หนี้เสียจะอยู่ต่ำกว่า 5% ซึ่งตอนนี้ใกล้เคียงเป้าหมายแล้ว และจากนี้ไปจะเป็นการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ ที่ในปีบัญชีถัดไปจะบริหารจัดการหนี้เสียให้อยู่ในระดับไม่เกิน 4%
ซึ่งภายใต้เป้าหมายดังกล่าว หัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่การมุ่งลดให้หนี้เสียต่ำลงไปเรื่อย ๆ แต่เป็นการบริหารจัดการให้หนี้เสียไม่ผันผวนเกิน 4% ซึ่งถือเป็นระดับที่ธนาคารมีความแข็งแกร่งในการบริหารจัดการไม่ให้เกิดการผันผวนของหนี้เสียที่พร้อมจะปรับขึ้นได้ตลอด จากผลกระทบในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกร
สำหรับกลุ่มหนี้เสียนั้น ปัจจุบันมาตรการช่วยเหลือของ ธ.ก.ส. ยังมีอยู่ ดังนั้นลูกค้าในกลุ่มนี้ก็สามารถเข้าโครงการช่วยเหลือของธนาคารได้เลย ซึ่งมีลูกหนี้ที่เข้าข่ายคิดเป็นวงเงินประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นพบว่าลูกหนี้กลุ่มนี้ได้เข้าโครงการไปแล้ว 90% กว่า ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มตกค้างที่ตอนนี้ต้องถือเป็นการดูใจแล้วว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป