ปิดฉาก “กฤษฎา” 8 เดือน 8 วัน พ้นตำแหน่ง รมช.คลัง

กฤษฎา จีนะวิจารณะ
กฤษฎา จีนะวิจารณะ

หลังราชกิจจานุเบกษาประกาศโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ครม.เศรษฐา 1/1 และ 1/2 มีรัฐมนตรี “ลาออก” คราวละ 1 ราย จากโควตา 2 พรรค

ล่าสุด นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โควตาพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ยื่นหนังสือลาออกมีผลทันทีที่รับทราบการแบ่งงานจาก นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง

แม้ว่าหนังสือลาออกจากรัฐมนตรีของนายกฤษฎาจะถูกยับยั้งไว้ 72 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. แต่ในที่สุดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยืนยันขีดเส้นใต้ว่า “มีผล” ในสายวันที่ 10 พ.ค.

แต่ในทางกฎหมาย นายกฤษฎาถือว่าพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. ที่ได้แสดงความจำนงว่า “ลาออก” เป็นไปตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญ และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ระบุไว้ว่า เมื่อรัฐมนตรีคนใดไม่ประสงค์จะรับผิดชอบในหน้าที่ของตนหรือในนโยบายทั่วไปอีกต่อไป จึงต้องถือว่าเป็นสิทธิของรัฐมนตรีคนนั้นที่จะลาออกเมื่อใดก็ได้ และไม่อยู่ภายใต้การยับยั้งของผู้ใด

ดังนั้น ในกรณีที่มีการแสดงเจตนาลาออกด้วยวาจา การลาออกย่อมมีผลสมบูรณ์เมื่อนายกรัฐมนตรีได้รับทราบการแสดงเจตนานั้น ส่วนในกรณีที่การแสดงเจตนาลาออกกระทำเป็นลายลักษณ์อักษร การลาออกย่อมมีผลสมบูรณ์นับแต่วันที่ได้กำหนดไว้ในใบลาออก ซึ่งได้ยื่น ณ สถานที่และต่อบุคคลตามระเบียบปฏิบัติราชการ โดยไม่จำเป็นต้องยื่นต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง

เป็นการปิดฉากตำแหน่งอดีตปลัดกระทรวงที่เกษียณแล้วเข้าสู่ตำแหน่ง ภายใต้การสนับสนุนของพรรคการเมืองและเครือข่ายอำนาจ ด้วยเหตุแห่งอำนาจในกระทรวงที่ลดน้อยลง จากเคยเป็น รมช.ของนายเศรษฐา เขาได้กำกับงานใหญ่ในกรมสรรพสามิต ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) การยาสูบแห่งประเทศไทย และองค์การสุรา

ADVERTISMENT

แต่หลังการปรับ ครม.เป็นเศรษฐา 1/2 นายกฤษฎาได้บริหารเพียง การยาสูบแห่งประเทศไทย สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. เท่านั้น

การสร้างผลงานจาก 4 หน่วยงานนั้นไม่ง่าย แล้วยังต้องแก้โจทย์หินปัญหาใหญ่เกี่ยวข้องกับประชาชนราวเกือบล้านราย คือการสางหนี้กองทุนประกันวินาศภัยก้อนมโหฬารกว่า 5 หมื่นล้านบาท และปัญหา บมจ.สินมั่นคงประกันภัย ที่ยังไร้ทางออก

ADVERTISMENT

ส่วนงานใหญ่-งานหลักของกระทรวงทั้งหมดอยู่ในมือของ 3 รัฐมนตรีจากโควตาพรรคเพื่อไทยทั้ง 3 รายคือ นายพิชัย ชุณหวชิร, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์, นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล

ไม่เพียงได้อำนาจที่น้อยลง แต่นายกฤษฎายังถูกดันไปเผชิญหน้ากับข้าราชการระดับสูงในกระทรวง ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการ ภายใต้การกำกับงานในสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) การผลักดันงานจึงยากยิ่งกว่ายาก

ทั้งหมดจึงเป็นจุดหัก-จุดเปลี่ยน ให้นายกฤษฎาตัดสินใจลาออกแบบไม่หันหลังกลับกระทรวงการคลัง หลังดำรงตำแหน่งได้ 8 เดือน 8 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อ 1 กันยายน 2566