ใครเป็นผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับแรกของประเทศไทย ?

คนไทยกว่า 61% ไม่มีประกันชีวิต

ใครเป็นผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับแรกของประเทศไทย ?

วันที่ 4 สิงหาคม 2567 รู้หรือไม่ ธุรกิจประกันชีวิต เริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศไทยราวสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีบริษัทต่างชาติเข้ามาดำเนินกิจการ และตั้งสำนักงานตัวแทนเสนอขายประกันชีวิตแบบตลอดชีพ โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เอกอัครมหาเสนาบดี เป็นผู้ถือกรมธรรม์ฉบับแรก

อาจเรียกได้ว่าการประกันชีวิตยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก แต่หลังจากที่ได้มีการก่อตั้งกองประกันภัย สังกัดกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ขึ้นในปี 2472 ธุรกิจประกันชีวิตก็เริ่มเป็นที่แพร่หลาย มีบริษัทประกันชีวิตต่างชาติ เข้ามาประกอบธุรกิจเป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อมาในช่วงปี 2485 อันเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีกลุ่มบุคคลคนไทยได้ก่อตั้งบริษัทประกันชีวิตที่เป็นของคนไทยขึ้นเป็นครั้งแรก

โดยธุรกิจประกันชีวิตต้องหยุดชะงักลงเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทประกันชีวิตต่างชาติได้พากันปิดกิจการและขนทรัพย์สินกลับสู่ภูมิลำเนาเดิม สร้างความเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยเหตุนี้คนไทยและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของไทยในสมัยนั้น จึงได้รวมตัวกันก่อตั้งบริษัทประกันชีวิตของไทยขึ้น เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2485 ภายใต้ชื่อ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด นับเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกของคนไทย ที่มุ่งสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับครอบครัวคนไทย

ปัจจุบันธุรกิจประกันชีวิต เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีความมั่นคงและมีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยในปี 2566 บริษัทประกันชีวิตทั้งระบบ มีเบี้ยรับรวมกว่า 633,203 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.62 เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) มีกำไรจากการรับประกันภัยรวม 53,399 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.19% YOY มีสินทรัพย์ลงทุนรวม 3.78 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.67% YOY

Advertisment

และภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค. – มิ.ย. 2567) มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม (Total Premium) อยู่ที่ 311,414 ล้านบาท เติบโต 3.80% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) มาจาก 1. เบี้ยรับรายใหม่ (New Business Premium) 88,391 ล้านบาท เติบโต 1.83%

ซึ่งเบี้ยรับรายใหม่แยกออกเป็นเบี้ยปีแรก (First Year Premium) 57,573 ล้านบาท เติบโต 1.98% และเบี้ยจ่ายครั้งเดียว (Single Premium) 30,818 ล้านบาท เติบโต 1.55%

Advertisment

และ 2. เบี้ยปีต่ออายุ (Renewal Premium) 223,023 ล้านบาท เติบโต 4.61% มีอัตราความคงอยู่ใกล้เคียงเดิมที่ 83% โดยถือว่าเบี้ยปีต่ออายุเติบโตได้ค่อนข้างดี สวนทางเบี้ยซิงเกิลพรีเมียมเติบโตไม่ได้หวือหวา

“โดยผู้นำ 10 อันดับแรกในธุรกิจประกันชีวิต มีมาร์เก็ตแชร์จากเบี้ยรับรายใหม่รวมกันเกือบ 90% และมีมาร์เก็ตแชร์จากเบี้ยรับรวมสูงถึง 92%”

ทั้งนี้ 5 บริษัทประกันชีวิต ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดในปัจจุบัน มีทั้งที่เป็นเจ้าของคนไทยและบริษัทข้ามชาติ ไล่เรียงตั้งแต่ AIA เบอร์ 1 เป็นกลุ่มทุนข้ามชาติ ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในฮ่องกง ก่อตั้งและดำเนินธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย โดย นายคอร์เนเลียส แวนเดอร์ สตารร์ เริ่มให้บริการประกันภัยครั้งแรกที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ตั้งแต่ปี 2462 และได้ขยายธุรกิจเข้ามาในประเทศไทย โดยรับประกันภัยทั้งประกันชีวิตและประกันวินาศภัย ตั้งแต่ปี 2481 หรือเป็นเวลา 86 ปีแล้ว

เบอร์ 2 คือ FWD เป็นกลุ่มบริษัทข้ามชาติ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในฮ่องกงเช่นกัน บริหารและควบคุมกิจการโดยกลุ่มธุรกิจแปซิฟิก เซ็นจูรี ของมหาเศรษฐีชาวฮ่องกง “ริชาร์ด ลี” โดยเอฟดับบลิวดีก่อตั้งขึ้นที่ทวีปเอเชียในปี 2556 โดยกลุ่มธุรกิจแปซิฟิก เซ็นจูรี ได้เข้าซื้อธุรกิจประกันจาก ไอเอนจี กรุ๊ป เอ็น.วี ในฮ่องกง มาเก๊า และไทย และเปลี่ยนแบรนด์เป็น FWD

โดย Swiss Re เข้าถือหุ้น 12.3% เมื่อเดือน ธ.ค. 2556 และปี 2557 เข้าทำธุรกิจในฟิลิปปินส์ และปี 2558 เปิดทำการในอินโดนีเซีย และในปี 2559 เริ่มธุรกิจในสิงคโปร์ โดยซื้อกิจการจาก Shenton Insurance และเข้าซื้อกิจการในเวียดนามจาก Great Eastern Life Vietnam และปี 2560 เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นโดยซื้อกิจการจาก AIG Fuji Life

ปี 2562 ทำการเข้าซื้อหุ้น 49% จาก HSBC Amanah Takaful ในมาเลเซีย และตกลงซื้อ MetLife ในฮ่องกง และดีลใหญ่เข้าซื้อกิจการ ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต และเข้าร่วมเป็นพันธมิตรแบงก์แอสชัวสรันส์ในไทย

เบอร์ 3 ไทยประกันชีวิต ภายใต้การบริหารและควบคุมโดย “ตระกูลไชยวรรณ” โดยนายวานิช ไชยวรรณ เป็นผู้นำเข้ามาปรับปรุงโครงสร้างและระบบบริหารงานครั้งใหญ่

เบอร์ 4 เมืองไทยประกันชีวิต ควบคุมโดย “ตระกูลล่ำซำ” โดยในปี 2494 นายจุลินทร์ ล่ำซำ ได้เปิดบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต โดยมีนายบัญชา ล่ำซำ ลูกชายคนโตของนายโชติ ล่ำซำ เข้ามาช่วยบริหารงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และหลังจากนั้นได้ลาออกเพื่อก้าวสู่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย

จนมาปี 2503 นายโพธิพงษ์ ล่ำซำ ลูกชายนายจุลินทร์ ล่ำซำ ทายาทรุ่นที่ 4 ได้เริ่มเข้ามาทำงานธุรกิจประกันและบริหารงานนานหลายทศวรรษ และต่อมา “ภูมิชาย ล่ำซำ” มีศักดิ์เป็นอาของนายสาระ ล่ำซำ เข้ามารับช่วงบริหารต่อจนเมื่อปี 2547 ได้ส่งไม้ต่อให้ “สาระ ล่ำซำ” ลูกชายคนเล็กของนายโพธิพงษ์ ขึ้นเป็นผู้บริหาร ซึ่งนายสาระ เป็นน้องชายแท้ ๆ ของมาดามแป้ง-นวลพรรณ ล่ำซำ

และเบอร์ 5 กรุงไทยแอกซ่าประกันชีวิต เป็นการร่วมทุนระหว่าง AXA กับธนาคารกรุงไทย ส่วนเบอร์ 6 อลิอันซ์อยุธยาประกันชีวิต เป็นการร่วมทุนระหว่าง Allianz และธนาคารกรุงศรีฯ

นอกจากนี้ในท็อป 10 ยังมี ไทยสมุทรประกันชีวิต ที่บริหารและควบคุมโดย “ตระกูลอัสสกุล” และกรุงเทพประกันชีวิต ของตระกูล “โสภณพนิช”