กองทุนรวม Thai ESG สิทธิทางภาษีที่เพิ่มขึ้น บนการลงทุนทางเลือกใหม่

TESG
บทความโดย "ภก.ธริญญ์รัฐ ปิยะศิริโสฬส" 
นักวางแผนการเงิน CFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

 

วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 ตามที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติหลักการมาตรการยกเว้นภาษี จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยตามข้อเสนอจาก สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งให้บุคคลธรรมดาที่ลงทุนในหน่วยลงทุน Thailand ESG Fund (Thai ESG) ได้รับการยกเว้นรายได้พึงประเมินไม่เกิน 30% ของเงินได้ และไม่เกิน 100,000 บาท

โดยไม่นับรวมกับกองทุนเพื่อการออมอื่น ๆ (กลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้าการเงินเพื่อการเกษียณ) และผู้ลงทุนต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 8 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อกองทุน และกำไรจากการซื้อขายกองทุนรวม Thai ESG ยังไม่ต้องนำไปคิดคำนวณภาษีเงินได้ ณ วันที่ขายคืนหน่วยลงทุนอีกด้วยทำให้เป็นดูเป็นทางเลือกที่น่าสนใจยิ่งขึ้นในการลงทุน แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักว่า Thai ESG คือ การลงทุนรูปแบบใด และน่าสนใจหรือไม่ผ่านบทความนี้

ปัจจุบันไม่สามารถปฎิเสธได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม สังคม มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้การลงทุนในรูปแบบการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainability Investment) ได้รับความสนใจมากขึ้นจากนักลงทุนบุคคล และสถาบันทั่วโลก

ซึ่งการลงทุนในรูปแบบดังกล่าวเกิดจากแนวคิดการพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืนผ่านการคำนึงถึงผลกระทบของการดำเนินธุรกิจต่อ สิ่งแวดล้อม (Environmental) , สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) (ESG) ซึ่งกลายเป็นเมกะเทรนด์ของโลกการลงทุนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

มีการประมาณการจาก PwC คาดว่าผู้จัดการกองทุนต่าง ๆ ทั่วโลกจะเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ESG จาก 18.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2021 เป็น 33.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2026 หรือเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 12.9% ต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตที่ค่อนข้างสูงทำให้การลงทุนในแนวทาง ESG นั้นเป็นที่น่าสนใจมากขึ้น

ADVERTISMENT

สำหรับประเทศไทยเองก็มีการพัฒนาแนวทางการลงทุนในธุรกิจที่สนับสนุนด้าน ESG มาอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2558 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้มีการจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืนขึ้น (Thailand Sustainability Investment : THSI) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น SET ESG Ratings โดยในปี 2566 มีบริษัทจดทะเบียนทั้งใน SET และ MAI ได้รับการประเมินเป็นหุ้นยั่งยืนทั้งสิ้น 193 บริษัท

นอกจากบริษัทจดทะเบียนที่มีการจัด ESG Rating แล้ว ยังมีตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน (ESG Bond) อีกด้วย ข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยได้แบ่ง ESG Bond ออกเป็น 4 ประเภทได้แก่

ADVERTISMENT
  • ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond)
  • ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond)
  • ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond)
  • ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond)

ซึ่งการออกเสนอขายตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนในไทยก็มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ทำให้นโยบายการลงทุน Thai ESG นั้นครอบคลุมทั้งการลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนใน SET หรือตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ที่ได้รับการจัดอันดับ SET ESG Ratings และตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน (ESG Bond) ทำให้ผู้เลือกลงทุนใน Thai ESG สามารถจัดสรรเงินลงทุนได้ตามความเสี่ยงที่ตนรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จึงถือเป็นเรื่องที่ดีต่อทุกฝ่ายเพราะนอกจากผู้ลงทุนจะได้ลงทุนตามเป้าหมายการเงินตนเองแล้ว ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติม เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ตลาดทุนไทย แล้วก็ยังช่วยให้โลกน่าอยู่มากขึ้นผ่านการลงทุนในกองทุนทางเลือกใหม่อย่าง “Thailand ESG Fund”