ธ.ก.ส. ประชุม 15 พ.ค.นี้ เคาะแผนพักหนี้เกษตรกรเฟส 2 พร้อมชง ครม.เร็วที่สุด

ธ.ก.ส. นัดประชุมคณะทำงานพักหนี้เกษตรกรที่กระทรวงการคลัง 15 พ.ค. 67 เพื่อหารือช่วยขยายกลุ่มเป้าหมายเฟส 2 เล็งขยายเกษตรกรที่มีหนี้สินคงค้างระดับ 400,000-500,000 บาท ตอนนี้กำลังรวบรวมจำนวนเกษตรกรที่จะเข้าไปช่วยได้ หลังเฟสแรกมีเกษตรกรแสดงความประสงค์เข้าโครงการพักหนี้แล้ว 1.8 ล้านครัวเรือน วงเงินประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ประมาณ 80% ของกลุ่มเป้าหมาย กางแผนธุรกิจระดมเงินใหม่ 3.2 แสนล้านบาท ลดหนี้ NPL เหลือ 3.69%

วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการธนาคาร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า แผนโครงการพักหนี้เกษตรกรนั้น ในเฟสแรกกำหนดเงื่อนไขที่มีหนี้สินคงค้างไม่เกินระดับ 300,000 บาท จาก 2.1 ล้านครัวเรือน วงเงิน 2.8 แสนล้านบาท มีเกษตรกรแสดงความประสงค์มาแล้ว 1.8 ล้านครัวเรือน วงเงินประมาณ 2.5 แสนล้านบาท

แต่ทั้งนี้เกษตรกรที่เข้าโครงการพักหนี้แบบสมบูรณ์คือทำข้อตกลงขยายเวลา มีอยู่ประมาณ 1.4 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 80% ของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่า ธ.ก.ส. ช่วยได้สำเร็จแล้ว

และมีการหารือในการที่รัฐบาลจะสามารถช่วยเหลือพักหนี้ได้ในวงเงินที่เกิน 300,000 บาท หรือที่มีหนี้สินคงค้างระดับ 400,000 บาท หรือไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งตอนนี้กำลังรวบรวมจำนวนเกษตรกรว่ามีเท่าไรที่จะเข้าไปช่วยได้ เบื้องต้นมีหลายโซลูชั่นที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคาร ธ.ก.ส. ดำริให้ไปพิจารณาว่า ถ้าระดับ 4-5 แสนบาท มีจำนวนรายเท่าไร เป็นเงินเท่าไร และรัฐบาลต้องชดเชยกี่บาท ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจ

โดยวันที่ 15 พ.ค. 2567 จะมีการประชุมคณะทำงานพักหนี้เกษตรกรที่กระทรวงการคลัง เพื่อหารือช่วยขยายกลุ่มเป้าหมายพักหนี้เฟส 2 และจะเคาะวงเงินและกลุ่มเป้าหมายเกษตรกร และคาดว่าจะเสนอ ครม. โดยเร็วที่สุด

“ภารกิจของการช่วยนโยบายรัฐบาล ก็เป็นภารกิจที่ ธ.ก.ส. ดูแลมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2509 จนถึงปีปัจจุบัน หรือประมาณ 58 ปีแล้ว แต่ละปีก็อยู่ที่ว่าจะเป็นภารกิจลักษณะใด ทำให้สภาพคล่องที่ใช้ในการดูแลนโยบายภาครัฐจะแตกต่างกันไปในแต่ละปี โดยขึ้นอยู่กับการใช้เงินในปีนั้น ๆ” รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าว

ADVERTISMENT

ส่วนแผนธุรกิจในปีบัญชี 2567/2568 (ระหว่างเดือน เม.ย. 2567-มี.ค. 2568) ตั้งเป้าวงเงินปล่อยสินเชื่อใหม่ 90,000 ล้านบาท เติบโต 5.13% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) และระดมเงินฝากใหม่ 120,000 ล้านบาท เติบโต 7%

นอกจากนี้ยังจะมีสลากมั่งมีทวีโชค กับ สลากเกษียณมั่งคั่ง ที่จะครบกำหนดอีกประมาณ 2 แสนล้านบาท ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ ดังนั้น ธ.ก.ส. จะต้องระดมเงินใหม่ปีนี้รวม 3.2 แสนล้านบาท

ADVERTISMENT

และตั้งเป้าลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ลงมาเหลือ สัดส่วน 3.69% หลังปิดสิ้นปีบัญชี 2566/2567 ธ.ก.ส.มีหนี้เสียสัดส่วน 5.41% มูลหนี้ประมาณ 90,000 ล้านบาท