
หลังจากสมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประกาศรับลูกนายกรัฐมนตรี ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) 0.25% สำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคล และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นเวลา 6 เดือน
ล่าสุด หลายแบงก์ออกมาประกาศมาตรการของตัวเองกันอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ธนาคารกรุงเทพ ที่เด้งรับฉับไว ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. 2567 เป็นระยะเวลา 6 เดือน
ขณะที่ ธนาคารกรุงไทย ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบยกแผง ทั้ง MRR, MLR และ MOR 0.25% ต่อปี เป็นเวลา 6 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.-15 พ.ย. 2567 ให้กับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ลูกค้าสินเชื่อบุคคลรายย่อยที่ยังอยู่ในมาตรการความช่วยเหลือของธนาคาร ทั้งสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อส่วนบุคคล
2.ลูกค้าสินเชื่อบ้านที่มีวงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท และ 3.ลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยที่มีรายได้กิจการต่อเดือนไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท
โดย ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่าสามารถช่วยลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้าได้มากกว่า 3 แสนบัญชี คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวมมากกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งธนาคารจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้อัตโนมัติสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบางทั้ง 3 กลุ่มที่มียอดสินเชื่อกับธนาคาร ณ 31 มี.ค. 2567 โดยลูกค้าไม่ต้องลงทะเบียน หรือติดต่อธนาคารแต่อย่างใด
ตามด้วย ธนาคารกสิกรไทย ประกาศปรับลดดอกเบี้ยช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง 0.25% สำหรับเงินกู้ (Loan) ที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เป็นระยะเวลา 6 เดือน ทั้งลูกค้าบุคคลและ SMEs ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด จำนวนประมาณ 200,000 ราย วงเงินสินเชื่อรวมประมาณ 82,000 ล้านบาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2567
ทั้งนี้ ลูกค้ากลุ่มเปราะบางของธนาคารกสิกรไทยจะได้รับความช่วยเหลือมี 2 กลุ่ม โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
1.ลูกค้าบุคคลที่ใช้ผลิตภัณฑ์ “สินเชื่อบ้าน” หรือ “สินเชื่อบ้านช่วยได้” ที่มีวงเงินอนุมัติรวมไม่เกิน 2,000,000 บาท ณ วันที่ 31 มี.ค. 2567 และมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน
2.ลูกค้า SMEs ที่มียอดค้างชำระเงินกู้ และวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนกับธนาคาร รวมกันแล้วไม่เกิน 2,000,000 บาท ณ วันที่ 31 มี.ค. 2567 และมียอดขายไม่เกิน 200,000 บาทต่อเดือน
โดยลูกค้ากลุ่มเปราะบางทั้ง 2 กลุ่มที่จะได้รับความช่วยเหลือ ต้องมีสถานะหนี้เป็นปกติ และยังไม่ได้รับการช่วยเหลือตามมาตรการอื่น ๆ ของธนาคาร
ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สำหรับเงินกู้ (Loan) ที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยลอยตัว MRR และ MLR เพื่อช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคล และผู้ประกอบการ SME รายย่อย เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม – 15 พฤศจิกายน 2567
สำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ได้แก่
- ลูกค้าบุคคล สินเชื่อบ้าน และ My Home My Cash ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 2 ล้านบาท
- ลูกค้าผู้ประกอบการ SME รายย่อย สินเชื่อธุรกิจ ประเภทเงินกู้ระยะยาว (Term Loan) ที่มีวงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 2 ล้านบาท (โดยพิจารณาจากยอดค้างชำระเงินกู้ระยะยาว และวงเงินสินเชื่อหมุนเวียน)
ทั้งนี้ ลูกค้าต้องมียอดสินเชื่อเงินกู้กับธนาคารไทยพาณิชย์ ณ 31 มีนาคม 2567 และเป็นบัญชีสถานะ ปกติ (ไม่มีการค้างชำระ) โดยจะได้รับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย สำหรับสินเชื่อเงินกู้ระยะยาว เป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจากมาตรการดังกล่าว ธนาคารสามารถช่วยลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้าได้มากกว่า 240,000 บัญชี คิดเป็นยอดสินเชื่อรวมประมาณ 110,000 ล้านบาท ธนาคารจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลูกค้ากลุ่มเปราะบางทั้ง 2 กลุ่มอัตโนมัติ โดยลูกค้าไม่ต้องลงทะเบียน หรือติดต่อธนาคารแต่อย่างใด
ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปี สำหรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย MRR, MLR และ MOR โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2567 – 15 พ.ย. 2567 เป็นระยะเวลา 6 เดือน
โดยลูกค้ากลุ่มเปราะบางที่จะได้รับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้แก่ 1. ลูกค้าสินเชื่อบ้าน ที่มีรายได้รวมเฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 30,000 บาท และมีวงเงินอนุมัติไม่เกิน 2 ล้านบาท
และ 2. ลูกค้าสินเชื่อเอสเอ็มอี ที่มีรายได้ในปี พ.ศ. 2565 ไม่เกิน 30 ล้านบาท และมีวงเงินอนุมัติไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว จะไม่ครอบคลุมลูกค้าสินเชื่อบ้านและสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ได้เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือเฉพาะรายกับธนาคารมาก่อนหน้า
ส่วนแบงก์รัฐก็มีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate 0.25% ต่อปี เหลือ 6.35% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ EXIM BANK ใช้สำหรับลูกค้าทั่วไปและลูกค้า SMEs เทียบเท่าอัตราดอกเบี้ย MRR ของธนาคารพาณิชย์) มีผลตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. 2567 เป็นต้นไป
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR 0.25% ต่อปี เหลือ 6.545% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้ากว่า 1.8 ล้านบัญชี รวมถึงลูกค้ากลุ่มผู้มีรายได้น้อย และลูกค้ากลุ่มเปราะบาง
ธนาคารออมสิน ปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% ต่อปี เหลือ 6.595% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2567 โดยดอกเบี้ยลดอัตโนมัติ ลูกค้าไม่ต้องติดต่อธนาคาร
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR 0.25% ต่อปี เหลือ 7.80% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป เพื่อช่วยลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ลง 0.25% เป็นระยะเวลา 6 เดือน ให้กับเกษตรกรลูกค้ากลุ่มเปราะบาง และ SMEs ที่ประสบปัญหาในการผลิต จนทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง รวมถึงลูกหนี้ NPLs ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยมีลูกค้าที่จะได้รับประโยชน์กว่า 1.2 ล้านบัญชี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-31 ต.ค. 2567
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ปรับลดอัตรากำไรสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (SPRR) จากปัจจุบัน 8.50% ต่อปี เป็น 8.25% ต่อปี เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2567 ระยะเวลา 6 เดือน
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime rate ลง 0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป