แกะรายละเอียด หวยเกษียณ หลังมติ ครม. เห็นชอบหลักการ รูปแบบเป็นอย่างไร มีเป้าหมายอย่างไร และใช้งบประมาณเท่าไร
ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติให้ความเห็นชอบหลักการตามแนวทางในการส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) หรือ หวยเกษียณ เพื่อรองรับการเกษียณผ่านโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ โดยการดำเนินหวยเกษียณ จะดำเนินการผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ ตั้งแต่การซื้อ การสะสมเงินค่าซื้อหวยเกษียณ จนถึงการจ่ายคืนเงินเมื่อเกษียณ
“ประชาชาติธุรกิจ” แกะรายละเอียดโครงการหวยเกษียณ ว่ามีรูปแบบเป็นอย่างไร ใช้งบประมาณเท่าไร
ที่มาที่ไป หวยเกษียณ ?
หวยเกษียณ หรือ แนวทางในการส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เกิดขึ้นจากการที่สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Completely Aged Society) และในปี 2576 คาดว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society)
ซึ่งแนวโน้มของผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นมีผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างมีนัยสำคัญและเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณในการดูแลด้านหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุด้วย
แม้ว่าปัจจุบันระบบบำนาญและระบบสนับสนุนการออมเพื่อสร้างหลักประกันรายได้สำหรับผู้สูงอายุจะครอบคลุมประชากรวัยทำงานทุกกลุ่มทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ แต่ความท้าทายหลักยังเป็นเรื่องของความไม่ยั่งยืนทางการเงินจากแนวโน้มภาวะเงินเฟ้อที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต และความไม่เพียงพอของรายได้ที่จะได้รับจากระบบการออมต่าง ๆ ในวัยสูงอายุ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ศึกษาแนวทางส่งเสริมการออมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเพิ่มแรงจูงใจให้กลุ่มแรงงานนอกระบบที่ยังไม่มีการออมให้เกิดความมั่นคงทางการเงินในวัยเกษียณ เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด โดยเฉพาะการดูแลประชาชนกลุ่มแรงงานนอกระบบ ไม่ให้อยู่ในภาวะยากจนในวัยชรา
เพื่อให้กลุ่มแรงงานนอกระบบมีการสะสมเงินออมได้อย่างเพียงพอและต่อเนื่องในระยะยาวเพื่อใช้จ่ายในวัยสูงอายุ โดยให้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาในโอกาสแรก
ขณะเดียวกัน พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 มีบทบัญญัติที่ยังไม่ครอบคลุมการส่งเสริมการออมสำหรับแรงงานนอกระบบทั้งหมด จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวเพื่อขยายให้ครอบคลุมผู้ประกันตนมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถเป็นกลไกการออมสำหรับแรงงานนอกระบบในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คณะกรรมการ กอช. ในการประชุมวาระพิเศษเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567 มีมติเห็นชอบแนวทางในการส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก กอช. เพื่อรองรับการเกษียณแก่ประชาชน รวมทั้งสอดคล้องกับสถานการณ์ผู้สูงอายุและโครงสร้างประชากรในประเทศโดยใช้วิธีดำเนินโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ
ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว กอช. จะมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายได้เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับหลักการโครงการสลากสะสมทรัพย์ฯ
ใครมีสิทธิซื้อ หวยเกษียณ ?
ผู้มีสิทธิซื้อหวยเกษียณ คือ สมาชิก กอช. ปัจจุบัน ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และแรงงานนอกระบบที่มีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
โดยในอนาคต หวยเกษียณ ระยะที่ 2 และ 3 จะเร่งพิจารณาให้เร็วที่สุด โดยมีแนวคิดให้ครอบคลุมไปถึงข้าราชการ แรงงานในระบบ และประกันสังคม ซึ่งในเฟสแรกจะครอบคลุมกลุ่มแรงงานนอกระบบก่อน เพราะคนกลุ่มนี้มีความจำเป็นสูงสุด มีรายได้ไม่แน่นอน และมีปัญหาด้านการออมสูงที่สุด
รูปแบบหวยเกษียณ เป็นอย่างไร ?
หวยเกษียณ กำหนดรูปแบบสลากเป็นสลากดิจิทัล (สลากขูดดิจิทัล) ราคาขายใบละ 50 บาท ออกสลากเริ่มต้นประมาณ 5 ล้านใบต่องวด (ต่อสัปดาห์) หรือ 260 ล้านใบต่อปี โดยผู้ซื้อลงทะเบียนการซื้อและซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ในลักษณะแอปพลิเคชั่นที่ผูกกับบัญชีธนาคาร
ทั้งนี้ จำกัดการซื้อสลากต่อคนได้สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน หรือคนละไม่เกิน 60 ใบต่องวด
ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบหวยเกษียณ มีดังนี้
- หวยเกษียณ 1 ใบ มี 9 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีตัวเลข 2 หลักกำกับไว้
- รูปแบบการถูกรางวัลอยู่ระหว่างพิจารณา เช่น ตัวเลขต้องตรงกันกับเลขที่ออกรางวัลจำนวน 3 คู่ หรือ 4 คู่ จึงจะถูกรางวัล
รางวัลหวยเกษียณ เป็นอย่างไร
เงินรางวัลของหวยเกษียณ กำหนดรูปแบบรางวัลต่องวด (1 สัปดาห์) ดังนี้
ประเภทรางวัล | จำนวน | จำนวนเงินรางวัล | รวมเงินรางวัล |
รางวัลที่ 1 | 5 รางวัล | 1,000,000 บาท | 5 ล้านบาท |
รางวัลที่ 2 | 10,000 รางวัล | 1,000 บาท | 10 ล้านบาท |
โดยการออกรางวัลจะดำเนินการโดย กอช. ร่วมกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และกรณีถูกรางวัลจะได้รับเมื่อประกาศผลตามวันเวลาที่คณะกรรมการ กอช. กำหนด
ขณะที่การรับเงินรางวัล กอช. จะจ่ายเงินรางวัลให้กับผู้ถูกรางวัลผ่านบัญชีพร้อมเพย์หมายเลขบัตรประชาชนไม่เกินวันถัดไป
เงินซื้อหวยเกษียณ ไปไหน ?
ข้อมูลระบุว่า รายได้จากการขายหวยเกษียณนั้น อยู่ที่ 250 ล้านบาทต่องวด หรือ 13,000 ล้านบาทต่อปี (ราคาขายใบละ 50 บาท จำหน่ายเริ่มต้นงวดละ 5 ล้านใบ หรือปีละ 260 ล้านใบ)
จำนวนเงินที่ซื้อหวยเกษียณจะถูกเก็บเป็นเงินสะสมเฉพาะบุคคล โดยจะได้รับเงินคืนทั้งหมดในรูปแบบเงินบำเหน็จเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ แต่รัฐบาลจะไม่สมทบเงินให้กับผู้ซื้อสลากและไม่รับประกันผลตอบแทนจากการซื้อสลาก
โดย กอช. ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียน (ด้านการรับเงินซื้อสลากและเก็บเป็นเงินสะสมให้กับสมาชิกเป็นรายบุคคล) รวมทั้งบริหารจัดการและดูแลข้อมูลสมาชิกประเภท ข.* เช่น การจ่ายเงินรางวัล การคืนเงินให้สมาชิกประเภท ข. และการจ่ายเงินให้กับผู้รับผลประโยชน์กรณีสมาชิกประเภท ข. เสียชีวิตก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์
คณะอนุกรรมการด้านการลงทุน (แต่งตั้งโดยคณะกรรมการ กอช.) ทำหน้าที่กำกับดูแลและบริหารเงินสะสมที่สมาชิกประเภท ข. ซื้อสลาก โดยจะบริหารเงินลงทุนภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยกฎกระทรวง รวมทั้งมุ่งเน้นการลดความผันผวนของมูลค่าเงินลงทุน ทั้งนี้ กอช. จะหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน (Operating fee) ตามมติคณะกรรมการ กอช.
เมื่อสมาชิกประเภท ข. อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ กอช. จะจ่ายเงินบำเหน็จผ่านพร้อมเพย์เลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือจ่ายเงินบำเหน็จให้กับผู้รับผลประโยชน์ผ่านพร้อมเพย์เลขบัตรประจำตัวประชาชน (กรณีสมาชิกประเภท ข. เสียชีวิต)
*สมาชิกประเภท ข. คือ บุคคลสัญชาติไทยซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 และ 3 (ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ) หรือเป็นบุคคลอื่นที่กำหนดโดยกฎกระทรวง โดยรัฐบาลไม่จ่ายเงินสมทบ
ซื้อหวยเกษียณ จะได้เงินออมเท่าไร ?
ตัวอย่าง การซื้อสลากทุกเดือน จำนวน 3,000 บาท หรือ 60 ใบต่อเดือน
ช่วงอายุ | จำนวนปีที่ซื้อสลาก | เงินบำเหน็จที่จ่ายคืนเมื่อครบอายุ 60 ปีบริบูรณ์ |
15-60 ปี | 45 ปี | 1.62 ล้านบาท |
20-60 ปี | 40 ปี | 1.44 ล้านบาท |
25-60 ปี | 35 ปี | 1.26 ล้านบาท |
30-60 ปี | 30 ปี | 1.08 ล้านบาท |
35-60 ปี | 25 ปี | 9 แสนบาท |
40-60 ปี | 20 ปี | 7.2 แสนบาท |
45-60 ปี | 15 ปี | 5.4 แสนบาท |
50-60 ปี | 10 ปี | 3.6 แสนบาท |
55-60 ปี | 5 ปี | 1.8 แสนบาท |
หวยเกษียณ ใช้งบประมาณเท่าไร ?
การดำเนินการหวยเกษียณ หรือ โครงการสลากสะสมทรัพย์ฯ ในปีแรกใช้งบประมาณ 830 ล้านบาท ประกอบด้วย
- เงินรางวัล จำนวน 780 ล้านบาทต่อปี
- การพัฒนาระบบเทคโนโลยี แอปพลิเคชั่น ระบบ Clearing และระบบงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 20 ล้านบาท
- โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบทะเบียนสมาชิก บุคลากร ระบบงานเพิ่มเติม จำนวน 30 ล้านบาท
ขณะที่ปีถัดไป จะขอรับการสนับสนุนเงินรางวัลจากรัฐบาล งวดละ 15 ล้านบาท รวม 780 ล้านบาทต่อปี (คิดเป็นร้อยละ 6 ของเงินซื้อสลากที่สะสมเข้ากองทุนประมาณปีละ 13,000 ล้านบาท) หรือในจำนวนที่มีความเหมาะสมกับปริมาณการออกสลาก และความต้องการของสมาชิกเป้าหมาย
เป้าหมายหวยเกษียณ คืออะไร ?
เป้าหมายของโครงการหวยเกษียณ นอกจากการสร้างหลักประกันเงินออมยามเกษียณ ให้แก่แรงงานนอกระบบ และผู้ประกอบอาชีพอิสระแล้ว
อีกเป้าหมายหนึ่ง คือ การมีจำนวนสมาชิกประเภท ข. (บุคคลสัญชาติไทยซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 และ 3 (ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพหรือเป็นบุคคลอื่นที่กำหนดโดยกฎกระทรวง โดยรัฐบาลไม่จ่ายเงินสมทบ)) ไม่น้อยกว่า 5 ล้านคน ภายในระยะเวลา 3 ปี (คาดว่าจะมีสมาชิกที่จะเข้าร่วมโครงการ 0.36-21 ล้านคนต่อปี)
ทั้งนี้ ข้อมูลสมาชิกกองทุน กอช. ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 ระบุว่า มีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 2,625,817 คน ส่วนใหญ่สมาชิกมีอายุ 31-50 ปี ถึง 41.91% หรือ 1,100,407 คน