
ธนาคารกสิกรไทย เดินหน้าตั้งเป้าสู่ Net Zero ในปี 2573 ลุยปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนไปแล้วกว่า 7.3 หมื่นล้านบาท คาดปีนี้แตะ 1 แสนล้านบาท และภายในปี 2608 จะต้องมีพอร์ตสินเชื่อสีเขียว 100% ล่าสุดจัดงานสัมมนา “EARTH JUMP 2024 THE EDGE OF ACTION เจาะลึกครบทุกมิติ ก้าวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ”
วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยในงานสัมมนา “EARTH JUMP 2024 THE EDGE OF ACTION เจาะลึกครบทุกมิติ ก้าวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” ว่า ธนาคารกสิกรไทยให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเราเริ่มจากตัวเองด้วยการตั้งเป้าหมายในส่วนขององค์กรที่จะเป็น Net Zero ในปี 2573 และมีพอร์ตสินเชื่อเป็น Green 100% ในปี 2608 จากปัจจุบันธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนไปแล้วกว่า 73,000 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ 200,000 ล้านบาทในปี 2573 คาดว่าภายในสิ้นปี 2567 จะสามารถปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท
“ผู้ประกอบการมักจะมองว่า การลดโลกร้อนเป็นเรื่องที่สวนทางกับการทำธุรกิจ แต่จริง ๆ แล้ว หากสามารถทำได้อย่างเป็นระบบต่อเนื่องแล้วจะเป็นสิ่งที่ทำได้และเอื้อประโยชน์ต่อกันทั้งกับธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวม โดยธนาคารกสิกรไทยจะโฟกัสที่จะ Take Action คือทำให้เกิดขึ้นจริงไม่ใช่เพียงแค่แผนหรือฉาบฉวย รวมทั้งทำต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ เพราะว่าเรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ในระยะสั้น ต้องทำไปเรื่อย ๆ แล้วก็ทำไป เรียนรู้ไป เพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมและเป็นไปอย่างยั่งยืน”
ทั้งนี้ กสิกรไทยจัดงาน “EARTH JUMP 2024 : The Edge of Action” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เป็นสัญญาณที่ดีของธุรกิจไทยที่ตระหนักถึงผลกระทบต่อภาวะโลกเดือดซึ่งจะส่งผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจ โดยได้รับเกียรติจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษฉายภาพเป้าหมายและทิศทางของประเทศในเรื่องของพลังงานสะอาด พร้อมด้วยผู้นำองค์กรชั้นนำระดับโลกและไทยกว่า 40 ท่านร่วมกันให้ความรู้ เพื่อยกระดับธุรกิจและสังคมไทยสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
ผู้เข้าร่วมงานกว่า 2,000 คนได้รับความรู้ในทุกมิติ ทั้งโอกาส กฎเกณฑ์ มาตรการต่าง ๆ การสนับสนุนการเงินของธนาคาร รวมถึงการแชร์ประสบการณ์จากธุรกิจที่ปรับตัวแล้ว เพื่อพร้อมรับมือและปรับตัวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำไปด้วยกัน
งานนี้ได้รับเกียรติจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานฉายภาพเป้าหมายและทิศทางของประเทศในเรื่องของการแก้ปัญหาโลกร้อน จากการเดินทางไปพบนักลงทุน จะเห็นว่านักลงทุนที่จะลงทุนในต่างประเทศสิ่งที่สนใจคือสิทธิประโยชน์จากการลงทุน ความเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และพลังงานสะอาด เราจะเห็นว่าประเทศที่เจริญแล้วมีการใช้พลังงานสะอาดมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา ประเทศไทยก็ต้องการพลังงานสะอาด จึงต้องเริ่มคิดและลงมือทำ
ซึ่งการจะลดก๊าซคาร์บอนในไทยได้นั้น ต้องให้ความรู้ทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ และในส่วนของภาคการเงินก็มีความสำคัญต่อการปรับเปลี่ยน จึงต้องได้รับการสนับสนุนทั้งเงินกู้และตลาดทุน ซึ่งธนาคารกสิกรไทยได้ทำเรื่องนี้มานาน และมีการสนับสนุนเงินกู้ให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลก็จะมีการออก Sustainability-Linked Bond เพื่อผลักดันให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันดำเนินนโยบายที่สร้างความยั่งยืน
โดยในปัจจุบันบริษัทใหญ่ ๆ เข้าใจเรื่องนี้ดี แต่ความน่าเป็นห่วงอยู่ที่ Supply Chain ถ้าไม่สามารถดึงเข้ามาอยู่ในปรัชญาเดียวกันได้ การส่งออกก็จะยากส่งสินค้าไปขายต่างประเทศก็จะถูกปฏิเสธ ดังนั้น สินเชื่อสีเขียวจึงสำคัญที่จะต้องมีเงินทุนในการให้ธุรกิจปรับเปลี่ยน เพราะเราจะทิ้งใครไว้ข้างหลังไม่ได้
พร้อมกันนี้ยังมีวิทยากรระดับโลกและไทยอีกกว่า 40 ท่านมาร่วมให้ความรู้ เพื่อยกระดับธุรกิจและสังคมไทยสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยผู้ร่วมงานได้รับฟังเนื้อหาเข้มข้นผ่าน 2 เวทีคู่ขนาน ทั้งทิศทางและเป้าหมายของประเทศ กติกาด้านภาษีทั้งภายในและต่างประเทศ ตลอดจนกติกาด้านการเงินและการลงทุน รวมถึงการแชร์ประสบการณ์จากธุรกิจที่ปรับตัวแล้ว เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ลงมือปรับเปลี่ยนธุรกิจ และยังมีกิจกรรม Business Clinic ที่ธุรกิจสตาร์ตอัพและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสนใจลงทะเบียนกว่า 70 บริษัท เพื่อรับคำปรึกษาธุรกิจแบบเอ็กซ์คลูซีฟตัวต่อตัวกับผู้เชี่ยวชาญระดับแถวหน้า เพื่อให้ธุรกิจปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำได้จริง
โดยธุรกิจสตาร์ตอัพให้ความสนใจปรึกษาเรื่องกฎหมายกับ McKinsey & Company มากที่สุด ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ความสนใจปรึกษาในหัวข้อ Decarbonize Advisory by KBank, Solar Panel Installation by SCG และ Sustainable Packaging Solution by SCGP ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนว่าธุรกิจไทยบางส่วนมองเห็นโอกาสและพร้อมแล้วที่จะลงมือทำ โดยงานในวันนี้มีผู้สนใจร่วมงานตลอดทั้งวันกว่า 2,000 คน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่ธุรกิจไทยเริ่มมีการปรับตัวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำมากขึ้น ธนาคารกสิกรไทยหวังว่างานนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ธุรกิจไทยสามารถก้าวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เพื่อคว้าโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืนได้สำเร็จ
สำหรับงาน EARTH JUMP 2024 : The Edge of Action เป็นการจัดงานแบบ Carbon Neutral Event มีการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมในงานทั้งหมดเพื่อชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา และได้รับการสนับสนุนการออกแบบ ผลิตโครงสร้างนิทรรศการ และวัสดุตกแต่งการจัดงานทั้งหมดจากบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ซึ่งสามารถนำกลับไปใช้ได้อีก เพื่อให้การจัดงานในครั้งนี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุด